27 July 2005

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์หรือที่เรียกกันว่า Strategic Risk ไว้โดยเป็นเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับกลยุทธ์และความเสี่ยง สัปดาห์นี้จะลงลึกในเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์กันต่อนะครับ

คงจะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนะครับว่าในการทำอะไรก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นทั้งสิ้น การบริหารกลยุทธ์ก็เช่นกันที่หนีไม่พ้นความเสี่ยง แต่ประเด็นสำคัญก็คือเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ขององค์กร เนื่องจากว่าถ้าความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นย่อมจะทำให้กลยุทธ์และการดำเนินงานขององค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือทิศทางที่ต้องการ แต่ก็คงต้องยอมรับอีกเช่นเดียวกันว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่ และผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ อีกทั้งยังขาดองค์ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน

เริ่มต้นจากคำนิยามหรือความหมายของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ก่อนเลยครับ ผมเองก็ได้รับทราบมาสองแนวทางหลักๆ แนวทางแรกเพื่อนอาจารย์ที่คณะบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารความเสี่ยงได้กรุณาบอกผมไว้ว่า ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการไม่เลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เหมาะสม ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะงง แต่หลักการง่ายและชัดเจนครับ นั้นคือเวลาองค์กรต่างๆ กำหนดหรือวางแผนกลยุทธ์ โดยส่วนใหญ่ก็จะมีทางเลือกของกลยุทธ์หรือสิ่งที่จะทำหลายประการ ทำไมผู้บริหารถึงเลือกกลยุทธ์ที่ 1 โดยไม่เลือกกลยุทธ์ที่ 2? เช่น ถ้าท่านผู้อ่านจะต้องส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยในตอนนี้มีตลาดหลักให้เลือกอยู่สองประเทศคืออินเดีย และจีน แต่ท่านผู้อ่านมีขีดความสามารถที่จะส่งออกไปได้แค่ประเทศเดียว ท่านผู้อ่านจะเลือกส่งออกไปประเทศไหน? ถ้าท่านผู้อ่านเลือกที่จะส่งไปประเทศจีน ก็มีประเด็นของความเสี่ยงขึ้นมาแล้วว่า ทำไมถึงไม่เลือกอินเดีย? และถ้าเกิดคู่แข่งของท่านตัดสินใจตรงกันข้ามกับท่านคือส่งออกไปประเทศอินเดียแล้วประสบความสำเร็จมากกว่าท่าน แสดงว่าความเสี่ยงนั้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

นอกจากกรณีข้างต้นแล้วอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ในหลายๆ ครั้งท่านจะพบว่ามีโอกาสสำคัญทางธุรกิจโผล่ขึ้นมา เช่น การเข้ามาร่วมลงทุนของบริษัทต่างประเทศ หรือ บริษัทคู่แข่งเสนอขายโรงงานให้ หรือ ภาครัฐช่วยไปออกงานแสดงสินค้า ฯลฯ แต่เราจะพบเช่นเดียวกันว่าเราไม่ได้เกาะกุมหรือใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เข้าทุกประการ เรามักจะเลือกเพียงบางโอกาสเท่านั้น ซึ่งก็นำไปสู่ประเด็นความเสี่ยงที่ว่า ทำไมเราถึงปล่อยปละโอกาสบางอย่างทิ้งไป และอะไรคือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่เราละเลยหรือปล่อยปละโอกาสเหล่านั้น? ท่านผู้อ่านคงจะเห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการบริหารความเสี่ยงทั่วๆ ไปและการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์นะครับ การบริหารความเสี่ยงทั่วๆ ไป จัดทำขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือป้องกันในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่การบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ในลักษณะนี้จะเป็นการพิจารณาถึงการ “ไม่เลือกทำในสิ่งที่ถูก” ซึ่งต้องเรียนตรงๆ ว่าเป็นสิ่งที่ระบุหรือบอกได้ยาก เนื่องจากตอนที่เราเลือกกลยุทธ์ เราก็คิดว่าถูกต้องและเหมาะสมแล้ว และเราจะทราบว่ากลยุทธ์นั้นถูกต้องและเหมาะหรือไม่ก็ต่อเมื่อเริ่มดำเนินการตามกลยุทธ์และมีผลการปฏิบัติงานเกิดขึ้น

