23 March 2005
ในสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอในเรื่องของบทบาทของ CFO ที่เปลี่ยนไป สัปดาห์นี้ เรามาดูบทบาทของคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ที่จะต้องเปลี่ยนไปบ้างครับ โดยบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลกอย่าง McKinsey เขาได้มีการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการบริษัททั่วโลกกว่า 1,000 คนถึงบทบาทหน้าที่ของกรรมการบริษัทในปัจจุบัน และค้นพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในบทบาทและหน้าที่ของกรรมการบริษัทครับ จากในอดีตที่เวลาเรานึกถึงกรรมการบริษัทที่สนใจแต่รายงานหรือข้อมูลทางด้านการเงิน รวมทั้งในด้านของความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ (หรือในบางบริษัทในเมืองไทย จะบอกว่ากรรมการบริษัทมีหน้าที่มาประชุมให้ครบและรับเบี้ยประชุมไปเท่านั้นเอง) แต่ในปัจจุบันกรรมการบริษัทจะให้ความสนใจและความสำคัญต่อประเด็นต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการกำหนดกลยุทธ์ การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงขององค์กร การพัฒนาบุคลากรให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ รวมทั้งสนใจต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวขององค์กร
สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของคณะกรรมการบริษัทก็หนีไม่พ้นความตื่นตัวในเรื่องของการบริหารที่โปร่งใสและถูกหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งบรรดากรรมการบริหารทั้งหลายก็เริ่มเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น จากผลการสำรวจของ McKinsey เขาพบว่าในปัจจุบันกรรมการบริษัทส่วนใหญ่อยากจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการบริหารงานบริษัทในสามด้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นคงในระยะยาวของบริษัท กลยุทธ์และความเสี่ยง และเรื่องของผู้นำ
ในปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทโดยส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นที่การตรวจดูและสำรวจในผลประกอบการด้านการเงินของบริษัท ซึ่งถือเป็นการมองในระยะสั้น แต่จากการสำรวจผลพบคณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่อยากจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในมุมมองระยะยาวของบริษัทเพิ่มมากขึ้น กว่าร้อยละ 70 ของกรรมการบริษัทที่สำรวจต้องการที่จะรู้ในข้อมูลเกี่ยวกับด้านการตลาดและการแข่งขันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านลูกค้า คู่แข่งขัน ผู้ผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนแบ่งตลาด ระดับความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าและบริการ ฯลฯ เรียกได้ว่าข้อมูลทางด้านการตลาดและการแข่งขันที่ปกติผู้บริหารระดับสูงจะดู ทางคณะกรรมการบริษัทเขาก็อยากที่จะทราบด้วย นอกจากนี้กว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการบริษัทที่สำรวจ ที่ใส่ใจและต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวองค์กรเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะ ความสามารถ ความพอใจของบุคลากร โครงสร้าง วัฒนธรรม และค่านิยมต่างๆ ขององค์กร
ข้อมูลข้างต้นคือสิ่งที่คณะกรรมการบริษัทอยากที่จะทราบมากขึ้น ทีนี้เรามาดูข้อมูลในลักษณะคล้ายๆ กันครับ นั้นคือกิจกรรมหรือประเด็นที่ทางคณะกรรมการบริษัทอยากจะใช้เวลาในการอภิปรายหรือพูดคุยถึงมากขึ้น ซึ่งผลจากการสำรวจอันดับหนึ่งได้แก่เรื่องของทักษะ ความสามารถของบุคลากร ตามมาติดๆ ด้วยเรื่องของกลยุทธ์และความเสี่ยง การพัฒนาผู้บริหาร การประเมินผลการทำงานของผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งในเรื่องผลการดำเนินงานขององค์กร
เข้าใจว่าประเด็นสำคัญก็คือบรรดากรรมการบริษัทต่างๆ เหล่านี้จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างมุมมองในระยะสั้น (ด้านการเงิน ที่เป็นงานที่ทำมาและมุ่งเน้นในอดีต) และระยะยาว (ด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยง บุคลากร ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่คณะกรรมการบริษัทยุคใหม่ให้ความใส่ใจ) ให้ได้ โดยไม่เอนเอียงหรือสนใจในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ซึ่งวิธีที่หลายๆ บริษัทเขาใช้กันก็คือ ทางคณะกรรมการบริษัทจะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบตัวชี้วัดและผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของบริษัทในครอบคลุม หลายๆ บริษัทในเมืองไทยคณะกรรมการบริษัทจะใช้ Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือในการกำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท
ในส่วนความสนใจในด้านของกลยุทธ์และความเสี่ยงนั้น กว่าสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากจะใช้เวลาและความสนใจในเรื่องของกลยุทธ์และความเสี่ยงที่องค์กรจะต้องเผชิญเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทจำนวนมากที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงความไม่ไว้วางใจต่อคณะผู้บริหารระดับสูงอย่างเต็มที่ต่อการบริหาร และความต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริษัทเพิ่มมากขึ้น
ผลจากการสำรวจพบว่าประมาณหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการบริษัทนั้นมีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัท กว่าครึ่งหนึ่งที่มีความรู้ที่จำกัด (หมายถึงไม่เข้าใจโดยถ่องแท้) ถึงทิศทางในอนาคตของบริษัท มากกว่าครึ่งที่มีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับประเด็นหรือกิจกรรมทางกลยุทธ์ที่สำคัญที่บริษัทกำลังมุ่งเน้นอยู่ และหนึ่งในสี่ที่มีความรู้ที่จำกัดหรือไม่มีเลยเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับบริษัท นอกเหนือจากการที่ตนเองขาดความรู้ ความเข้าใจในทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทแล้ว บรรดากรรมการบริษัทส่วนหนึ่งยังไม่ไว้วางใจต่อผู้บริหารในด้านการบริหารจัดการบริษัทเลย มีเพียงแต่กรรมการบริษัทร้อยละ 8 เท่านั้นที่ไว้วางใจและคิดว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีความรู้ ความเข้าใจต่อกลยุทธ์และสิ่งที่บริษัทจะมุ่งเน้น จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและกรรมการบริษัทที่จะต้องเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านกลยุทธ์ กรรมการบริษัทเองคงจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องต่อกระบวนการในการพัฒนากลยุทธ์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งกระบวนการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เมื่อเวลาผ่านไป
ประเด็นสุดท้ายที่คณะกรรมการบริษัทอยากจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ก็คือในเรื่องของการพัฒนาและเตรียมพร้อมผู้บริษัท ซึ่งก็มีในส่วนของผู้บริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนา สรรหา และแต่งตั้ง และยังรวมไปถึงผู้บริหารในระดับรองๆ ลงมาอีกด้วย
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยถึงบทบาทของคณะกรรมการบริษัที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับคณะกรรมการบริษัท และจากบทบาทหน้าที่ซึ่งจะต้องเปลี่ยนไปนั้น ตัวกรรมการบริษัทก็จะต้องมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเวลาที่จำกัดของบรรดากรรมการบริษัทต่างๆ ทำให้พวกเขาจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญก็คือข้อมูลที่คณะกรรมการบริษัทได้รับ เพื่อนำมาใช้ในการอภิปรายและพูดคุยในห้องประชุม จะต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ไม่มากเกินไป และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และที่สำคัญสุดก็คือทั้งคณะกรรมการบริษัทและตัวผู้บริหารระดับสูงเองจะต้องเข้าใจถึงบทบาทของกรรมการบริษัทที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป และจะต้องหาทางใช้ประโยชน์จากบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท