23 February 2005

ทุกปีวารสาร Harvard Business Review จะมีการนำเสนอหลักการและแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ถึงวาระของการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ทางการจัดการอีกแล้วครับ สัปดาห์นี้เราลองมาดูกันนะครับว่ามีเรื่องหรือประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง

เรื่องแรกอาจจะตรงใจท่านผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน นั้นคือเรื่องของ Flipping Without Flopping ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้นำหลายๆ ท่านในปัจจุบัน ในอดีตเวลาเราใช้คำว่า Flip-flop นั้น พอจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งถ้านำมาใช้กับเรื่องของภาวะผู้นำแล้ว เราก็จะมองว่าผู้นำที่มีลักษณะ Flip-flop จะเป็นผู้นำที่ชอบเปลี่ยนคำพูดของตนเองไปมา หรือเมื่อตัดสินใจบางอย่างไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจจะยกเลิกการตัดสินใจนั้น และตัดสินใจอย่างอื่นแทน นั้นคือในสถานการณ์หนึ่งจะพูดหรือตัดสินใจอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป จะพูดหรือตัดสินใจอีกอย่างหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามหรือไม่เหมือนสิ่งที่พูดไว้ตอนแรก ซึ่งตามหลักการด้านการจัดการและภาวะผู้นำแบบดั้งเดิมแล้ว การเปลี่ยนคำพูดหรือการตัดสินใจไปมาเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้นำคนนั้นๆ

แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวจะเริ่มเปลี่ยนไปแล้วครับ เนื่องจากในแวดวงวิชาการ กลับเริ่มมองแล้วครับว่าการ flip-flop หรือกลับคำในสิ่งที่ตนเองได้พูดไป อาจจะเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างหนึ่งของผู้นำก็ได้ การกลับคำในสิ่งที่พูดไปนั้น เป็นคนละอย่างกับการไม่สามารถตัดสินใจนะครับ การที่ผู้นำไม่สามารถตัดสินใจ คือไม่รู้ว่าจะเลือกระหว่างทางเลือกไหน แต่การกลับคำ (flip-flop) การเปลี่ยนการตัดสินใจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ภายหลังจากที่ได้เลือกอีกทางเลือกหนึ่งไปแล้ว ในปัจจุบันนักวิชาการด้านภาวะผู้นำเริ่มมองแล้วครับว่าการเปลี่ยนไปเลือกอีกทางเลือกหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมในสถานการณ์บางสถานการณ์

เริ่มเป็นที่ชัดเจนขึ้นครับว่าเมื่อผู้นำตัดสินใจผิดพลาด ผู้นำจะต้องยอมรับและพร้อมที่จะกลับคำหรือเปลี่ยนการตัดสินใจที่ได้เลือกไป มิฉะนั้นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในตอนแรกย่อมจะนำไปสู่ความเสียหายที่มากไปกว่า ท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจนะครับว่าการ flip-flop ไม่ใช่การโกหก แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้นำก็จะต้องยอมรับว่าสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปในตอนต้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และพร้อมที่จะยอมรับและเปลี่ยนการตัดสินใจของตนเอง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือผู้นำส่วนใหญ่จะมีความมั่นใจและศักดิ์ศรีที่จะต้องปกป้อง ทำให้การกลับคำหรือการตัดสินใจเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าคิดในอีกแง่หนึ่ง ถ้าผู้นำมัวแต่หลง ยึดติดกับศักดิ์ศรี ยึดมั่นกับคำพูดหรือการตัดสินใจเดิมๆ องค์กรก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้นผู้นำที่มีลักษณะ Flip-flop ไม่ใช่ผู้นำที่จะสูญเสียศักดิ์ศรีเสมอไปหรอกนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลับคำหรือการตัดสินใจแล้ว ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จก็คงจะไม่มีใครมาคำนึงถึงแต่ศักดิ์ศรีที่ผู้นำคิดว่าสูญเสียไป

