18 December 2004
หลังจากที่เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปี 47 ในบางหมวดบางสาขา (จัดลำดับโดยวารสาร Strategy + Business) สัปดาห์นี้ผมจะพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดูสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการของปี 45 และ 46 ดูนะครับ แล้วเราจะเห็นว่าหลักการและแนวคิดจากหนังสือเด่นๆ เมื่อสองปีที่ผ่านมาได้เข้ามามีอิทธิพลต่อแนวคิดการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง และเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันผมเลยขออนุญาติใช้ผลการจัดลำดับจากวารสารเดียวกันนะครับ
เริ่มกันที่ปี 2545 ก่อนนะครับ ในช่วงนั้นหนังสือที่โด่งดังและเป็นที่นิยมก็มีหลายเล่มด้วยกัน เริ่มตั้งแต่หนังสือเล่มแรกที่ Jack Welch เขียนขึ้นมาหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของจีอี Jack: Straight from the Gut ซึ่งในช่วงดังกล่าวหนังสือเล่มนี้ขายดีมาก (รวมทั้งในประเทศไทย) แต่หลังจากนั้นไม่นานชื่อเสียงของ Jack ก็เริ่มแย่ลงตั้งแต่การพบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เขาได้มากมายภายหลังออกจากจีอี หรือจากที่เขาเลิกกับภรรยา จากการที่ไปพบรักใหม่กับบก.ของ Harvard Business Review (ทั้งคู่จะออกหนังสือเล่มใหม่ด้วยกันต้นปีหน้าด้วยครับ) หนังสืออีกเล่มที่ยังไม่ล้าสมัยในปัจจุบันเป็นของ John Kotter อาจารย์จากฮาร์วาร์ด ชื่อ The Heart of Change ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงบทบาทของผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้ชื่อและหนังสือของ Kotter จะได้รับการกล่าวถึงกันมากพอสมควร นอกจากนั้นในศาสตร์ทางด้านผู้นำก็มีหนังสือขายดีอีกเล่มที่ออกมาในปี 2545 ได้แก่ Primal Leadership ของ Daniel Goleman และคณะ หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับหลักการของ Emotional Intelligence ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็ได้มีการจัดทำเป็นปกอ่อนและผมยังเห็นวางขายอยู่ในเอเซียบุคส์นะครับ
ในปี 2545 นั้นมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก ถือเป็นสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการเล่มหนึ่ง และในปัจจุบันก็ยังติดอันดับหนังสือขายดีในหลายๆ สำนักแม้ว่าจะออกมากว่าสองปีแล้ว หนังสือเล่มนี้คือ Execution เขียนโดย Larry Bossidy และ Ram Charan ครับ ในหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงหลักการและแนวทางในการปฎิบัติที่เป็นเลิศเพื่อทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ทำให้ทั้งคู่ออกหนังสืออีกเล่มหนึ่งในปีนี้ ซึ่งก็คือ Confronting Reality (ได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดหนังสือแห่งปีเล่มหนึ่งด้วยครับ)
นอกเหนือจากหนังสือด้านการจัดการเรื่องต่างๆ ข้างต้นแล้ว แนวโน้มหนึ่งที่เราพอจะเห็นชัดจากหนังสือด้านการจัดการต่างๆ ที่ออกมาในปี 2545 คือประเด็นในเรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจ และเรื่องของการค้าเสรีครับ ในปี 2545 มีหนังสือด้านการจัดการหลายเล่มมากที่ได้รับการยกย่องให้เห็นหนังสือดีเด่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจริยธรรม ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ (ในช่วงนั้นเพิ่งเกิดคดี Enron มาไม่นานครับ) รวมถึงหนังสืออีกหลายเล่มที่พูดถึงเรื่องของการค้าเสรีมากขึ้น (ช่วงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดการค้าเสรีที่ขยายผลมาถึงปัจจุบันครับ) ไม่ว่าจะเป็น How Companies Lie ที่เขียนขึ้นมาแสดงให้เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นของ Enron นั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะพบปัญหาในลักษณะเดียวกันในองค์กรอื่นอีกจำนวนมาก หรือ Dot.bomb ซึ่งเป็นหนังสือของผู้ที่เคยอยู่ในบริษัท dot.com แล้วต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของความโปร่งใสและจริยธรรมทางธุรกิจ สำหรับหนังสือทางด้านการค้าเสรีที่โด่งดังในปี 45 ประกอบไปด้วย Free Trade Under Fire ที่พยายามนำเสนอถึงประโยชน์ของกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปิดการค้าเสรี