9 November 2005
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหมครับว่าทำไมองค์กรบางแห่งถึงประสบความสำเร็จมากกว่าองค์กรอื่น? คำถามนี้เป็นคำถามยอดนิยมที่บรรดานักวิชาการทางด้านการบริหารจัดการพยายามที่จะเสาะแสวงหาคำตอบกันมานาน โดยเฉพาะในช่วงหลังได้มีงานวิจัย บทความ และหนังสือ ที่พยายามใช้กระบวนการทางวิชาการเพื่อหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้องค์กรบางแห่งประสบความสำเร็จเหนือกว่าที่อื่น รวมทั้งพยายามหาคุณลักษณะขององค์กรเหล่านั้น เพื่อจะดูซิว่ามีคุณลักษณะร่วมบ้างไหม? จริงๆ แล้วความอยากรู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงธุรกิจนะครับ แม้กระทั่งทางด้านกีฬาก็เช่นกัน ท่านผู้อ่านที่ติดตามกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ เคยสงสัยบ้างไหมครับว่าทำไมนักกีฬา หรือ ทีมบางทีมถึงประสบความสำเร็จเหนือกว่านักกีฬาหรือทีมอื่น รวมทั้งประสบความสำเร็จติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานด้วย?
ในด้านการบริหารจัดการนั้น เป็นที่ยกย่องว่าผลงานของ Tom Peters และ Robert Waterman เมื่อยี่สิบห้าปีมาแล้วในหนังสือ ดั้นด้นสู่ความเป็นเลิศ หรือ In Search of Excellence ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่พยายามหาองค์กรชั้นเลิศหรือองค์กรชั้นนำขึ้นมา แล้วหาคุณลักษณะร่วมขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งงานของทั้งสองท่านถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่สามารถผสมผสานงานทางวิชาการกับภาคสนามเข้ากันได้อย่างลงตัวนะครับ และหลังจากนั้นก็เริ่มมีงานของนักวิชาการและที่ปรึกษาสำนักต่างๆ พยายามค้นหาองค์กรที่เป็นเลิศและคุณลักษณะร่วมขององค์กรเหล่านั้นด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เนื้อหาในสัปดาห์นี้เราจะมาพิจารณากันนะครับว่างานวิจัยต่างๆ เหล่านั้นให้ผลลัพธ์อะไรออกมาบ้าง และที่สำคัญคือเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด โดยเนื้อหาหลักนั้นผมนำมาจากบทความในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 นี้เอง เป็นบทความชื่อ Toward a Theory of High Performance เขียนโดย Julia Kirby ซึ่งผู้เขียนท่านนี้เขาได้ไปสำรวจบทความต่างๆ ที่ลงใน Harvard Business Review ตลอด 83 ปีที่ผ่านมา และวิเคราะห์ออกมาได้น่าสนใจ
โดย Julia Kirby นี้เขาได้ไปวิเคราะห์งานวิจัย บทความ และหนังสือจำนวนสิบชิ้นด้วยกัน โดยงานทั้งสิบชิ้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามในการแสวงหาปัจจัยหรือคุณลักษณะที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ซึ่งหลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่ผมเคยนำเสนอในบทความนี้แล้ว โดยทั้งสิบเรื่องประกอบไปด้วย (ในวงเล็บคือปีที่พิมพ์) In Search of Excellence (1982), Corporate Culture and Performance (1992), Built to Last (1994), Corporate Excellence (1998), Peak Performance (2000), Creative Destruction (2001), Managing the Unexpected (2001), Profit from the Core (2001), What Really Works (2003) และสุดท้ายเป็นเอกสารของบริษัทที่ปรึกษา Accenture
