17 July 2005

จำได้ว่าเมื่อตอนต้นปีเคยเขียนบทความเรื่องการบริหารความเสี่ยงผ่านทางคอลัมภ์นี้ไปครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นจะเน้นหนักที่ระบบบริหารความเสี่ยงที่เราเรียกกันว่า ERM (Enterprise Risk Management) กันเป็นหลัก และผมเองก็พบว่าในปัจจุบันเรื่องของการบริหารความเสี่ยงได้กลายเป็นประเด็นร้อน (Hot Topics) ในแวดวงด้านการบริหาร สัปดาห์นี้ผมเลยขอนำเสนอเจาะลึกลงไปในความเสี่ยงประการหนึ่งนั้นก็คือความเสี่ยงทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Risks จริงๆ แล้วความเสี่ยงก็มีอยู่หลายด้านนะครับ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านการดำเนินงาน หรือด้านเครดิต แต่ดูเหมือนด้านที่จะได้รับความสนใจน้อยที่สุด จะเป็นในด้านกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะเนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากที่สุดก็เป็นไปได้นะครับ

ก่อนลงไปในรายละเอียดท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปที่กระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ที่เราใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปกันบ้างนะครับ ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในองค์กร เพื่อนำมากำหนดเป็นทิศทาง วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ขององค์กร จนกระทั่งถ่ายทอดลงมายังแผนปฏิบัติการและการตั้งงบประมาณ ทีนี้ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าในกระบวนการบริหารกลยุทธ์ทั่วๆ ไปนั้นได้มีการคำนึงถึงหรือพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่? จริงๆ แล้วเรื่องของกลยุทธ์น่าจะเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากที่สุดแล้วนะครับ เนื่องจากว่าองค์กรส่วนใหญ่ จะดำเนินงานอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและไม่นิ่งตลอดเวลา ดังนั้นกลยุทธ์กับความเสี่ยงจึงควรที่จะเป็นของคู่กัน (แต่ปัจจุบันแต่ไม่เคยพบว่าในองค์กรไหนที่ได้มีการผสมผสานเรื่องการบริหารความเสี่ยงเข้าไปกับการบริหารกลยุทธ์เลยครับ)

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจกับคำว่า “ความเสี่ยง” ก่อนนะครับ เรามักจะนึกถึงความเสี่ยงแต่ในแง่ของสิ่งที่ไม่ดี หรือการตรวจสอบ หรือการจับผิด แต่จริงๆ แล้วคำว่า Risk มาจากรากศัพท์ภาษาอิตาเลียนว่า Risicare ที่หมายความว่า ‘to dare’ ซึ่งพจนานุกรมไทยแปลว่า กล้า ท้าทาย ดังนั้นถ้าดูจากรากศัพท์แล้วจะเห็นความ risk หรือที่เราใช้กันว่าความเสี่ยงนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตาและส่งผลแต่ในทางลบต่อเรานะครับ แต่ยังรวมไปถึง ทางเลือกหรือสิ่งที่เราจะเลือกด้วย ประเด็นสำคัญก็คือเรามักจะนึกถึงเรื่องของความเสี่ยงเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ดี แต่จริงๆ แล้วความเสี่ยงไม่ใช่เพียงแค่โอกาสในการเกิดขึ้นสิ่งที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงโอกาสที่สิ่งดีๆ จะไม่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ เนื่องจากความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสิ่งที่ผิดอย่างเดียว (เหมือนเช่นความเสี่ยงในด้านอื่นๆ) แต่ความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากการไม่เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือไม่เลือกทำตามโอกาสที่เกิดขึ้น ดังนั้นเวลาคิดถึงความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้น เราจะไม่มองที่ข้อจำกัดหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างเดียวนะครับ แต่ต้องพิจารณาถึงโอกาสที่เราไม่ได้เลือกด้วย ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ ท่านผู้อ่านขับรถไปทำงานจากบ้าน ท่านมีเส้นทางไปที่ทำงานสองเส้นทาง ท่านผู้อ่านเคยเกิดความรู้สึกบ้างไหมครับว่าเมื่อขับรถไปได้ซักพักและเจอรถติดแล้ว เรามักจะชอบถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่เลือกอีกเส้นหนึ่ง อันนี้แหละครับที่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ถูกต้อง

