22 March 2005
เวลาเรานึกถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เราก็มักจะนึกถึงกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “ระดับซี” (C-Level) กันเป็นส่วนใหญ่นะครับ ไม่ว่าจะเป็น CEO, COO, CFO, CIO, CTO ฯลฯ ซึ่งนอกเหนือจากซีอีโอ ที่เป็นผู้บริหารสูงสุดแล้ว ผู้บริหารระดับ “ซี” ท่านอื่นๆ ก็จะเป็นผู้ที่มีความชำนาญและดูแลรับผิดชอบเฉพาะเรื่อง เช่น ซีเอฟโอ (CFO – Chief Financial Officer) ซึ่งชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงินของบริษัท ซึ่งถ้าดูจากชื่อก็พอจะบอกได้ต่ออีกนะครับว่าหน้าที่ความรับผิดชอบก็หนีไม่พ้นในเรื่องของการดูแล รับผิดชอบ และตัดสินใจในเรื่องของบัญชีและการเงินของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องรายงานต่างๆ การดูแลเรื่องระบบบัญชี การดูแลด้านการเงินทุกอย่างตั้งแต่การหาแหล่งเงินทุน การใช้จ่ายเงิน การดูแลด้านงบประมาณ หรือ การนำเงินไปลงทุน ฯลฯ
ถ้าท่านผู้อ่านรู้จัก CFO ที่ทำหน้าที่ในลักษณะข้างต้น หรือยังเข้าใจผิดว่าหน้าที่ของ CFO เกี่ยวข้องแต่เฉพาะทางด้านบัญชีและการเงิน ก็ต้องเรียนให้ทราบนะครับว่าแนวคิดดังกล่าวเปลี่ยนไปแล้วครับ อาจจะกล่าวได้ว่าบทบาทของผู้ที่เป็น CFO ในองค์กรธุรกิจในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต ที่ดูแลแต่เฉพาะทางด้านการเงินและบัญชีเพียงอย่างเดียว บทบาทของ CFO ในปัจจุบันขยายกว้างขึ้นและครอบคลุมในงานและหน้าที่ต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะทางด้านการเงินและบัญชีเท่านั้น ปัจจุบัน CFO จะต้องทำหน้าที่เหมือนกับเป็นทหารเอกคู่ใจและคู่ตัว CEO ที่ดูทั้งทางด้านการเงิน บัญชี กลยุทธ์ การประเมินผล หรือแม้กระทั่งการดำเนินงานขององค์กรด้วย
การเปลี่ยนแปลงในบทบาทของ CFO นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความเคร่งครัดของหน่วยงานกำกับและดูแลต่างๆ ที่ให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการบริหารมากขึ้น ประกอบกับสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องของเงินๆ จะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนี้แนวโน้มที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือหลายๆ องค์กรมีแนวโน้มที่จะยุบหรือยกเลิกตำแหน่ง COO (Chief Operating Officer) ซึ่งตามความเชื่อในอดีตนั้น CEO จะทำหน้าที่ในด้านกลยุทธ์ ทิศทางและการตัดสินใจที่สำคัญขององค์กร ส่วน COO จะทำหน้าที่เหมือนแม่บ้านที่คอยช่วยดูในรายละเอียดและงานที่ต้องดำเนินการเป็นปกติทั้งหลาย หน่วยงานชื่อ National Bureau of Economic Research ของอเมริกาได้สำรวจบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาจำนวน 300 แห่ง พบว่ามีอยู่ 20% ที่ยุบหรือยกเลิกตำแหน่ง COO ลงไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยผู้บริหารของแต่ละหน่วยธุรกิจจะรายงานตรงต่อซีอีโอมากขึ้น หรือท่านผู้อ่านลองดูองค์กรยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยจำนวนมาก เราก็จะไม่พบตำแหน่ง COO แบบที่คาดว่าจะเจอ
ทีนี้พอตำแหน่ง COO หายไป งานของ COO หลายๆ อย่างก็กลายเป็นของ CFO ไป ผมมีโอกาสเจอ CFO ขององค์กรชั้นนำของเมืองไทยหลายๆ แห่ง ที่ CFO เหล่านั้นไม่ได้ยุ่งแต่ในเรื่องของการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรู้รายละเอียดในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานทั่วๆ ไปขององค์กร รวมทั้งเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินงานขององค์กรด้วย นอกจากนี้ในต่างประเทศก็มีงานวิจัยที่สำรวจ สอบถาม CFO ชั้นนำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาหลายแห่ง และได้นำเสนอในเอกสารรายงานชื่อ Not Your Father’s CFO (โดย Couto, Heinz, Morna) ซึ่งได้สรุปออกมาเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในบทบาทหน้าที่ของ CFO ได้ดังนี้ครับ
- CFO ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการวิเคราะห์ กำหนด และนำกลยุทธ์ขององค์กรไปปฏิบัติ