ประเด็นที่น่าสนใจคืองานวิจัยแต่ละชิ้นเขามีการกำหนดหรือระบุองค์กรที่เป็นเลิศได้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะทำการศึกษาในลักษณะเดียวกันในเมืองไทย ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรธุรกิจใดในเมืองไทยที่เรียกได้ว่ามีความเป็นเลิศบ้าง? อะไรคือเกณฑ์ที่ผมจะใช้? และเกณฑ์ดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด? จากงานวิจัยทั้งสิบชิ้นจะพบว่าแต่ละชิ้นก็จะใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้องค์กรที่เป็นเลิศของงานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน เช่น งานบางชิ้นจะพิจารณาจากอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ผลตอบแทนจากเงินลงทุน และราคาหุ้น ในขณะที่อีกชิ้นจะเพิ่มอัตราการเติบโตของรายได้ และกำไร ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับและต้นทุนของเงินทุน เป็นต้น นอกจากนี้งานบางชิ้นเช่น In Search of Excellence ซึ่งมีชื่อเสียงมาก่อนเพื่อนกลับไม่ได้ใช้ข้อมูลหรือเกณฑ์ปริมาณเท่าใด Tom Peters ยอมรับเลยว่าการเลือกบริษัทที่เป็นเลิศนั้นเกิดขึ้นจากการสอบถามเพื่อนในบริษัท McKinsey รวมทั้งบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการทั้งหลายว่าองค์กรไหนในอเมริกาในขณะนั้นที่เด็ดๆ หรือ เจ๋งๆ บ้าง และได้มาทั้งหมด 62 บริษัท หลังจากนั้นก็จะใช้เกณฑ์ทางด้านการเงินมาตัดจาก 62 ให้เหลือเพียงแค่ 43 ซึ่ง Peters เองก็มีความเห็นว่าการใช้เกณฑ์ทางการเงินอย่างเดียวไม่พอ เพราะบริษัทชั้นนำอย่าง GE ตอนแรกอยู่ใน 62 บริษัทแรก พอใช้เกณฑ์การเงินจับกลับไม่อยู่ใน 43 บริษัทที่เหลือ
พอมาถึงงานที่ถือเป็นอมตะอีกชิ้นอย่าง Built to Last ของ Jerry Porras และ Jim Collins ทั้งคู่ให้บริษัทที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรมเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยมีสมมติฐานว่าในขณะที่ซีอีโอของแต่ละบริษัทเลือกบริษัทที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมของตนนั้น ซีอีโอท่านนั้นย่อมจะต้องนึกถึงผลประกอบการทางด้านการเงินควบคู่กันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ความโดดเด่นของ Built to Last คือไม่ได้มองแค่บริษัทที่โดดเด่นอย่างเดียว แต่ยังมีการคัดเลือกบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อาจจะมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน หรือเคยอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน แต่ในปัจจุบันไม่โดดเด่นเท่าบริษัทแรก เพื่อมาเป็นคู่เปรียบเทียบสำหรับบริษัทที่เป็นเลิศ เพื่อพยายามหาคุณลักษณะที่เหมือนๆ กันของบรรดาองค์กรที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพวกอันดับรองๆ ลงไป ซึ่งการเลือกคู่เปรียบเทียบในลักษณะนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาการที่บริษัทเป็นเลิศเนื่องจากอยู่ในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นไปได้
สัปดาห์นี้คงจะต้องจบแค่นี้ก่อนนะครับ แต่ยังมีเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับการศึกษาพวกองค์กรที่เป็นเลิศอีกเยอะ ขอยกไปเล่าต่อในสัปดาห์หน้านะครับ ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ช่วงระหว่างวันที่ 23 – 27 พ.ย. นี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเราจะจัดงานใหญ่ คือจุฬาฯ วิชาการ 48 โดยเป็นงานที่มุ่งเน้นการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการในศาสตร์สาขาต่างๆ ของคณาจารย์และนิสิตจุฬา โดยหัวข้อหลักของการจัดงานในปีนี้จะเป็นเรื่อง “สานความรู้ สู่แผ่นดิน” โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ในสี่สาขาหลักได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อนำเสนอความรู้ทางด้านวิชากาต่างๆ สู่สังคม โดยในงานจุฬาฯ วิชาการนั้นจะมีการนำเสนอทั้งผลงานวิจัย (เช่น จักรยานอัจฉริยะพูดได้ หรือ เสื้อนาโน) สิ่งประดิษฐ์ และความรู้ทางวิชาการต่างๆ ผ่านการสัมมนา อภิปราย หรือการแสดงนิทรรศการ ท่านผู้อ่านที่สนใจเชิญแวะมาที่จุฬาฯ ในช่วงนั้นได้นะครับ หรือจะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บของจุฬา www.chula.ac.th ได้นะครับ แล้วคงจะได้เจอกันในงานนะครับ