17 August 2005
เมื่อเดือนเมษายนผมได้นำเสนอรายชื่อของเครื่องมือทางการจัดการที่เป็นที่นิยมในปี 2005 ที่จัดทำขึ้นมาโดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกชื่อ Bain and Company ซึ่งทาง Bain เขาได้มีการจัดลำดับและมีการสำรวจกันทุกสองปี โดยในปีนี้ทาง Bain ได้มีการจัดทำรายชื่อเครื่องมือทางการจัดการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายออกมาเมื่อช่วงต้นปี (ตามที่ผมได้นำเสนอไว้เมื่อเดือนเมษายน) และหลังจากนั้นทาง Bain เขาก็ได้มีการสอบถามไปยังผู้บริหารทั่วโลก เพื่อดูในเรื่องของอัตราการใช้เครื่องมือเหล่านั้นว่าเครื่องมือทางการจัดการตัวไหนที่มีอัตราการใช้มากที่สุด อย่างไรบ้าง สัปดาห์นี้ผมจะนำเสนอผลที่เขาได้ไปสำรวจมาครับ น่าสนใจทีเดียว
ก่อนที่จะไปดูผลที่เขาสำรวจได้ ขอทบทวนเครื่องมือทางการจัดการที่ทาง Bain เขาจัดอันดับไว้ว่าเป็น 25 ตัวที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลกก่อนนะครับว่ามีอะไรบ้าง เครื่องมือทั้ง 25 ตัวนั้นเรียงตามตัวอักษรได้ดังนี้ครับ 1) Activity-Based Management 2) Balanced Scorecard 3) Benchmarking 4) Business Process Reengineering 5) Change Management Programs 6) Core Competencies 7) Customer Relationship Management 8) Customer Segmentation 9) Economic Value-Added Analysis 10) Growth Strategies 11) Knowledge Management 12) Loyalty Management 13) Mass Customization 14) Mission and Vision Statements 15) Offshoring 16) Open-Market Innovation 17) Outsourcing 18) Price Optimization Models 19) RFID 20) Scenario and Contingency Planning 21) Six Sigma 22) Strategic Alliances 23) Strategic Planning 24) Supply Chain Management 25) Total Quality Management
การสำรวจของ Bain นั้นเขาจะส่งแบบสอบถามออกไปสอบถามผู้บริหารทุกระดับจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย โดยได้รับผลตอบรับกลับมาทั้ง 960 ชุด ผลที่ได้ที่น่าสนใจประการหนึ่งคืออัตราการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ มีอัตราที่ลดน้อยลงจากที่เคยสำรวจเมื่อสองปีที่แล้ว ที่ในอดีตนั้นองค์กรหนึ่งๆ ใช้เครื่องมือทางการจัดการโดยเฉลี่ยแล้ว 16 ประการ แต่พอมาล่าสุดองค์กรหนึ่งจะใช้เครื่องมือทางการจัดการเพียงแค่ 13 ประการเท่านั้น โดยอัตราการใช้เครื่องมือทางการจัดการนั้นก็แตกต่างกันไปตามขนาดขององค์กรและภูมิภาคด้วย โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีการใช้เครื่องมือทางการจัดการมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และยุโรปเป็นทวีปที่มีการใช้เครื่องมือทางการจัดการมากที่สุด ตามด้วยอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชีย
ผลที่ได้ข้างต้นไม่น่าแปลกใจครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บริษัทขนาดใหญ่มีการใช้เครื่องมือทางการจัดการมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก ปรากฎการณ์ดังกล่าวก็เป็นจริงในเมืองไทยเช่นเดียวกัน ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก และสิ่งที่พบก็คือในบริษัทขนาดใหญ่นั้น ไม่ว่าจะมีเครื่องมืออะไรใหม่เข้ามา จะใช้เกือบหมด แต่ในองค์กรขนาดเล็กนั้นการเลือกใช้เครื่องมือทางการจัดการจะมีความพิถีพิถันมากกว่า ส่วนการที่บริษัทในเอเชียใช้เครื่องมือทางการบริหารน้อยกว่าบริษัทในทวีปอื่นๆ นั้นก็ไม่แปลกครับ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาบริษัทที่ทาง Bain เขาสอบถามแล้ว จะพบว่าในเอเชียจะมีบริษัทจากประเทศจีนอยู่มากพอสมควร แต่ผมเชื่อว่าในปีต่อๆ ไปอัตราการใช้เครื่องมือของบริษัทในประเทศจีนคงจะเพิ่มขึ้น
