21 January 2005

ทุกคนคงทราบนะครับว่าคนเป็นปัจจัยที่สำคัญขององค์กร และทุกองค์กรก็พยายามที่จะทำให้บุคลากรของตนเองทำงานอย่างมีความสุขรวมถึงสามารถรักษาและพัฒนาบุคลากรที่มีค่าไว้ให้อยู่กับองค์กรให้ได้นานที่สุด ปัญหาก็คือในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร แต่จะทำอย่างไร ถึงจะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน และพนักงานที่มีคุณภาพก็อยู่กับบริษัทนานๆ สำหรับในประเทศไทยท่านผู้อ่านอาจจะต้องมองไปรอบๆ ตัวแล้วช่วยกันคิดว่าองค์กรหรือบริษัทไหนเป็นสถานที่ๆ น่าจะทำงานด้วยมากที่สุด แต่ในอเมริกานั้นทางวารสาร Fortune (ฉบับแรกของปี 2548 นี้) เขาได้มีการสำรวจบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดมา 100 แห่ง ซึ่งการสำรวจดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาทำอยู่ทุกๆ ปี โดยวิธีการของเขานั้นก็หนีไม่พ้นการประเมินในเรื่องของวัฒนธรรมในการทำงานของแต่ละองค์กร รวมทั้งการส่งแบบสอบถามไปยังบุคลากรของบริษัทต่างๆ และสอบถามในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของทัศนคติเกี่ยวกับผู้บริหาร ความพึงพอใจในการทำงาน และสุดท้ายดูจากผลประโยชน์ต่างๆ ที่ให้กับพนักงานของเขา สัปดาห์นี้เรามาดูกันนะครับว่าแนวทางที่น่าสนใจของบริษัทที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดมีอะไรบ้าง

เรามาเริ่มต้นจากประเด็นหลักๆ ก่อนแล้วกันนะครับ หลายบริษัทที่อยู่ในรายชื่อที่เขาจัดลำดับได้ให้วันลาสำหรับพนักงานอย่างมโหฬาร โดยวันลาเหล่านี้เป็นวันลาพักร้อนที่บริษัทให้กับพนักงานที่ทำงานมาอย่างน้อยหนึ่งปี (โดยไม่สนด้วยนะครับว่าทำงานมานานกี่ปี) ที่นานที่สุดเป็นของบริษัท Republic Bancorp ที่ให้วันหยุดลาพักร้อนได้ถึง 35 วันต่อปี จากนั้นก็มีบริษัทต่างๆ ที่ให้รองลงมาอีกเจ็ดบริษัทที่ให้วันลาพักร้อนตั้งแต่ 27 – 31 วัน นับว่าให้แบบใจดีจริงๆ เพราะถ้ามาดูของไทยแล้วส่วนใหญ่จะให้ขั้นต่ำก่อน (ประมาณ 6 – 10 วัน) แล้วค่อยๆ สะสมมากขึ้นเมื่ออายุงานเพิ่มขึ้น แต่ที่บริษัทในรายชื่อบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด เขาไม่สะสมครับ ทำงานมาครบหนึ่งปี ก็ได้วันพักร้อนไปเลยเกือบสามสิบวันเลยครับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือมีหลายบริษัทที่อยู่ในรายชื่อที่มีสถานรับเลี้ยงเด็กอยู่ในบริษัท และการนำลูกๆ เข้ามาอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น พนักงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยครับ บริษัทออกให้ทั้งหมด อย่างเช่นบริษัท S.C. Johnson & Son มีลูกๆ พนักงานอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กทั้งสิ้น 450 คน คิดเป็นร้อยละ 13.2 ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสำหรับคุณพ่อแม่วัยทำงานนะครับ จะได้ไม่ห่วงไม่เครียดในเรื่องของการรับส่งลูกของตนเอง โดยเฉพาะพวกที่ยังไม่ถึงวัยเรียนทั้งหลาย

เรามาดูรายละเอียดนะครับว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้างที่ทำให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด บริษัที่ได้รับเลือกเป็นอันดับต้น (ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ – มีบุคลากรมากกว่า 10,000 คน) อย่างเช่น Wegmans Food Market ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกจะถือคติประจำใจเลยครับว่า พนักงานมาที่หนึ่ง ลูกค้ามาที่สอง (Employees first, customers second) ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของเราที่บอกว่าลูกค้ามาที่หนึ่งเสมอ (Customer Always Come First) แต่ที่ Wegman นั้นเขาถือว่าถ้าสามารถทำให้พนักงานมีความพอใจและมีความสุขได้ก็ย่อมทำให้ลูกค้ามีความสุขได้ หรือบริษัทชั้นนำอย่าง Starbucks จะมีผลประโยชน์ต่างๆ ที่มาก ที่น่าสนใจก็คือพนักงานทุกระดับไม่ว่าประจำหรือ Part-time จะได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ และยังรวมถึงคู่สมรส และแฟน (ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน) หรือบริษัทอย่าง Valero Energy ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงาน จะมีนโยบายเลยครับว่าผู้บริหารจะได้รับโบนัสเป็นคนสุดท้าย นั้นคือ พนักงานระดับล่างจะได้ก่อนและถ้ายังเหลือ ผู้บริหารถึงจะได้ แนวคิดนี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับแนวทางปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ นะครับ