ในสถานการณ์ที่สภาวะแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน การที่ผู้บริหารจะ flip-flop นั้นเป็นสิ่งที่ยากจะที่จะหลีกเลี่ยงนะครับ ดังนั้นผู้นำเองอาจจะต้องเตรียมพร้อมและเตรียมทางไว้สำหรับการกลับคำหรือการตัดสินใจไว้ ซึ่งการเตรียมการไว้สำหรับการ flip-flop จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำได้มีการกลับมานั่งคิด ทบทวนถึงการตัดสินใจที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นผู้นำคงจะต้องส่งสัญญาณไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่าผู้นำพร้อมที่จะกลับไปนั่งคิดทบทวนในสิ่งที่ตนเองได้พูดหรือตัดสินใจลงไป และพร้อมที่จะเปลี่ยนในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ในขณะเดียวกันผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งตัวผู้นำเองก็ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าการ Flip-flop ไม่ได้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำขาดความสามารถในการตัดสินใจและเป็นผู้นำนะครับ แต่ถ้าเรามองให้ทะลุเราจะพบว่าการ flip-flop เป็นการแสดงถึงความสามารถของผู้นำในการเรียนรู้มากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประธานาธิบดี George W. Bush ของอเมริกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจบางอย่างของเขา (ระหว่างที่เป็นสมาชิกสภาฯกับสมัยเป็นประธานาธิบดีครับ) ปรากฏว่ากลับได้รับคำชมจากวุฒิสมาชิกของอเมริกา (George McGovern) ว่าการเปลี่ยนความคิดและการตัดสินใจไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือบาป แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันบุคคลผู้นั้น ฉลาดขึ้นกว่าในอดีต

เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวคิดแรกที่ทาง Harvard Business Review นำมาเสนอว่าเป็น Breakthrough Ideas ของปี 2005 ผมว่าค่อนข้างน่าสนใจ และเข้ากับยุคสมัยมากนะครับ โดยเฉพาะสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย

เรามาลองดูแนวคิดที่น่าสนใจประการที่สองกันนะครับ เป็นเรื่องชื่อ Continuity Champion ซึ่งเป็นการมองย้อนกลับมาดูที่ความต่อเนื่องหรือสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้ว แทนที่จะมุ่งเน้นแต่การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันเรามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงมากเหลือเกิน ตำราต่างๆ มักจะบอกออกมาเสมอว่าผู้นำที่ดี จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทำให้ในปัจจุบันคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ดูเหมือนจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ไปเสียแล้ว และพวกไหนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี ซึ่งถ้าเรามองในอีกมุมหนึ่ง ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ความต่อเนื่อง (Continuity) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน

จริงอยู่นะครับที่เรามักจะชอบพูดว่าถ้าองค์กรไม่เปลี่ยนแปลง องค์กรก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นสิ่งที่ดี และต้องการความต่อเนื่อง ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่าถ้าอยู่อย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยขาดความต่อเนื่อง แทนที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร กลับจะก่อให้เกิดโทษด้วยซ้ำไป ผมเคยเจอองค์กรหนึ่งที่ผู้บริหารชอบพูดว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นฐานของธุรกิจ และความสามารถหลักของบริษัทคือความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่พบก็คือบริษัทนี้อาจจะประสบความสำเร็จในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและขาดความต่อเนื่องในสิ่งสำคัญแล้ว บริษัทนั้นก็จะไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ล้มเหลวครับ

ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถประเมินได้ว่าสิ่งใดที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วและต้องการความต่อเนื่อง อะไรคือความแตกต่างระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงเทียบกับความต่อเนื่อง เรามักจะให้ความสำคัญ ความตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง แต่มักจะลืมย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของสิ่งต่างๆ ที่ดีอยู่แล้ว เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราตื่นตัวเรื่องของการทำงานที่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็จะส่งผลต่อสิ่งดีๆ ที่เคยมีอยู่ในองค์กรเช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม ดังนั้นท่านผู้อ่านคงจะต้องพิจารณาก่อนนะครับว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น เมื่อเทียบกับความต่อเนื่องของสิ่งที่ดีๆ อย่างไหนคุ้มกว่ากัน ผมเองไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนะครับ แต่มองว่าเราต้องไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างเดียว โดยลืมหันมามองถึงความต่อเนื่องของสิ่งที่ดีอยู่แล้ว

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเพียงแค่สองเรื่องจากแนวคิดใหม่ๆ ทางการจัดการจาก Harvard Business Review นะครับ ถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอใหม่ในสัปดาห์ต่อไปครับ