ทีนี้เรามาดูที่ผลลัพธ์ที่ได้จากการสำรวจของ Bain เขาดีกว่าครับว่าในบรรดาเครื่องมือทางการจัดการทั้ง 25 ตัวนั้น อัตราการใช้เครื่องมือแต่ละตัวเป็นอย่างไร รวมทั้งระดับความพึงพอใจของการใช้เครื่องมือแต่ละตัวเป็นอย่างไร เครื่องมือทางการบริหารจัดการที่มีอัตราการใช้มากที่สุดทั่วโลกนั้น ได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning โดยมีอัตราการใช้ทั้งสิ้น 79% ตามด้วย CRM หรือ Customer Relationship Management 75% Benchmarking 73% Outsourcing 73% Customer Segmentation 72% Mission and Vision Statements 72% นี่คือห้าอันดับแรกนะครับ ส่วนห้าอันดับท้ายได้แก่ Six Sigma 34% Offshoring 33% Open-Market Innovation 26% Mass Customization 24% และ RFID 13%
เมื่อพิจารณาที่อัตราการใช้งานแล้ว ก็ลองหันมาดูในเรื่องของระดับความพึงพอใจเมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้กันบ้างนะครับ ในส่วนนี้เขาจะสอบถามบริษัทต่างๆ ที่ได้นำเอาเครื่องมือทางการบริหารเหล่านี้ไปใช้ถึงความพึงพอใจภายหลังจากที่ได้มีการนำเครื่องมือไปใช้ โดยเป็นคะแนนที่เป็นช่วงตั้งแต่ 1 ถึง 5 โดยเครื่องมือที่ระดับความพึงพอใจในการใช้เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์ ได้ 4.14 คะแนน ตามด้วย Supply Chain Management 3.99 คะแนน Benchmarking 3.98 คะแนน Core Competencies 3.97 คะแนน และ Customer Segmentation 3.97 คะแนน ส่วนห้าอันดับสุดท้ายประกอบด้วย Activity-Based Management 3.74 คะแนน Knowledge Management 3.73 คะแนน Open-Market Innovation 3.70 คะแนน Mass Customization 3.69 คะแนน และ Loyalty Management 3.67 คะแนน ตามลำดับ
จากข้อมูลทั้งในเรื่องของอัตราการใช้งานและระดับความพอใจเมื่อใช้แล้ว คงจะพอทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่าเครื่องมือที่เรียกได้ว่าสุดยอดจริงๆ ทั้งในเรื่องของอัตราการใช้งาน และระดับความพึงพอใจในการใช้งานนั้นได้แก่เรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) และเครื่องมือที่ทั้งอัตราการใช้งานที่ทั้งต่ำและระดับความพอใจก็ต่ำด้วยก็คือ Open-Market Innovation ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ใหม่และยากที่จะนำมาปฏิบัติพอสมควร เนื่องจากหลักการของ Open-Market Innovation นั้นตามหลักการแล้วดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ง่ายเท่าใด (หลักการนี้คือการทำให้เกิดนวัตกรรมโดยอาศัยกลไกของตลาดเสรี หรืออีกนัยหนึ่งคือแทนที่จะพึ่งพาการพัฒนาด้านนวัตกรรมจากภายในองค์กรอย่างเดียว องค์กรสามารถแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ จากภายนอก)
สัปดาห์นี้ขอเรียกน้ำย่อยท่านผู้อ่านเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาวิเคราะห์พวกเครื่องมือทางการจัดการเหล่านี้ต่อนะครับ ท่านผู้อ่านอาจจะอยากทราบนะครับว่าพวกเครื่องมือที่เรากำลังเห่อกันมากๆ ในไทย อย่าง Competencies, Balanced Scorecard, TQM, Knowledge Management, Six Sigma ฯลฯ เป็นไงกันบ้าง จากการสำรวจของ Bain เอาไว้สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อแล้วกันนะครับ