ในขณะเดียวกันในปีนั้นก็มีหนังสือที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์อย่าง The Case Against Global Economy ออกมาด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าปีนั้นผู้ที่สนใจในด้านนี้มีหลายมุมมองให้ศึกษากันครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับสุดยอดหนังสือในปี 2545 ผมว่าพอจะทำให้เราเห็นแนวโน้มบางอย่างได้เหมือนกัน เรามาดูกันต่อในปี 2546 เลยดีกว่านะครับ ในปีดังกล่าวมีหนังสือดังๆ หลายเล่ม เริ่มตั้งแต่ Beyond Budgeting โดย Jeremy Hope และ Robin Fraser ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอถึงข้อจำกัดของระบบงบประมาณ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกใหม่ๆ หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่ายังขายดีข้ามปีอยู่ครับ ในเมืองไทยก็ยังติดลำดับหนังสือขายดีอยู่ในหลายๆ ร้าน ในปี 46 มีหนังสือที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำออกมาหลายเล่มครับ เช่น Leadership ที่เขียนขึ้นโดยอดีตนายกเทศมนตรีของนิวยอร์ก Rudolph W. Giuliani ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงเทคนิคและเคล็ดลับในเรื่องของภาวะผู้นำ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มครับที่ขายดีในประเทศไทย แต่หนังสือที่ถือว่าดังที่สุดของปี 46 หนีไม่พ้นเรื่อง Who Says Elephants Can’t Dance? โดยอดีตผู้บริหารสูงสุดของ IBM Louis Gerstner ที่พูดถึงสิ่งที่เขาได้ทำไปในการปรับเปลี่ยน IBM จากยักษ์หลับเป็นยักษ์ตื่นอีกครั้งเช่นในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาด้วยครับ
ในปี 2546 ก็ยังมีความตื่นตัวในเรื่องของจริยธรรม ความโปร่งใส รวมทั้งเรื่องของโลกาภิวัฒน์และความตื่นตัวทางการค้าที่ต่อเนื่องมาจากปี 2545 นะครับ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ Anatomy of Greed: The Unshredded Truth from an Enron Insider หรือ Broadbandits: Inside the $750 Billion Telecom Heist ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มจะเน้นในเรื่องของการแฉหรือเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลในธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอเมริการ หรือ The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad หรือ World on Fire: How Exporting Free Market Democracy Breeds Ethnic Hatred and Global Instability ซึ่งทั้งสองเล่มเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของกระแสโลกภาวิวัฒน์ที่เกิดขึ้น
พอผมย้อนกลับไปดูรายชื่อสุดยอดหนังสือในปี 47 ครับเจอประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งครับ นั้นก็คือหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของจริยธรรม และกระแสโลกภิวัฒน์ จะไม่ปรากฎอยู่ในรายชื่อของปี 47 ทั้งๆ ที่ในปี 45 – 46 กระแสมาแรงมาก ในเรื่องของจริยธรรมนั้น อาจจะยังมีเกี่ยวข้องบ้าง แต่หนังสือที่ได้รับการยกย่องในปี 47 จะออกไปทาง Governance มากกว่า Ethics เหมือนในอดีต ไม่วาจะเป็น Back to the Drawing Boards: Designing Corporate Boards for a Complex World หรือ Corporate Governance and Chaimanship แต่หนังสือทางด้านโลกาภิวัฒน์กลับไม่ได้รับการคัดเลือกมาแต่ประการใด ก็เป็นประเด็นที่น่าขบคิดนะครับ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าช่วงสองปีที่แล้วเป็นช่วงจุดประกายหรือการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น พอมาในปัจจุบันเรื่องของการค้าเสรีได้เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ดังนั้นอาจจะต้องรออีกสองสามปี ถึงจะเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร
หวังว่าเนื้อหาในสัปดาห์นี้คงพอจะทำให้ท่านผู้อ่านได้ย้อนกลับไปดูแนวโน้มทางการจัดการที่สำคัญๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาผ่านทางหนังสือขายดีของแต่ละปีนะครับ ก็คงจะต้องดูกันต่อปีว่าในปี 2548 ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะมีหนังสือหรือแนวโน้มทางด้านการจัดการอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจบ้าง สุดท้ายก็ขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ แล้วเจอกันใหม่ในปีหน้า