15 January 2005

เมื่อสิ้นปีที่แล้วผมได้ซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ ชื่อ Predictable Surprises: The Diasaters You Should Have Seen Coming and How to Prevent Them เขียนโดย Max Bazerman และ Michael Watkins ซึ่งพอได้มีโอกาสอ่านก็พบว่าเนื้อหากำลังทันสมัยมากครับ ทั้งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเนื้อหาในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่ผมได้นำเสนอไปในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับธรณีภิบัติที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และสอดคล้องกับบรรดาคำพยากรณ์ต่างๆ ที่มักจะออกมากันอย่างมากมายในช่วงต้นปี

หนังสือเล่มนี้ถ้าจะให้ชื่อภาษาไทยก็คงหนีไม่พ้น “หายนะ (หรืออันตราย) ที่สามารถคาดการณ์ได้” แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการพยากรณ์นะครับ แต่เนื้อหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้เขาพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าหายนะ ความเสียหาย หรืออันตราย ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับองค์กรหรือประเทศ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถที่ป้องกันความเสียหายได้ล่วงหน้า เนื่องจากหายนะหรืออันตรายต่างๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นสิ่งที่เริ่มมีแนวโน้มหรือข้อมูลแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นมาล่วงหน้าแล้ว เพียงแต่ปัญหาก็คือผู้บริหารในหลายๆ ระดับทั้งระดับประเทศและระดับองค์กรอาจจะขาดวิสัยทัศน์หรือมุมมองที่จะมองเห็นแนวโน้มหรือรากเหง้าของปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือในบางกรณีถึงแม้จะมองเห็นแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ขาดความกล้าที่จะป้องกันอันตรายเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า

หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับหนังสือทางด้านการจัดการอีกหลายๆ เล่มครับที่ไม่ได้เสนอสิ่งที่เป็นสิ่งที่ใหม่จริงๆ เพียงแต่สิ่งที่เขาทำก็คือนำสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นอยู่แล้วเป็นประจำ มาใส่หลักการและทฤษฎีเสียเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือขึ้น ท่านผู้อ่านลองดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ สมมติว่าบุตรของท่านชอบอ่านหนังสือและดูโทรทัศน์มาก โดยในระยะหลังท่านเริ่มพบว่าเขามักจะนอนอ่านหนังสือหรือดูทีวีมากขึ้น ชอบอ่านหนังสือในรถ หรือ ชอบอ่านหนังสือในที่ๆ แสงสว่างไม่เพียงพอ เหตุการณ์ข้างต้นเป็นข้อมูลหรือลางที่จะบอกท่านได้ว่าในไม่ช้าไม่นานลูกของท่านผู้อ่านจะสายตาสั้นและต้องใส่แว่น ทีนี้ประเด็นก็คือว่าทำไมหลายๆ ครั้งเราถึงปล่อยให้ลูกทำในพฤติกรรมนั้นต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ป้องกันไม่ให้อาการสายตาสั้นเกิดขึ้นล่วงหน้า ผมมองว่าเหตุการณ์ข้างต้นก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น Predictable Surprise ได้เช่นกันครับ

ทีนี้ลองมาดูในระดับองค์กรกันบ้างครับ Predictable Surprises ก็เกิดขึ้นตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นการลาออกของบุคลากรสำคัญขององค์กร หรือ ยอดขายที่ตกลง หรือ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารหรือหน่วยงาน ฯลฯ แต่ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับว่าเรามักจะชอบมาพูดกันทีหลังว่า “คิดอยู่แล้วว่าจะต้องเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น” หรือ “ไม่แปลกใจหรอกที่เกิดขึ้น พอจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว” ซึ่งก็มักจะนำไปสู่คำถามต่อว่าถ้ารู้หรือนึกอยู่แล้วว่าปัญหาหรือความเสียหายกำลังจะเกิดกับองค์กรของเรา แล้วทำไมเราถึงไม่หาทางป้องกันมันก่อนที่จะเกิด? ประเด็นคือทุกคนมักจะชอบมาพูดกันภายหลังเหตุการณ์หรือความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ทำไมไม่หาทางป้องกันไว้ก่อนในเมื่อรู้หรือพอจะเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ในหนังสือ Predictable Surprises นั้นเขาได้เสนอคุณลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเป็น Predictable Surprises ไว้หกประการด้วยกัน ประการแรกก็คือ ผู้บริหารรู้ว่ามีปัญหานั้นอยู่และทราบด้วยว่าปัญหานั้นไม่สามารถที่จะสลายไปหรือได้รับการแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง ท่านผู้อ่านลองสังเกตปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรของท่านดูซิครับ บางอย่างเมื่อเวลาผ่านไปปัญหานั้นก็จะสามารถคลี่คลายได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องไปทำสิ่งใดกับปัญหานั้น แต่ปัญหาบางประเภทก็ไม่สามารถที่จะคลี่คลายลงไปด้วยตนเองได้ Predictable Surprise นั้นจะเกิดจากปัญหาที่ไม่สามารถคลี่คลายด้วยตนเองได้ จะต้องอาศัยการกระทำบางอย่างเพื่อให้ปัญหานั้นคลี่คลายลง