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือบริษัทอย่าง W.L. Gore และ S.C. Johnson & Son (ซึ่งเขาถือว่าเป็นบริษัทขนาดกลาง มีบุคลากร 2,500 – 10,000 คน) จะไม่ให้ผู้บริหารประเมินพนักงานเมื่อถึงตอนปลายปี แต่จะให้พนักงานด้วยกันเองเป็นผู้ประเมินเพื่อกำหนดผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่พนักงานนั้นจะได้รับ ซึ่งผลที่ออกมาก็แปลกนะครับ นั้นคือพนักงานเขาชอบกันและอัตราการลาออกก็ต่ำมาก บริษัทหลายๆ แห่งก็ชอบที่จะทำให้ที่ทำงานเป็นที่ประทับใจ โดยมีของฟรีเล็กๆ น้อยๆ แจกพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น ที่ J.M. Smucker บริษัทจะมีขนมปังและมัฟฟิ่นให้พนักงานได้กินฟรีทุกวัน และพนักงานยังสามารถเลือกได้เองว่าจะทาขนมปังด้วยหน้าอะไร หรือที่ JM Family Enterprise เขาจะมียาฟรีไว้บริการพนักงานตลอดเวลา

นอกจากการมีประโยชน์ต่างๆ ล่อใจแล้ว การ Promote from within หรือการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งพนักงานในองค์กรเพื่อรับตำแหน่งที่สูงขึ้น แทนที่จะเสาะแสวงหาผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก ก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วย ผมนับได้เป็นสิบบริษัทเลยครับที่เขามีนโยบาย Promote from Within ในบางบริษัทอย่างเช่น Quicktip ผู้บริหารของทั้งบริษัทกว่า 400 คน เริ่มทำงานจากตำแหน่งล่างสุดแล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง บริษัทเหล่านี้จะมีนโยบายที่จะไม่แสวงหามืออาชีพเข้ามาบริหารงานเลย

ลองมาดูตัวอย่างในบริษัทขนาดเล็กบ้างนะครับ (เล็กของเขาคือมีบุคลากรระหว่าง 1,000 – 2,500 คน) บริษัทเช่น TDIndustries มีนโยบายที่แปลกครับ นั้นคือถ้าพนักงานป่วยหรือติดธุระส่วนตัว (เช่น ญาติเสีย) ทำให้ไม่มีเวลาดูแลบ้าน ทางบริษัทเขาจะมีการมอบหมายให้เพื่อนพนักงานเข้าไปช่วยดูแลงานบ้านให้ชั่วคราวก่อน หรือบริษัทชื่อ Quicken Loans เขาจะมี Ticket Window Thursday ที่ซีอีโอ จะแจกตั๋วคอนเสิร์ตหรือกีฬา ให้กับพนักงานที่ร้องเพลงผ่านระบบกระจายเสียงของบริษัท (บริษัทนี้อ่านดูแล้วก็ไม่ทราบว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานมีความสุขได้อย่างไร ถ้าผู้ร้องบางคนมีเสียงที่ไม่น่าฟัง)

จริงๆ แล้วยังมีตัวอย่างมากกว่านี้นะครับ แต่เท่าที่ดูก็พอจะสรุป ได้ว่าสิ่งที่ทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่น่าอยู่นั้นก็หนีไม่พ้นความเอาใจใส่ที่ผู้บริหารและบริษัทมีต่อตัวพนักงาน โดยการแสดงความเอาใจใส่นั้นอาจจะอยู่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าการทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่น่าสนุกสนาน หรือการมีประโยชน์ต่างๆ ที่ถูกใจพนักงาน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเดือน หุ้น ของกิน วันลาพัก สถานที่ออกกำลังกาย หรือสถานที่ดูแลเด็กๆ) หรือ การให้ความสำคัญจากการ Promote from Within ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเองย่อมมีโอกาสที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ เรียกได้ว่าสุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องของบุคลากรครับ และที่สำคัญก็คือบริษัทเหล่านี้เองจะมีอัตราการลาออกของพนักงานในระดับที่ต่ำ ซึ่งสิ่งที่ยังต้องพิสูจน์ต่อไปก็คือการทำให้บริษัทเป็นบริษัทที่น่าอยู่และอัตราการลาออกต่ำนั้นส่งผลดีต่อผลประกอบการหรือไม่? ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องรอดูต่อไปนะครับ