21 September 2005
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่จะขอนำเสนอเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือชื่อ Making Stratgy Work เขียนโดย Lawrence G. Hrebiniak นะครับ โดยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอในส่วนของปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ไม่สามารถถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ มาในสัปดาห์นี้เรามาดูกันว่าแล้วผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขาได้เสนอแนะแนวทางหรือกรอบแนวคิดอย่างไรในการเอาชนะปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นกันนะครับ
สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอเป็นกรอบแนวทางในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติครับ เนื่องจากเขามองว่าอุปสรรคสำคัญของการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติคือการขาดกรอบและหลักการที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน ก็ในเมื่อเรามีกรอบหรือเครื่องมือในการวิเคราะห์กลยุทธ์ (บรรดาเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์คู่แข่งขัน ลูกค้า อุตสาหกรรม จุดแข็ง จุดอ่อน) หรือกรอบในการกำหนดกลยุทธ์ (กลยุทธ์ระดับองค์กร หรือ กลยุทธ์ระดับธุรกิจ) แล้วทำไมเราถึงไม่มีกรอบหรือแนวทางที่เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนในการแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ?
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอกรอบในการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติที่ประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญด้วยกันทั้งหมดห้าประเด็นด้วยกัน ได้แก่ กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) โครงสร้างระดับองค์กร (Corporate Structure / Integration) กลยุทธ์ระดับธุรกิจและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานในระยะสั้น (Business Strategy and Short-term Operating Objectives) โครงสร้างระดับธุรกิจ (Business Structure Integration) และระบบในการจูงใจและควบคุม (Incentives and Control) นอกจากนี้กรอบการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้กรอบในการดำเนินงานอีกสี่ประการด้วยกันได้แก่ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) อำนาจและอิทธิพลในองค์กร (Power and Influence) และ ภาวะผู้นำ (Leadership)
ลองดูคร่าวๆ นะครับถึงที่มาของกรอบแนวคิดข้างต้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มองว่าการจะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เห็นผลได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากกลยุทธ์ที่มีความชัดเจนก่อนทั้งกลยุทธ์ในระดับองค์กรและระดับธุรกิจ โดยกลยุทธ์ระดับองค์กรนั้นก็จะครอบคลุมในเรื่องของการขยายตัว การบริหารธุรกิจในเครือ หรือ การจัดสรรทรัพยากรให้กับธุรกิจในเครือ ส่วนกลยุทธ์ระดับธุรกิจนั้นจะครอบคลุมในเรื่องของคู่แข่งขัน ลูกค้า อุตสาหกรรม และกลยุทธ์ที่จะใช้ในการแข่งขัน เมื่อกลยุทธ์ชัดเจนแล้ว โครงสร้าง (ทั้งในระดับองค์กรและระดับธุรกิจ) ก็จะต้องมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ รวมถึงความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งหน้าที่ภายในองค์กรหรือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และสุดท้ายก็จะต้องมีระบบในการควบคุมและจูงใจที่เหมาะสม
ตอนแรกเห็นผู้บริหารบางท่านตื่นเต้นกับหนังสือเล่มนี้ และอ่านในบทแรกๆ ก็คล้อยตาม แต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าพอได้ดูกรอบในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติของเขาแล้วกลับไม่พบในสิ่งใหม่ แถมผมเองยังรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับกรอบแนวคิดข้างต้นอีกด้วย สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นำเสนอ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใหม่ ที่ไม่สามารถหาอ่านได้จากหนังสือเล่มอื่นๆ แถมบางเล่มอาจจะหาอ่านได้ตั้งแต่ยี่สิบปีที่แล้ว เพียงแต่สาเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่พูดถึงมากและขายดีติดอันดับนั้น คงจะเป็นเพราะออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันกำลังตื่นตัวและสนใจกันเป็นอย่างมากในเรื่องของการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ นอกจากนี้สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอ นั้นคือกรอบแนวคิด (Model) ที่เป็นรูปธรรมก็อาจจะเป็นจุดขายที่สำคัญอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้
ผมขอลองยกทฤษฎีเก่าๆ ที่มีมานานและท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะคุ้นเคยอย่าง 7-S ของ McKinsey ดูก็ได้ครับ แนวคิดนี้ออกมาได้เกือบยี่สิบปีแล้ว และก็เป็นแนวคิดที่พูดถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งหลายๆ ท่านก็ใช้เป็นกรอบในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดย 7 – S นั้นประกอบไปด้วย Strategy หรือกลยุทธ์ที่จะต้องมีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม Structure หรือโครงสร้างที่จะต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ Systems หรือระบบในการบริหารงานต่างๆ ที่จะต้องพัฒนาเพื่อรองรับกลยุทธ์ Style หรือแนวทางในการบริหารหรือภาวะผู้นำของผู้บริหาร Staff หรือ บุคลากรทั้งในด้านความพร้อมและคุณภาพ Skill หรือ ทักษะ ความสามารถที่บุคลากรมีว่าควรจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ และ Shared Value หรือค่านิยมร่วมในองค์กร ซึ่งก็คือวัฒนธรรมในองค์กร นั้นเอง
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าแนวคิด 7-S เมื่อเกือบยี่สิบที่แล้ว กับแนวคิดของหนังสือ Making Strategy Work ที่เพิ่งออกมาในปีนี้ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใด แถมถ้าดูดีๆ แล้ว 7-S จะละเอียดและครอบคลุมกว่าด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในเรื่องของบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อต้านหรือไม่แนะนำให้นำเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ไปประยุกต์ใช้นะครับ ถ้ามองในแง่พื้นฐานแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ให้แนวคิดพื้นฐานที่ดีหลายๆ ประการ แต่ถ้ามองละเอียด หรือแนวทางในการนำไปปฏิบัติให้ครอบคลุมนั้น ผมยังอยากจะแนะนำให้หาข้อมูลหรือความรู้จากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยนะครับ ผมเองยังคิดว่าในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัตินั้นยากที่จะสร้างกรอบแนวคิดหรือโมเดลที่ครบถ้วนขึ้นมาได้ ปัจจุบันอาจจะมีเครื่องมือหลายๆ ประการที่ช่วยในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติอย่างเช่น Balanced Scorecard, Competencies, Change Management แต่เครื่องมือเหล่านี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียวเท่านั้นนะครับ ผมเชื่อว่ายังมีปัจจัยที่จับต้องไม่ได้อีกเยอะสำหรับการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ บุคลิกภาพของตัวผู้นำ วัฒนธรรมองค์กร หรือตัวผู้บริหารระดับล่างๆ และพนักงานเอง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นยากที่จะนำกรอบแนวคิดทางวิชาการไปจับและสร้างเป็น Model ขึ้นมาได้