18 May 2005
สัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอเนื้อหาต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือแนวคิดที่สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยเนื้อหาหลักนั้นนำมาจากบทความในวารสาร Harvard Business Review ฉบับพฤษภาคม 2548 เขียนขึ้นโดย Warren G. Bennis และ James O’Toole ชื่อ ‘How Business Schools Lost Their Way’ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นการเกริ่นถึงที่มาของแนวคิดการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในปัจจุบัน และสาเหตุว่าทำไมสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจถึงจะต้องปรับตัว ซึ่งประเด็นหลักๆ ก็คือสถาบันส่วนใหญ่ยังมองการบริหารธุรกิจเป็น ศาสตร์ (Discipline) มากกว่าความเป็นวิชาชีพ (Profession) ที่จะต้องประกอบด้วยศาสตร์หลายๆ ศาสตร์
การมองว่าการบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์มากกว่าเป็นวิชาชีพ ทำให้งานวิจัยของบรรดาอาจารย์ตามสถาบันต่างๆ มุ่งเน้นการนำเทคนิคและหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สถิติขั้นสูงหรือการทดลองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบุคคลต่างๆ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูแล้วกันนะครับว่าบรรดาอาจารย์ส่วนใหญ่ทางด้านบริหารธุรกิจก็จะทำแบบสอบถาม เพื่อเก็บข้อมูล หรือ เก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่ หลังจากนั้นก็นำมาเข้าสมการทางสถิติเพื่อหาความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงในรูปแบบต่างๆ หลังจากนั้นก็สรุปได้ว่าปัจจัยทางธุรกิจตัวใดที่ส่งผลกระทบหรือไม่ส่งผลกระทบต่ออีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อสรุปที่บรรดาอาจารย์เหล่านั้นได้มาโดยไม่ได้ไปสัมผัสประสบการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจแต่อย่างใด คำถามที่สำคัญก็คือสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นทำมีความถูกต้องทางหลักวิชาการทุกประการ แต่สามารถนำผลการศึกษาที่ได้นั้นมาปรับใช้กับทางธุรกิจหรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจจริงๆ ที่มีเงื่อนไขและปัจจัยที่มาเป็นข้อจำกัดทางด้านการตัดสินใจเต็มไปหมด (เวลาทำวิจัยนักวิชาการจะหาทางหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีอยู่มากมาย โดยไม่นำตัวแปรเหล่านั้นมาคิด)
ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจหลายๆ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาข้างต้น และแย้งว่าในสถาบันของท่านให้ความสำคัญกับโลกธุรกิจ และแนวคิดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ แต่เราจะต้องดูที่ความเป็นจริงครับว่าในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งนั้นได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดที่สามารถปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด เคยได้ยินมาว่าในสถาบันการศึกษาบางแห่งถ้าอาจารย์จะขอทุนวิจัยของหน่วยงานตนเอง งานวิจัยนั้นควรจะประกอบด้วยโมเดลและแนวคิดทางสถิติที่สลับซับซ้อน (จนกระทั่งพวกอาจารย์ด้วยกันเองยังอ่านไม่รู้เรื่อง) ถึงจะมีโอกาสได้ทุน แต่ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจที่เน้นหาความจริงจากทางภาคธุรกิจ และไม่มีโมเดลสถิติเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะๆ โอกาสที่จะได้ทุนวิจัยก็จะน้อย แสดงให้เห็นว่าต่อให้ผู้บริหารของสถาบันการศึกษาพูดว่าสถาบันของตนเองเน้นภาคปฏิบัติมากเพียงใด แต่การสนับสนุนและจูงใจนั้นกลับยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