ทีนี้เราลองมาดูกันนะครับว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทางกลยุทธ์ในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะหนีไม่พ้นกระบวนการในการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ที่ผิดพลาดและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีกระบวนการในการวางกลยุทธ์เลย จนถึงการไม่ศึกษาถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการวางกลยุทธ์ให้ครบถ้วน และสุดท้ายคือการขาดข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญในเมืองไทยนะครับ ได้มีโอกาสสัมผัสองค์กรหลายๆ แห่งในเมืองไทยและพบว่าในการวางแผนกลยุทธ์นั้นมักจะเป็นไปโดยขาดข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ และมักจะเป็นในลักษณะการ “คิดเอง เออเอง” อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่คงจะต้องยอมรับกันนะครับก็คือการจะประเมินหรือระบุความเสี่ยงทางกลยุทธ์ในลักษณะนี้เป็นไปได้ยากครับ ผู้บริหารจะทราบได้อย่างไรว่าการเลือกส่งสินค้าไปจีนแทนที่จะเป็นอินเดียเป็นความเสี่ยง รวมถึงโอกาสและความรุนแรงของความเสี่ยงจะมากน้อยเพียงใดก็ยากที่จะระบุออกมาได้ ถ้าให้ผู้บริหารภายในเป็นผู้ระบุและประเมินความเสี่ยงเอง ก็มักจะออกมาไม่เสี่ยงเนื่องจากผู้บริหารมักคิดภายใต้กรอบเดิมๆ ที่ตนเองมีอยู่ และสุดท้ายก็จะได้ข้อสรุปเดิม ซึ่งก็คือกลยุทธ์ที่ตนเองเลือกนั้นถูกต้อง เหมาะสมที่สุด ส่วนถ้าจะให้ที่ปรึกษาภายนอกมาช่วยระบุความเสี่ยงนั้นก็ยากอีกเช่นเดียวกันครับ เนื่องจากคนภายนอกจะไม่ทราบถึงบริบทและลักษณะของธุรกิจดีเท่ากับบุคคลที่อยู่ภายใน

เป็นไงครับดูแล้วยากนะครับ แต่อย่าเพิ่งท้อครับ มีอีกแนวคิดหนึ่งของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ครับ ซึ่งดูแล้วน่าจะง่ายกว่า นั้นคือมองว่าความเสี่ยงทางกลยุทธ์ คือ ความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น การคิดความเสี่ยงทางกลยุทธ์ด้วยคำนิยามนี้จะดูแล้วง่ายกว่านะครับ นั้นคือเมื่อองค์กรกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ที่ต้องการบรรลุแล้ว องค์กรจะต้องมาคิดต่อว่าแล้วปัจจัยใดบ้างที่จะส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าว และจะมีแนวทางใดในการบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้องค์กรยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ต่อไป

การวิเคราะห์ความเสี่ยงในลักษณะนี้ค่อนข้างชัดเจนครับ นั้นคือเริ่มต้นจากการระบุถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยสามารถพิจารณาจาก SWOT ก็ได้ โดยท่านผู้อ่านเริ่มต้นจากการกำหนดวัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์แล้ว นำ SWOT เข้ามาวิเคราะห์ว่าในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวอะไรคือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด เพื่อนำไปสู่การระบุถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ จากนั้นค่อยประเมินความเสี่ยงในด้านของโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ ถ้าความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การควบคุม และบริหารความเสี่ยงต่อไป

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าหลักการและแนวทางในการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ทั้งสองแนวทางข้างต้น ต่างมองจากคนละมุมมองแต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งคู่นะครับ และเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรจะให้ความสนใจ และควรจะถูกผสมผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารกลยุทธ์ของทุกๆ องค์กรด้วย แต่อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นนะครับว่า ณ ปัจจุบันองค์ความรู้ในการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นถ้ามีโอกาสผมจะนำเสนอพัฒนาการของแนวคิดในด้านนี้ต่อ เผื่อท่านผู้อ่านจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมนะครับ