9 February 2005

โดยปกติแล้วผมมักจะนำเนื้อหาทางด้านการจัดการใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาจากหนังสือหรือตำราทางด้านการจัดการต่างๆ แต่ในสัปดาห์นี้ขอสร้างความแปลกใหม่บ้างครับ โดยจะนำเนื้อหามาจากรายการโทรทัศน์แทน รายการนี้เป็นรายการ Reality TV ที่เรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดรายการหนึ่งของอเมริกา และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย ผมเองก็เป็นแฟนประจำของรายการนี้มาตลอด และคิดว่านอกเหนือจากความบันเทิงที่จะได้จากการชมแล้ว เรายังจะได้หลักการและแนวคิดทางด้านการจัดการที่น่าสนใจอีกด้วย รายการดังกล่าวชื่อ The Apprentice ครับ ปัจจุบันฉายทางยูบีซีซีรี่ทุกคืนวันศุกร์ช่วง 20.00 และ 23.00 น. (รู้สึกว่าจะมีวันเสาร์ด้วยแต่จำไม่ได้ว่ากี่โมง)

            ความน่าสนใจของรายการนี้อยู่ที่รูปแบบและผู้ดำเนินรายการครับ รายการนี้ก็เหมือนกับ Reality Show ทั่วๆ ไปที่นำคนมาแข่งขันกันและคัดออกให้เหลือเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ชนะเลิศ แต่ความแตกต่างของรายการนี้ก็คือสิ่งที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องแข่งกันก็จะเป็นในเรื่องของการทำธุรกิจมากกว่าการอยู่รอดในป่า หรือการติดเกาะ ดังนั้นในทุกสัปดาห์เราจะเห็นถึงกลยุทธ์และวิธีการต่างๆ ที่บรรดาผู้แข่งขันจะต้องงัดเอามาใช้ในการดำเนินการธุรกิจ เพื่อให้ตนเองชนะและอยู่รอดเพื่อที่จะแข่งขันได้ในสัปดาห์ต่อไป โดยสิ่งที่แข่งขันกันในแต่ละสัปดาห์ก็หลากหลายกันออกไปครับ ตั้งแต่การแข่งขันขายน้ำมะนาว (Lemonade) กลางถนนในใจกลางกรุงนิวยอร์ค หรือ การแข่งขันสร้างแคมเปญโฆษณาสำหรับเครื่องบินส่วนตัว หรือ การแข่งขันที่จะขายและกระจายน้ำดื่มบรรจุขวดออกไปให้ได้มากที่สุด หรือ แม้กระทั่งการแข่งขันที่จะประมูลของๆ ดาราเพื่อหาเงินช่วยการกุศล ฯลฯ

            เมื่อชมรายการนี้จะเห็นได้เลยว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละรายจะต้องใช้ทักษะ ไหวพริบ และความสามารถทางด้านธุรกิจที่หลากหลายมากครับ ตั้งแต่ภาวะผู้นำ (ในแต่ละสัปดาห์แต่ละทีมจะเลือกสมาชิกในทีมของตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำในงานของสัปดาห์นั้นๆ และถ้าพ่ายแพ้ให้กับอีกทีม ผู้นำก็มีสิทธิ์โดนไล่ออกได้) การตลาด การขาย การบริหารกลุ่มและทีมงาน การเจรจาต่อรอง ด้านการโฆษณา ฯลฯ และที่น่าสนใจก็คือผู้เข้าแข่งขันแต่ละราย (เริ่มจาก 18) มาจากพื้นฐานที่หลากหลายกันมากครับ ตั้งแต่จบเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ด หรือ พวกที่ไม่จบมหาวิทยาลัยแต่ประกอบธุรกิจส่วนตัวจนประสบความสำเร็จ หรือ พนักงานขายดีเด่น หรือ เจ้าของร้านอาหาร หรือ พนักงานขององค์กรขนาดใหญ่ หรือ ผู้ที่ทำงานด้านการเมือง

            ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการของรายการนี้คือผู้ดำเนินรายการครับ คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้จัก Donald Trump มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกา (เพิ่งแต่งงานใหม่ครั้งที่สามไปเมื่อไม่นานมานี้) Trump เองเป็นมหาเศษฐีที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากธรรมดาจนกระทั่งปัจจุบันถือเป็นราชาด้านอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งของอเมริกา Trump เองก็ออกหนังสือทางด้านการจัดการออกมาหลายเล่มและส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือขายดี ชาวอเมริกาหลายคนก็มอง Trump เป็นต้นแบบในการดำรงชีวิตเหมือนกันครับ ประเภทที่สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ ใช้ชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่า ควงนางแบบสาวสวยเป็นประจำ

            สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะได้จากการชมรายการนี้ก็คือแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ ทั้งที่ได้จากการทำงานของทีมที่แข่งขันในแต่ละสัปดาห์ และคำแนะนำจาก Trump เองที่จะให้กับผู้แข่งขันและผู้ชมเป็นระยะๆ คำแนะนำเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในรูปของทฤษฎีทางการจัดการที่ฟังแล้วเข้าใจยากนะครับ แต่เป็นแนวคิดพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจทั่วๆ ไป เช่น ในสัปดาห์แรกที่มีการขายน้ำมะนาวกลางกรุงนิวยอร์ค ทางทีมผู้ชายก็ไปเลือกทำเลที่ใกล้ๆ กับสะพานปลา ที่มีเรือต่างๆ เข้ามาเทียบท่า เปรียบเทียบกับทีมผู้หญิงที่เลือกทำเลในใจกลางย่านกลางเงินของนิวยอร์ค ผลก็ปรากฎออกมาตามคาดหมายครับ คือฝ่ายชายแพ้หลุดหลุ่ย ซึ่งทาง Trump ก็ออกมาให้ความเห็นถึงความสำคัญของทำเลที่ตั้ง (Location) ในการดำเนินธุรกิจ หรือ พอในสัปดาห์ที่สองทั้งทีมชายและหญิงต่างต้องคิดแคมเปญโฆษณา สำหรับเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว โดยทั้งสองทีมมีเวลาในการคิดแคมเปญจนจัดทำออกมาในเวลาไม่เกินสองวัน ปรากฏว่าทางทีมหญิงรีบไปคุยกับทางผู้บริหารของลูกค้าทันทีเพื่อเอาความต้องการของลูกค้า ในขณะที่ทีมชายไม่ยอมไปสัมภาษณ์ความต้องการของลูกค้าเนื่องจากผู้นำทีมมองว่าเวลามีน้อย การไปสัมภาษณ์ลูกค้าเป็นการเสียเวลา ซึ่งผลออกมาก็เป็นอย่างที่ท่านผู้อ่านเดาครับ ทีมชายก็แพ้หลุดหลุ่ย ซึ่ง Trump ก็ออกมาให้คำแนะนำถึงความสำคัญของการหาความต้องการของลูกค้าในการทำธุรกิจ

            นอกจากนั้นก็มีเรื่องของศีลธรรม จริยธรรมแฝงอยู่ด้วยครับ เช่น ในตอนหนึ่งที่ทั้งทีมชายและหญิงจะต้องแข่งกันบริหารร้าน Planet Hollywood โดยจะต้องทำรายได้ให้มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลา ปรากฎว่าทางทีมหญิงก็พยายามใช้เสน่ห์ของตนในการดึงลูกค้าให้เข้าร้าน และทำให้ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มเยอะๆ แต่ในทีมชายที่ไม่รู้ว่าจะขายเสน่ห์อย่างไร ก็ใช้กลวิธีหลอกลวงประชาชน โดยโฆษณาว่าให้ซื้อสินค้าที่ระลึกกับทางร้านแล้วจะได้รายเซ็นของผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่ง โดยประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมาหลายคนก็หลงเชื่อเพราะคิดว่าผู้แข่งขันท่านนั้นเป็นดาราหรือนักกีฬา (ชื่อและหน้าตาให้ครับ) ก็เลยเสียเงินเข้ามาซื้อของ ขอลายเซ็นและถ่ายรูป (ทั้งๆ ที่บุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นดาราหรือนักกีฬาชื่อดังแต่อย่างใด) ซึ่งการแข่งขันในสัปดาห์ดังกล่าวก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันพอสมควรครับในเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งทีมหญิงและทีมชาย ในส่วนของทีมหญิงนั้นทาง Trump ต้องออกมาห้ามเลยครับว่าไม่ควรใช้เสน่ห์ของเพศหญิงให้มากเกินไป ส่วนในทีมชายก็มีข้อถกเถียงและโต้แย้งภายในทีมครับว่าการหลอกลวงผู้อื่นผิดหรือไม่

            ในแต่ละสัปดาห์ก็จะมีเรื่องต่างๆ เหล่านี้ในทุกสัปดาห์ครับ ซึ่งในฐานะผู้ชมคนหนึ่งก็คิดว่านอกเหนือจากความเพลิดเพลินแล้วก็ทำให้เห็นแง่มุมต่างๆ ในการทำธุรกิจมากขึ้น และประเด็นที่สำคัญก็คือในเรื่องของพฤติกรรมของแต่ละคนและพฤติกรรมของกลุ่ม โดยเฉพาะในแต่ละสัปดาห์ที่ทุกคนจะต้องพยายามไม่ให้ตัวเองทุกคัดออก ดังนั้นการหักหลังกัน การพูดเพื่อปกป้องตนเอง จึงเป็นสิ่งที่มองเห็นในเกือบทุกสัปดาห์ อย่างไรก็ดีถึงแม้รายการนี้จะมีความน่าสนใจและได้มุมมองต่างๆ นะครับ แต่ก็ไม่ได้แนะให้มองรายการนี้เป็นแม่แบบในการดำเนินธุรกิจนะครับ เนื่องจากพฤติกรรม วัฒนธรรม และกระบวนการคิดของอเมริกา และของไทยไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรจะเป็นดูเพื่อเพลิดเพลินและแง่คิด แต่ไม่ใช่ดูเพื่อลอกเลียนหรือทำตามนะครับ