ผลจากการที่สถาบันส่งเสริมให้ทำวิจัยที่เน้นวิเคราะห์เยอะๆ โมเดลที่สลับซับซ้อน ก็คืออาจารย์ก็จะสอนในสิ่งที่ตนเองคุ้นเคย ดังนั้นเมื่ออาจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจที่มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์มาสอนวิชาทางด้านบริหารธุรกิจต่างๆ ก็มักจะสอนในแนวที่ตนเองถนัด โดยไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ในด้านต่างๆ ที่หลากหลายได้ จะสังเกตได้ว่าอาจารย์หลายๆ ท่านจะถนัดเป็นนักเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล แต่พอเจอกรณีศึกษาที่สลับซับซ้อน หรือ จะต้องอาศัยหลายๆ ศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ ต้องอาศัยการตัดสินใจเข้ามาช่วย อาจารย์เหล่านั้นจะไม่สามารถตอบสนองต่อโจทย์ที่เข้ามาได้ ดังนั้นสิ่งที่เริ่มจะเห็นได้ก็คือวิชาหลายๆ วิชาในการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ จะเริ่มให้ความสนใจที่น้อยลงต่อการเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษา แต่จะให้มุ่งไปที่ทักษะและความสามารถในเชิงการวิเคราะห์ตัวเลขมากขึ้น
คำแนะนำที่น่าสนใจจากผู้เขียนบทความทั้งสองท่านก็คือ ให้สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจลองศึกษาตัวอย่างจากสถาบันการศึกษาทางด้านกฎหมาย (Law School) ดู เนื่องจากโรงเรียนกฎหมายนั้นมองตนเองเป็นวิชาชีพที่ผู้เรียนจะต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจจากหลายๆ ศาสตร์ และในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญในการสอนและงานเขียนที่สามารถเป็นที่เข้าใจของผู้อื่นได้ (Pragmatic Writing) (ซึ่งตรงข้ามกับสถาบันทางด้านบริหารธุรกิจที่ถ้างานไหนคนอ่านๆ เข้าใจง่าย ก็จะมีคุณค่าทางวิชาการน้อยกว่างานที่อ่านไม่รู้เรื่อง) สำหรับงานวิจัยก็ยังสำคัญอยู่ในโรงเรียนกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์มากกว่า หรือ กรณีของ Harvard Business School สถาบันชื่อดังของอเมริกาที่ยังให้ความสำคัญต่อการเรียนด้วยกรณีศึกษา แถมยังนำเอาการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาวิชา เป็นเกณฑ์หนึ่งในการประเมินผลตัวอาจารย์ด้วย ซึ่งแตกต่างจากสถาบันส่วนใหญ่ ที่เกณฑ์ประเมินผลมักจะออกมาในรูปของผลงานวิชาการ มากกว่าการพัฒนารายวิชา
ข้อแนะนำอีกประการที่น่าสนใจก็คือ สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ (โดยเฉพาะ MBA) ควรจะมีความหลากหลายในวิชาต่างๆ มากขึ้น (Multidisciplinary) นอกจากนี้วิชาต่างๆ ที่สอนก็ควรจะเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถนำไปปฏิบัติ และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเผชิญปัญหาต่างๆ และการตัดสินใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถาบันการศึกษาเหล่านี้ควรที่ลดบทบาทหรือไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ (มุ่งเน้นสถิติหรือการวิเคราะห์ด้วยโมเดลขั้นสูง) เลยนะครับ แต่ควรจะหาจุดสมดุลที่เหมาะสม สถาบันการศึกษาควรที่จะมีอาจารย์ที่มีความหลากหลายในสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้น และตัวอาจารย์แต่ละท่านเองก็จะต้องสร้างความสมดุลในตัวเองด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากนะครับ เนื่องจากอาจารย์จำนวนมากยังให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญทางวิชาการเฉพาะด้าน รวมทั้งไม่พร้อมที่จะยอมรับต่อความหลากหลายทางวิชาการ ซึ่งคงจะต้องเป็นเรื่องของนโยบายของสถาบันแต่ละแห่งครับ ที่จะต้องหาหนทางในการปรับปรุงทั้งหลักสูตร ทัศนคติและแนวคิดของอาจารย์ตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น ท่านผู้อ่านอาจจะมองไปรอบๆ สถาบันที่ท่านคุ้นเคยดูนะครับว่ามีลักษณะอย่างไร สมดุลแล้วหรือยัง หรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 5 แล้วนะครับ