ประการที่สอง Predictable Surprises จะเกิดขึ้นเมื่อปัญหาที่เราพบเจอในประการที่หนึ่งนั้นเริ่มมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเรื่อยๆ ปัญหาบางประการจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าปัญหาใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงหรือแย่ลงเรื่อยๆ ก็อาจจะบอกได้เลยครับว่า Predictable Surprises จะเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นตรงกันนะครับว่า Predictable Surprises ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมองไม่เห็นปัญหานะครับ แต่เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถตอบสนองหรือกระทำการเพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าครับ

ประการที่สามก็คือ ถ้าจะแก้ไขปัญหาที่มองเห็นแล้ว จะมีต้นทุนที่สูงแต่ในขณะเดียวกันประโยชน์ที่ได้จากการแก้ไขปัญหาหรือการลงทุนข้างต้นก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นธรรมชาติที่เราเจอทั่วๆ ไปนะครับ ที่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการป้องกันไม่ให้ปัญหาหรืออันตรายเกิดขึ้นมีสูงและประโยชน์ก็จะมองไม่เห็นในระยะสั้น หรือบางครั้งมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำไป (เนื่องจากเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นมาได้)

ประการที่สี่ก็ต่อเนื่องจากข้อข้างต้นครับ ในเมื่อการป้องกันอันตรายล่วงหน้ามีต้นทุนที่สูง แต่มองไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับในระยะสั้น ผู้บริหารก็มักจะมองไม่เห็นประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับจากการแก้ไขปัญหาหรือป้องกันอันตรายนั้น ทั้งนี้เนื่องจากงานที่ตนเองได้ทำลงไปจะไม่ได้รับการชื่นชมหรือยอมรับจากผู้อื่น เพราะผู้คนรอบข้างจะมองไม่เห็นผลงานนั้นอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าผู้บริหารที่ลงมือแก้ไขปัญหาหรือป้องกันอันตรายนั้นทำงานแบบปิดทองหลังพระเลยครับ ผลจากการที่ต้องทำงานปิดทองหลังพระก็เลยทำให้ผู้บริหารหลายๆ ท่านไม่ทำอะไรแต่มานั่งสวดภาวนาแทนแล้วหวังว่าเหตุการณ์เลวร้ายคงจะไม่เกิดขึ้น

ประการที่ห้า สาเหตุสำคัญที่ทำผู้บริหารมักจะละเลยต่อสิ่งที่จะนำไปสู่ Predictable Surprises ก็คือ การกระทำใดๆ ก็แล้วแต่มักจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และคนเราก็มีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะมองว่า ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย และประการสุดท้ายครับก็คือ การที่จะทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามย่อมจะนำไปสู่การสูญเสียสถานะหรือผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ที่คอยปิดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกระทำการเพื่อป้องกัน Predictable Surprises

ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้นะครับว่าหลักการของ Predictable Surprises ก็เป็นการนำเอาแนวคิดทางด้านการจัดการหลายๆ ประการเข้ามารวมกันทั้งในเรื่องของการบริหารความเสี่ยง การบริหารความเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่ง Scenario รวมถึงหลักการบริหารแบบไทยๆ หลายประการไม่ว่าจะเป็น กันไว้ดีกว่าแก้ หรือ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูรอบๆ ตัวท่านนะครับว่ามี Predictable Surprises เกิดขึ้นบ้างหรือยัง หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่?