11 December 2004

พอใกล้สิ้นปีก็เข้าสู่เทศกาลการจัดลำดับสุดยอดต่างๆ ในปีที่ผ่านมานะครับ และดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมของผมทุกสิ้นปีเหมือนกันที่นำเสนอท่านผู้อ่านด้วยหนังสือทางด้านการจัดการชั้นนำของรอบปีที่ผ่านมา แต่ผมเองก็ยังไม่หาญกล้าไปจัดลำดับเองนะครับ เนื่องจากไม่สามารถตามอ่านได้ทุกเล่ม ดังนั้นก็เลยต้องนำมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซึ่งในปีนี้นำมาจากวารสาร Strategy + Business ซึ่งเป็นวารสารทางด้านกลยุทธ์ในสังกัดของบริษัทที่ปรึกษา Booz Allen Hamilton หนังสือส่วนใหญ่ที่จะนำเสนอนั้นก็พอจะหาได้ในเมืองไทยครับ แหล่งใหญ่ๆ ที่ผมเจอส่วนมากก็ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และเอเซียบุคส์ครับ

            การย้อนกลับไปดูหนังสือดังทางด้านการจัดการในรอบปีก็เปรียบเสมือนการย้อนกลับไปดูว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการบริหารจัดการอะไรเกิดขึ้นบ้าง เนื่องจากแนวคิดทางด้านการจัดการส่วนมากก็มักจะมีจุดเริ่มต้นจากหนังสือเหล่านี้ทั้งสิ้นครับ อย่างไรก็ดีในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่าในปี 2547 ที่กำลังจะผ่านไปนั้นในแวดวงของหนังสือทางด้านการจัดการ ไม่คึกคักหรือก่อให้เกิดความตื่นเต้นเท่ากับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา หนังสือดังๆ ที่วางแผงและขายดี (ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ) ก็ไม่ได้นำเสนอสิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการจัดการซักเท่าใด ส่วนมากแล้วจะเป็นการต่อยอดทางความคิดของสิ่งที่ได้มีมาหรือเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ดังนั้นท่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการก็คงจะรู้สึกยังไม่ค่อยสะใจเท่าใดนัก ขอเริ่มต้นเลยดีกว่านะครับ

            ในการได้มาซึ่งลำดับของสุดยอดหนังสือปี 2547 นั้น ทางวารสาร Business + Strategy เขาได้มีการส่งแบบสอบถามไปยังทั้งผู้บริหารและนักวิชาการชั้นนำต่างๆ เพื่อให้จัดลำดับหนังสือในดวงใจของปี 2547 มาให้ ดังนั้นรายชื่อหนังสือเหล่านี้จึงไม่ใช่ความคิดเห็นของคนไม่กี่คน โดยวารสาร Business + Strategy เขาได้มีการแบ่งหมวดหมู่หนังสือออกเป็นด้านต่างๆ ทั้งหมดเก้าด้าน ได้แก่ Strategy, Management, IT&Innovation, Leadership, Governance, Change Management, The Bubble (internet boom), Behavioral Economics, และ New Consumer ก็ขอเริ่มต้นในสิ่งที่ผมถนัดก่อนนะครับ และคงจะเน้นย้ำในบางหมวดที่ผมถนัดเป็นหลักนะครับ

            ในหมวดด้านกลยุทธ์นั้น มีหนังสือที่ได้รับการยกย่องสามเล่ม เล่มแรกได้แก่ Confronting Reality: Doing What Matters to Get Things Right โดย Larry Bossidy และ Ram Charan ซึ่งถือเป็นตอนต่อจากหนังสือที่ขายดีมากๆ โดยผู้เขียนทั้งสองท่านนั้นคือ Execution แต่จากที่ผมได้อ่านหรือได้พูดคุยกับผู้ที่อ่านทั้งสองเล่ม ก็ต่างรู้สึกเป็นเสียงเดียวว่าในหนังสือ Confronting Reality นั้นยังสู้เล่มแรกคือ Execution ไม่ได้ (สู้ไม่ได้ในที่นี้หมายถึงในด้านของคุณค่าที่ได้รับภายหลังจากการอ่านจบนะครับ) แต่ก็ให้ข้อคิดที่ดีๆ หลายประการ เพียงแต่ข้อคิดเหล่านั้นสำหรับผู้บริหารที่เชี่ยวชาญแล้วไม่ใช่สิ่งใหม่ เพียงแต่เป็นการตอกย้ำให้ผู้บริหารและผู้อ่านได้ตระหนักถึงความเป็นจริงมากขึ้น

            เล่มที่สองนั้นชื่อ The Future of Competition: Co-Creating Unique Value with Customers โดย C.K. Prahalad และ Venkat Ramaswamy ซึ่ง C.K. Prahalad ถือเป็นกูรูทางด้านการจัดการที่สำคัญคนหนึ่งของโลก เขาเคยเขียนหนังสือคู่ กับ Gary Hamel จนโด่งดังมาแล้ว (หนังสือชื่อ Competing for the Future ที่ได้เสนอแนวคิดในเรื่องของ Core Competencies) ในหนังสือเล่มใหม่ของ Prahalad และ Ramaswamy นั้น ได้พยายามสื่อให้องค์กรธุรกิจได้เห็นถึงความสำคัญของลูกค้ามากขึ้น โดยแทนที่จะมองลูกค้าเป็นเพียงแค่ผู้มาซื้อสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียว องค์กรธุรกิจควรจะมองลูกค้าในฐานะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการออกแบบและพัฒนาตัวรูปแบบของสินค้าและบริการต่างๆ โดยจากประสบการณ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าจะย้อนกลับมาเป็นข้อมูลสำหรับองค์กรในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีขึ้น ในหนังสือเล่มนี้เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำว่า ‘Experience’ ระหว่างลูกค้าและองค์กรค่อนข้างมาก ตัวอย่างที่ใช้ก็ชัดเจนครับ เช่นในการสร้างหนัง Lord of the Rings: Fellowship of the Ring นั้นทางบริษัทผู้สร้างก็ได้ส่งตัวอย่างรูปของเสื้อผ้า หรือรายละเอียดของหนังไปให้บรรดาเว็บไซต์ของ Lord of the Rings ดูเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัวด้วย หนังสือเล่มนี้ก็ให้ความคิดและตัวอย่างที่ดีครับ เพียงแต่เนื้อหาของหนังสือยังมุ่งเน้นในการให้กรอบแนวคิดเป็นหลัก ถ้าผู้บริหารอ่านแล้วจะนำไปใช้หรือไปปฏิบัติเลยคงจะต้องขวนขวายกันเอาเองเหมือนกันครับ

            เล่มที่สามคือ Strategy Maps: Converting Intangible Assets into Tangible Outcomes โดย Robert S. Kaplan และ David P. Norton หนังสือเล่มนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นๆ กันดี เนื่องจากเป็นเล่มที่สามของผู้เขียนทั้งคู่ต่อจาก Balanced Scorecard และ Strategy-Focused Organization อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยโดยทางเครือผู้จัดการ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยในหลักการของ Balanced Scorecard และ Strategy Map อยู่แล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้สิ่งที่ใหม่เท่าใด แต่เป็นการนำเสนอถึงแนวทาง ตัวอย่างและวิธีการขององค์กรในลักษณะต่างๆ ในการพัฒนา Strategy Map เรียกได้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่กำลังคิดจะนำ Balanced Scorecard มาใช้ในองค์กร แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากที่ใด

            ดูเหมือนว่าแนวโน้มสำคัญของสุดยอดหนังสือในด้านกลยุทธ์ในรอบปีที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นในเรื่องของการปฏิบัติให้เห็นผลค่อนข้างมากนะครับ Confronting Reality นั้นมุ่งเน้นในเรื่องของกรอบแนวคิดของกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงทั้งสภาวะแวดล้อมที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก ส่วน Strategy Maps นั้นก็นำเสนอถึงเครื่องมือที่องค์กรใช้ในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ และ The Future of Competition นั้นก็นำเสนอถึงการนำลูกค้ามาเป็นพันธมิตรในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และเมื่อผมย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับสุดยอดหนังสือทางด้านกลยุทธ์ในปี 2546 ของวารสารเดียวกันก็พอเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหมือนกันครับ ในปีที่แล้วหนังสือสามเล่มที่ได้รับการเลือกให้เป็นสุดยอดทางด้านกลยุทธ์ได้แก่ 1) The Innovator’s Solution โดย Clayton Christensen และ Michael Raynor  2) Double-Digit Growth โดย Michael Treacy และ 3) How to Grow When Markets Don’t โดย Adrian Slywotzky และ Richard Wise ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่าในปีที่แล้วหนังสือทางด้านกลยุทธ์จะเน้นในเรื่องของกลยุทธ์การเติบโตเป็นหลัก แต่พอปีนี้จะเน้นในเรื่องของภาคปฏิบัติมากขึ้น

            สัปดาห์หน้าเรามาดูสุดยอดหนังสือในหมวดอื่นๆ กันดูบ้างนะครับ