- CFO ได้พยายามสร้างความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างกลยุทธ์ขององค์กร กับการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น (Shareholder Value) ทั้งนี้ในฐานะที่ CFO จะต้องดูแลในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นอยู่แล้ว ดังนั้น CFO เลยพยายามให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ที่องค์กรใช้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องต่อการเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น
- CFO ได้กลายเป็นผู้ผลักดันหลักในการนำระบบในการประเมินผลการดำเนินงานเข้ามาใช้ จนบางแห่งก็เรียกเป็น Chief Metrics Officers เช่น CFO ของบริษัท Cargill ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเกษตรได้ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่าหน้าที่และบทบาทของ CFO ก็คือการดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าบุคลากรในองค์กรมีพฤติกรรมที่ต้องการและทุกคนมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ ดังนั้นการนำระบบการวัดและประเมินผลมาใช้ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ทุกคนมีพฤติกรรมที่ต้องการและมุ่งเน้นต่อกลยุทธ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ CFO
- ความสามารถในการสื่อสารต่อบุคลากรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร กลายเป็นสมรรถนะและคุณลักษณะที่สำคัญของ CFO เช่น CFO ของ Bertelsmann ยักษ์ใหญ่ของเยอรมันระบุไว้เลยครับว่า CFO จะต้องเป็นนักบัญชี / การเงินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นนักกลยุทธ์ และที่สำคัญจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ดีในบทบาททั้งสองประการ
- CFO ในปัจจุบันจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการสร้างหน่วยงานของตนเองที่ประกอบด้วยบุคลากรที่มีประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น ในอดีตเรามักจะนึกถึงพวกที่อยู่ในงานบัญชีและการเงิน เป็นพวกที่รู้เฉพาะด้าน แต่ในปัจจุบัน CFO ที่ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองที่เปลี่ยนไป เลยพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความหลากหลายมากขึ้น CFO ของ FedEx บอกว่าเขาพยายามที่จะกระตุ้นให้ลูกน้องในฝ่ายการเงินได้ออกไปทำงานในส่วนอื่นๆ ในบริษัทเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการช่วยตัวบริษัทเอง และทำให้โลกทัศน์ของคนในส่วนงานของเขากว้างขึ้น
- CFO จะเป็นผู้ผลักดันในเรื่องของการนำระบบการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น ซึ่งในอดีตเราอาจจะมีความเข้าใจว่า CFO จะมุ่งเน้นแต่เฉพาะความเสี่ยงทางด้านการเงินเท่านั้น แต่จากโลกทัศน์และความรับผิดชอบของ CFO ที่กว้างขึ้น ทำให้การบริหารความเสี่ยงที่ CFO ยุคใหม่นำเข้ามาใช้ในองค์กร จะเป็นความเสี่ยงในทุกๆ ด้านที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กร
- CFO เองจะทำหน้าที่ในการเป็นหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงในองค์กรมากขึ้น ผมเองได้ประสบกับตนเองในองค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทยที่ CFO จะเข้าไปมีบทบาทคู่กับซีอีโอในการนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ในองค์กร และ CFO ท่านนั้นก็มีวิสัยทัศน์ที่กว้างด้วย นั้นคือแทนที่จะมองแต่เฉพาะในด้านการเงินและบัญชีเพียงอย่างเดียว กลับมองภาพรวมในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทและอุตสาหกรรมได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เรียกได้ว่าเป็นขุนพลคู่ใจของซีอีโอเลยทีเดียว
อาจจะสรุปได้ว่าบทบาทของ CFO ทุกแห่งจะต้องเปลี่ยนไปนะครับ ถ้าในองค์กรไหนที่ CFO ยังเป็นในลักษณะเดิมๆ และมองแต่เฉพาะด้านแคบๆ ทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว องค์กรนั้นก็จะต้องพิจารณาตัวเองกันหน่อยนะครับ เพราะในกระแสการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน CFO จะต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนและขุนพลคู่คิดของซีอีโอทั้งในด้านการเงิน ด้านกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งในด้านการดำเนินงานทั่วๆ ไป