ขอกลับมาดูที่แนวคิดพื้นฐานของความเสี่ยงก่อนนะครับ จากงานวิจัยของบรรดานักวิชาการต่างๆ พบว่าระดับของการยอมรับต่อความเสี่ยงก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคลด้วยครับ โดยทั่วไปแล้วผู้ชายจะยอมรับต่อความเสี่ยงได้ดีกว่าผู้หญิง รวมทั้งผู้บริหารที่อายุน้อยกว่าจะยอมรับต่อความเสี่ยงได้ดีกว่าผู้บริหารที่อายุมาก ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จยังชอบที่จะเสี่ยงมากกว่าผู้บริหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ระดับและความสามารถในการระบุถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Identify Risk) ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้ต่อความเสี่ยงของแต่ละคน คำถามที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ก็คือ มีการระบุว่าโอกาสในการที่กลยุทธ์ขององค์กรจะล้มเหลวและผิดพลาด เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของทุกองค์กร (อีกประการคือความล้มเหลวในด้านนวัตกรรม) ก็เลยมีข้อถกเถียงตามมาครับว่าการที่กลยุทธ์ล้มเหลวนั้นเป็นความเสี่ยงหรือเป็นผลจากความเสี่ยง? ท่านผู้อ่านลองนึกตัวอย่างง่ายๆ ดูนะครับ สมมติว่ากลยุทธ์ที่ท่านเลือกใช้มีความผิดพลาด ความผิดพลาดดังกล่าวเป็นความเสี่ยงหรือเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยง?

ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงทางกลยุทธ์ ผมขอย้อนกลับมาดูกันก่อนนะครับว่ากลยุทธ์หมายถึงอะไร อาจจะมีคำนิยามที่หลากหลายเกี่ยวกับกลยุทธ์ แต่ที่พอจะยอมรับกันทั่วไปก็คือกลยุทธ์ คือสิ่งที่องค์กรจะทำหรือดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ทีนี้สิ่งที่องค์กรจะทำเพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้นมานั้นก็จะเผชิญพบกับความเสี่ยงต่างๆ นานาหลายประการ ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์น่าจะหมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ที่องค์กรใช้เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ องค์กรทั่วไปมักจะเริ่มต้นจากการกำหนดวิสัยทัศน์สูงสุดที่ต้องการบรรลุ จากนั้นแปลงวิสัยทัศน์เหล่านั้นสู่วัตถุประสงค์ทั้งทางด้านการเงินและด้านอื่นๆ เพื่อให้เห็นภาพและสามารถจับต้องได้มากขึ้น จากนั้นจึงจะกำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานตามกลยุทธ์หรือแนวทางเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้ากลยุทธ์ของบริษัทหนึ่งคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อนำเสนอต่อลูกค้ากลุ่มเดิม ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าจะมีความเสี่ยงใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง อาจจะมีตั้งแต่ความเสี่ยงว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องหรือไม่? ความเสี่ยงจากรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความเสี่ยงจากการที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงจากการที่คู่แข่งสามารถออกสินค้าในลักษณะเดียวกันได้เร็วกว่า ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ลูกค้าไม่มีกำลังซื้อสินค้า ความเสี่ยงจาก suppliers ของเราที่ไม่สามารถหาวัตถุดิบมาตรงตามที่เราต้องการ ฯลฯ สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาก็คือความเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และถ้าเกิดแล้วจะส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรมากน้อยเพียงใด (Probability and Impact)

สัปดาห์นี้ถือเป็นการเกริ่นนำก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะลงรายละเอียดแนวทางและวิธีการในการวิเคราะห์และระบุความเสี่ยงทางกลยุธ์ พร้อมทั้งแนวทางในการบริหารต่อครับ