28 September 2006
เนื้อหาในสัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายของลักษณะผู้นำที่ดี ที่จะนำพาองค์กรผ่านพ้นจากปัญหาความขัดแย้งต่างๆ นะครับ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอถึงลักษณะของผู้นำบางประเภทที่ไม่เหมาะสมที่จะนำพาองค์กรสู่ภาวะของความขัดแย้งในปัจจุบัน ส่วนผู้นำที่มีความเหมาะสมนั้นเขาเรียกว่าเป็น Mediator Leaders ผมก็เลยขอใช้ศัพท์ฮิตปัจจุบันเรียกว่าเป็นผู้นำแบบสมานฉันท์ แทนนะครับ สัปดาห์นี้เรามาดูกันดีกว่าว่าผู้นำแบบสมานฉันท์นั้นควรจะมีคุณลักษณะที่สำคัญอย่างไรบ้าง ที่จะสามารถขับเคลื่อนและนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในทุกๆ ระดับ
คุณลักษณะที่สำคัญประการแรกคือ Integral Vision โดยผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการมองภาพในเชิงองค์รวมของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าพอผู้บริหารเผชิญความขัดแย้งขึ้น ก็ตัดสินใจที่จะเลือกยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ขัดแย้งใดๆ ผู้บริหารที่ดี จะต้องเริ่มต้นจากการไม่ทำอะไรก่อน นั้นคือแทนที่จะเลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือ รีบตัดสินใจ แต่ผู้นำจะต้องสามารถมองภาพรวมของสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้รอบด้านด้วยใจที่เป็นธรรมก่อน
คุณลักษณะประการที่สองคือ Systems Thinking หรือ การคิดเชิงระบบ นั้นคือ เริ่มจากการพิจารณาในทุกๆ ปัจจัยหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น จากนั้นจะต้องคิดในเชิงว่าทุกๆ ส่วนหรือองค์ประกอบของความขัดแย้งต่างอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน พยายามมองให้เห็นว่าส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้นล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
คุณลักษณะประการที่สามคือ Presence ซึ่งตอนแรกผมก็ยังนึกไม่ออกว่าหมายความว่าอย่างไร แต่พออ่านในรายละเอียดแล้ว ก็คือเรื่องของการมีสติอยู่ตลอดเวลา นั้นคือในระหว่างจัดการกับปัญหาความขัดแย้งคนที่เป็นผู้นำจะต้องมีสติ รู้สึกตัวตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการมีสติหรือหมดสตินะครับ แต่ท่านผู้อ่านลองนึกถึงในศาสนาพุทธก็ได้ครับ ที่สอนกันว่าให้มีสติ นั้นแหละครับความหมายเดียวกันครับ ท่านผู้อ่านสังเกตนะครับว่าหลายๆ ครั้งในท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือเราจะหมกมุ่น เครียด หวาดกลัว ป้องกันตัว ฯลฯ ซึ่งอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ความขาดสติทั้งสิ้น ผมเองสังเกตตัวเองหลายๆ ครั้งเหมือนกันนะครับเวลาสอนหนังสือหรือทำ Workshop เรื่องสติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เวลาต้องคอยคิด คอยแก้ไขปัญหาต่างๆ และสิ่งที่พบก็คือสติที่ดีมักจะมาคู่กับสมาธิด้วย หลายๆ ครั้งที่เริ่มว่อกแว่ก หรือ ขาดสติและสมาธิ ย่อมส่งผลต่อความสามารถของเราในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้นอาจจะพอกล่าวได้นะครับว่าก่อนที่ผู้นำคนไหนจะบริหารความขัดแย้งได้ดี คงจะต้องบริหารตนเองให้ได้ดีก่อนครับ โดยเฉพาะในเรื่องของสติและสมาธิ
คุณลักษณะประการที่สี่ คือ Inquiry หรือ การตั้งคำถามครับ ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการตั้งคำถามนั้นจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ สำหรับผู้บริหารในการเข้าถึงและทำความเข้าใจต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หลายๆ ครั้งที่ผู้บริหารเข้าไปบริหารหรือจัดการกับความขัดแย้งนั้น ผู้บริหารไม่ได้มีข้อมูลใดๆ เบื้องต้นมาก่อน ดังนั้นการที่จะเข้าไปและทำการตัดสินใจเลย จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ ผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจต่อสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งบริบทและภาวการณ์ต่างๆ ในขณะนั้น ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจก็คือการตั้งคำถาม โดยผลของการตั้งคำถามนั้น จะทำให้ผู้บริหารได้เกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้
ผมเองพบว่าความสามารถในการตั้งคำถาม เป็นความสามารถที่มีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ และผู้นำการประชุมต่างๆ ปัจจุบันเราจะเจอคนชอบแสดงความคิดเห็นหรือให้คำตอบกันเยอะ (ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง) แต่เรายังขาดคนตั้งคำถามเก่งๆ เพื่อที่จะได้ตะล่อมให้ได้คำตอบที่ตรงเป้า นอกจากนี้คุณสมบัติที่คู่กันกับการตั้งคำถาม คือจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยครับ เคยเจอหลายท่านชอบตั้งคำถาม แต่พอถามเสร็จก็ไม่ค่อยชอบฟังคำตอบ ซึ่งเราจะเปรียบพวกผู้บริหารที่ไม่ชอบฟัง เป็นพวกผู้บริหารที่หยุดการเรียนรู้แล้วครับ เนื่องจากการฟังผู้อื่นเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ดีเลยครับ
คุณลักษณะประการที่ห้าคือ Dialogue หรือการกระตุ้นให้เกิดการสนทนาครับ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สืบเนื่องจากการตั้งคำถาม เนื่องจากการสนทนาระหว่างกันเป็นกลไกที่สำคัญในการสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างแต่ละกลุ่มที่ขัดแย้ง แต่คำว่า Dialogue นั้นมีความแตกต่างจากการโต้เถียง (Debate) นะครับ การสนทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะครับ แต่ไม่ใช่การโต้แย้ง ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องสามารถกระตุ้นและก่อให้เกิดการสนทนาระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
คุณสมบัติทั้งห้าประการเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคุณสมบัติที่ผู้นำแบบสมานฉันท์ควรจะมีนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ไปหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือชื่อ Leading Through Conflict เขียนโดย Mark Gerzon ครับ