15 December 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอสุดยอดหนังสือด้านการบริหารกลยุทธ์ของปี 2547 มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากัน ซึ่งผมว่าพอจะทำให้เห็นแนวโน้มทางการจัดการกลยุทธ์ที่สำคัญในปีที่ผ่านมา โดยผลการจัดลำดับนั้นได้มาจากการสำรวจของวารสาร Strategy + Business ซึ่งเป็นวารสารในเครือของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง Booz Allen Hamilton สัปดาห์นี้ผมก็เลยขอต่อด้วยสุดยอดหนังสือด้านการบริหารจัดการกันบ้างนะครับ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีดีๆ อยู่หลายเล่มด้วยกัน (ส่วนใหญ่แล้วจะมีขายในประเทศไทย ลองหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และเอเซียบุคส์นะครับ)
เริ่มกันเล่มแรกที่ Managers Not MBAs: A Hard Look at the Soft Practice of Managing and Management Development เขียนโดยอาจารย์ชื่อดังทางด้านการจัดการ Henry Mintzberg ครับ หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหนาพอสมควร แต่เป็นหนังสือที่ผมว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร MBA ควรจะได้อ่าน เนื่องจาก Mintzberg ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องของการศึกษาทางด้าน MBA ในการพัฒนาผู้ที่จะเป็นผู้บริหารต่อไป พร้อมทั้งได้นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาผู้บริหารที่ไม่ใช่หลักสูตรเอ็มบีเอ และในช่วงหลังผมเจอบทความของนักวิชาการหลายคนที่พูดถึงจุดบกพร่องของหลักสูตร MBA แบบดั้งเดิมมากขึ้น ที่อเมริกาในปัจจุบันอัตราส่วนของผู้สมัครต่อจำนวนที่รับของหลักสูตรเอ็มบีเอชั้นนำจะเริ่มต่ำกว่าหลักสูตร MFA (Master of Fine Art) กันแล้วนะครับ
เล่มที่สองชื่อ A Bias for Action: How Effective Managers Harness Their Willpower, Achieve Results, and Stop Wasting Time เขียนโดย Heike Bruch และ Sumantra Ghoshal (เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานมานี่เองครับ) โดยหนังสือเล่มนี้จะเน้นในการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการที่จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อที่จะทำงานให้สำเร็จ หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดที่ดีๆ หลายอย่างเกี่ยวการทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
เล่มถัดมาเขียนโดย CEO ของบริษัท Semco ในประเทศบราซิล (Ricardo Semler) ชื่อ The Seven-Day Weekend: Changing the Way Work Works เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มครับ โดยที่บริษัทนี้เขาได้พัฒนาระบบในการบริหารในรูปแบบใหม่ขึ้นมาที่ทำให้กลายเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก โดยแทนที่จะยึดตามหลักการบริหารแบบดั้งเดิมที่เราเรียนกันมา เขากลับลดกำแพงกั้น ลดกรอบ ระเบียบ ปฏิบัติต่างๆ และให้บุคลากรของเขามีอิสระมากขึ้น ผมเองจำได้เคยนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มานำเสนอท่านผู้อ่าน ลองกลับไปดูเล่มเก่าๆ ดูนะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะสงสัยว่ามีบริษัทไหนอีกไหมที่สามารถทำได้แบบ Semco
เล่มต่อมาเป็นหนังสือที่ขายดีในประเทศไทยเล่มหนึ่งครับ ชื่อ The Toyota Way: 14 Management Principles from the World’s Greatest Manufacturer เขียนโดย Jeffrey K. Liker เป็นหนังสือที่พูดถึงหลักการในการบริหารของโตโยต้าที่โด่งดังไปทั่วโลก (ในเรื่องของ Lean Production) โดยหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงหลักการ 14 ข้อของโตโยต้า ที่เขาใช้ในการบริหารจัดการ หนังสือเล่มถัดมาก็นำเอาบริษัทอีกบริษัทมาอธิบายอย่างละเอียดเช่นเดียวกับเล่มที่ผ่านมา นั้นคือ The Real Thing: Truth and Power at the Coca-Cola Company เขียนโดย Constance L. Hays เพียงแต่หนังสือเล่มนี้แตกต่างจาก The Toyota Way ในประเด็นที่ว่าเป็นการนำเอาเหตุการณ์ที่สำคัญของโคคาโคล่า ในรอบ 20 ปี มาเขียนในเชิงของกรณีศึกษา และนับเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เราได้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของผู้บริหารสูงสุดต่อความเจริญหรือปัญหาของโคคาโคล่า
หนังสือที่ได้รับการจัดอันดับทางด้านการบริหารจัดการเป็นเล่มสุดท้ายชื่อ Predictable Surprises: The Disasters You Should Have Seen Coming and How to Prevent Them โดย Max H. Bazerman และ Michael D. Watkins เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นไปตามชื่อเลยครับ นั้นคือความแปลกใจ (ในเชิงร้ายๆ นะครับ) หลายอย่างสามารถที่จะเห็นหรือคาดการณ์ได้ล่วงหน้าแต่ทำไมเรามักจะไม่ป้องกันไว้ก่อน (ฟังดูคล้ายๆ กับการบริหารความเสี่ยงนะครับ) คำว่า Predictable Surprise นั้นผู้เขียนทั้งสองท่านให้คำนิยามไว้ว่าเป็นผลจากปัญหาที่เราทราบว่ามีอยู่ และความรุนแรงของปัญหานั้นก็มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นปัญหาอยู่ แต่ก็มักจะไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาในเรื่องของต้นทุนที่สูงในการแก้ปัญหาให้จบสิ้นตั้งแต่แรก หรือบุคลากรบางกลุ่มไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือบุคลากรส่วนน้อยต่อต้าน เนื่องจากถ้ามีการแก้ไขปัญหานั้น ก็อาจจะทำให้บุคลากรกลุ่มนั้นเสียผลประโยชน์ไปได้ หนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างของเหตุการณ์ 11 กันยา และเหตุการณ์ Enron เป็นกรณีศึกษาว่าเป็น Predictable Surprise ที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้
ยังพอมีเนื้อที่เหลือเรามาดูหนังสือในหมวดอื่นที่น่าสนใจบ้างนะครับ (แต่เป็นแบบสั้นๆ นะครับ) ในด้านภาวะผู้นำนั้น หนังสือที่ได้รับยกย่องให้เป็นสุดยอดของปี 2547 ประกอบด้วย 1) Authentic Leadership โดย Bill George (จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วครับ แต่สงสัยเพิ่งมาดังช่วงหลัง) 2) Why CEOs Fail โดย David L. Dotlich และ Peter C. Cairo 3) Testosterone Inc. โดย Christopher Byron (หนังสือเล่มนี้มุ่งเผยด้านมืดของซีอีโอหลายๆ คนครับ โดยมุ่งเป้าไปที่ Jack Welch เป็นหลัก) 4) The Price of Loyalty โดย Paul O’Neill (ท่านผู้อ่านอาจจะจำผู้เขียนท่านนี้ได้ครับ เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในสมัยแรกของประธานาธิบดีบุช และถูกให้ออก เป็นหนังสือที่เล่าผู้นำที่ต้องการความภักดีจากลูกน้อง แต่ไม่ทำตัวให้น่าภักดีด้วย) 5) Alexander Hamilton โดย Ron Chernow (เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติของบุคคลคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำ)
จริงๆ แล้วยังมีในอีกหลายหมวดนะครับที่เขาได้มีการจัดลำดับสุดยอดหนังสือแห่งปี 2547 เอาไว้ แต่ขออนุญาตนำเสนอเพียงแค่สามหมวดนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากวารสารที่ผมแจ้งไว้ในตอนต้นนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาเจอกันใหม่ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของปีพอดีนะครับ