11 May 2005

ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับล่าสุด (พฤษภาคม 2548) มีบทความหนึ่งซึ่งโดนใจผมมาก เลยต้องขออนุญาตสรุปเนื้อหาของบทความดังกล่าวมาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันนะครับ บทความดังกล่าวเขียนขึ้นโดย Warren G. Bennis และ James O’Toole ซึ่ง Bennis นั้นถือเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาวะผู้นำระดับโลก ส่วน O’Toole นั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่ University of Southern California เช่นเดียวกับ Bennis บทความดังกล่าวชื่อ ‘How Business Schools Lost Their Way’ ซึ่งสรุปสั้นๆ แล้วก็กล่าวว่าสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจส่วนใหญ่ของอเมริกากำลังไปในทิศทางที่ผิดและจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งอย่างที่เรียนไว้ตอนต้นว่าอ่านแล้วโดนใจ และคิดว่าน่าจะนำมาเป็นข้อคิดให้กับสถาบันการศึกษาในเมืองไทยได้บ้าง เรามาดูกันนะครับว่า Bennis และ O’Toole นำเสนออะไร

            ทั้งคู่เริ่มต้นจากการระบุว่าปัจจุบันหลักสูตร MBA ทั้งหลายในอเมริกากำลังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรถึงการที่ไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่ออกมาแล้สมีทักษะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ในด้านการบริหารธุรกิจ รวมถึงการที่ไม่สามารถที่จะเตรียมบัณฑิตของตนเองให้เป็นผู้บริหารในอนาคต อีกทั้งไม่สามารถทำให้บัณฑิตของตนเองสามารถปฏิบัติตามจริยธรรมที่เหมาะสม ผู้เขียนบทความทั้งคู่มองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจได้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากหลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรนั้นเป็นเพียงแค่ผลเท่านั้น แต่เหตุจริงๆ นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากสถาบันการศึกษาเหล่านั้นได้ใช้โมเดลหรือรูปแบบในการบริหารที่ผิดและไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางในการที่จะทำให้สถาบันของตนเองมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ

            ดูเหมือนคำกล่าวหาข้างบนอาจจะแรงไปหน่อยนะครับ แต่ถ้าย้อนกลับมาดูตัวอย่างหลายๆ แห่งในเมืองไทยเราก็ไม่ค่อยแปลงหรอกครับ สถาบันด้านบริหารธุรกิจทุกแห่งต่างต้องการสร้างความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ แต่แนวทางหรือวิธีการที่จะทำให้ตนเองมีความเป็นเลิศทางวิชาการได้นั้น กลับไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าหลักของตนเองได้ (ภาคธุรกิจ) ผู้เขียนบทความทั้งคู่ระบุเลยว่าแค่ตัวชี้วัดที่สถาบันการศึกษาเหล่านั้นใช้ก็ผิดแล้ว แทนที่จะวัดที่ความสามารถของบัณฑิตตนเอง หรือ ความสามารถของคณาจารย์ตนเองว่ามีความเข้าใจในธุรกิจจริงๆ มากน้อยเพียงใด สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะชอบวัดความสำเร็จของตนเองจากความสามารถในการผลิตงานวิจัย และงานวิจัยเหล่านั้นก็ไม่ใช่งานวิจัยที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจได้ แต่เป็นงานวิจัยที่เน้นทางด้านวิชาการ และต้องถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ทางสถิติขั้นสูง หรือ โมเดลทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินที่สลับซับซ้อน เป็นหลัก

            ท่านผู้อ่านลองเปิดอ่านวารสารทางวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจดูนะครับ แล้วท่านจะพบว่าในหลายๆ วารสารหรือหลายๆ บทความที่เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยนั้น ท่านจะอ่านไม่รู้เรื่องเลย เนื่องจากเต็มไปด้วยสมการทางสถิติ หรือสูตรต่างๆ จริงอยู่นะครับที่งานวิจัยบางชิ้นอาจจะเป็นงานวิจัยชิ้นเยี่ยม แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าใดๆ กับผู้ปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจเลย ผู้เขียนบทความดังคู่ระบุเลยครับว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านวิชาการของสถาบันบริหารธุรกิจมุ่งเน้นที่การผลิตผลงานวิชาการที่คนปฏิบัติไม่สามารถเข้าใจได้นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากบรรดานักวิชาการด้านบริหารธุรกิจทั้งหลายมองว่าการบริหารธุรกิจ หรือ การจัดการนั้นเป็นศาสตร์ (Academic Disciplince) ทางวิชาการเช่นเดียวกับฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่ผู้เขียนบทความทั้งคู่กลับมีความเห็นว่า การบริหารธุรกิจนั้นไม่ควรจะถูกมองเป็นศาสตร์ทางวิชาการ แต่มองเป็นวิชาชีพ (Profession) เช่นเดียวกับแพทย์หรือกฎหมายมากกว่า

ดังนั้นการบริหารธุรกิจนั้นควรจะเป็นการผสมผสานและเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์หลายๆ แขนง เช่นเดียวกับเดียวกับแพทย์และกฎหมาย ท่านผู้อ่านลองดูการศึกษาทางด้านแพทย์ก็ได้ครับ เขาจะต้องศึกษาในหลายๆ ศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นชีวะ เคมี จิตวิทยา ดังนั้นศึกษาด้านบริหารธุรกิจนั้นก็ควรจะเป็นการศึกษาที่ประกอบด้วยหลายๆ ศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ฯลฯ  Bennis และ O’Toole เชื่อว่าสถาบันการศึกษาเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้ายังคงมองบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์ ไม่ใช่วิชาชีพ และถ้าความแตกต่างว่าบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์หรือวิชาชีพนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ลักษณะของงานวิจัย เนื่องจากถ้าคิดว่าบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์นั้น การผลิตผลงานวิชาการก็จะต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปแบบทางสถิติขั้นสูง หรือ สมการที่ยากๆ หรือ การทดลองทางด้านสังคมที่ใช้ในการดูพฤติกรรมของคน

            ทีนี้เราคงจะต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เลยว่าทำไมสถาบันการศึกษาเหล่านี้ถึงเน้นและให้ความสำคัญการแนวคิดของศาสตร์ทางวิชาการกันค่อนข้างมาก ภารกิจหลักๆ ของสถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็จะหนีไม่พ้นการให้ความรู้กับบัณฑิตหรือสังคมที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้ และการพัฒนาความก้าวหน้าทางความรู้ผ่านทางงานวิจัย แต่ในอดีตนั้นสถาบันเหล่านี้มักจะมุ่งที่ภารกิจข้อแรกเป็นหลัก (การให้ความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้) ดังนั้นบรรดาคณาจารย์ของสถาบันเหล่านี้ก็มักจะเป็นอดีตผู้บริหาร หรือ ผู้บริหารปัจจุบันที่มาสอนหนังสือ ซึ่งก็มีข้อดีนะครับในแง่ของประโยชน์ที่ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการตอบสนองต่อความเป็นสถาบันการศึกษาเท่าใด จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่มีการศึกษาออกมาที่แสดงถึงปัญหาที่สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจประสบ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่าการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ สถาบันการศึกษาเหล่านั้นจะต้องผลิตผลงานวิชาการออกมามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของศาสตร์ทางวิชาการมากขึ้น พร้อมทั้งระบุด้วยอีกว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นหาทางหลักในการทำให้ได้เงินบริจาคและสนับสนุน

            พอถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเดาได้แล้วนะครับว่า เพื่อให้มีสถานะความเป็นเลิศทางวิชาการและมีเงินทุนมาสนับสนุน บรรดาสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจเหล่านั้นจึงต้องเพียรพยายามผลิตงานวิชาการกันออกมาอย่างมากมาย จนกระทั่งในหลายๆ สถานการณ์วัตถุประสงค์หลักของสถาบันเหล่านั้นกลายเป็นการผลิตผลงานวิชาการ (ในเชิงวิทยาศาสตร์) เป็นหลัก แต่จากปัญหาในปัจจุบันนั้นจะให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นย้อนกลับไปหาวิธีการแบบเดิมๆ (เน้นการสอนเชิงปฏิบัติ) ก็มีแต่นำพาไปสู่ความหายนะ ดังนั้นคงจะต้องหาจุดสมดุลให้เจอครับ ซึ่งในสัปดาห์หน้าผมจะมาตอนนะครับ แล้วเราลองมาดูกันว่าเจ้า “จุดสมดุล” ดังกล่าวนั้นอยู่ตรงไหน

ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 5 แล้วนะครับ