24 August 2005

เนื้อหาในสัปดาห์นี้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือเป็นการนำเสนอผลการสำรวจการใช้เครื่องมือทางการบริหารและจัดการต่างๆ ของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง Bain and Company ซึ่งเขาจัดทำขึ้นทุกสองปี และผลของปีที่แล้ว (2004) ก็ออกมาแล้วในปีนี้ (2005) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าเครื่องมือทางการจัดการที่เป็นที่นิยมหรือใช้มากที่สุดได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) ตามมาด้วย CRM ส่วนเครื่องมือที่ผู้บริหารทั่วโลกใช้แล้วเกิดความพึงพอใจมากที่สุดได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์ และ Supply Chain Management ครับ สัปดาห์นี้เรามาพิจารณาผลที่ได้จากการสำรวจนี้โดยละเอียดมากขึ้นนะครับ ผมจะนำเครื่องมือแต่ละตัวที่เราคุ้นๆ กันมาวิเคราะห์กันอย่างละเอียดให้ดู โดยจะเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของ Bain ในสองครั้งที่ผ่านมา (ปี 2001 และ 2003) เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีจะขอย้ำไว้นิดหนึ่งนะครับว่าในผลการสำรวจทั้งสามครั้งที่ผมจะยกมานั้น อัตราการใช้เครื่องมือทางการจัดการจะไม่เท่ากัน นั้นคือในปี 2001 บริษัทส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือทางการจัดการบริษัทละ 10 เครื่องมือ พอปี 2003 ใช้บริษัทละ 16 เครื่องมือ และในปี 2005 ใช้บริษัทละ 13 เครื่องมือ  อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะให้ท่านผู้อ่านทราบไว้ก่อนลงไปในรายละเอียดก็คือกลุ่มตัวอย่างของแต่ละปีก็ไม่เท่ากันนะครับ ในปี 2001 ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมี 451 ฉบับ ปี 2003 มี 708 ฉบับ และปี 2005 มี 960 ฉบับ

ขอเริ่มจาก Balanced Scorecard ก่อนเลยนะครับ ในปีล่าสุดอัตราการใช้ Balanced Scorecard อยู่ที่ร้อยละ 57 ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ (ร้อยละ 54) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาเมื่อสองปีที่แล้ว (2003) พบว่าอัตราการใช้ลดลง โดยในปี 2003 อัตราการใช้อยู่ที่ร้อยละ 62 (โดยค่าเฉลี่ยของปี 2003 อยู่ที่ร้อยละ 65) ส่วนในปี 2001 นั้น พบว่าอัตราการใช้งาน BSC อยู่ที่ร้อยละ 36 (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 41) พอจะสรุปได้ว่าสำหรับ BSC นั้นอัตราการใช้เพิ่มขึ้นในปี 2003 และลดลงในปี 2005 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ แล้วพบว่าอัตราการใช้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2005 ในขณะที่ปี 2001 และ 2003 นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แสดงว่าเมื่อเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ ด้วยกันแล้ว องค์กรต่างๆ มีการใช้ BSC มากขึ้น ทีนี้เราลองมาพิจารณาที่ระดับความพึงพอใจกันบ้างนะครับ ขอเริ่มจากปี 2001 ก่อน ความพึงพอใจเมื่อได้นำ BSC ไปใช้อยู่ที่ 3.96 (จากคะแนนเต็ม 5 ครับ) ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับความพึงพอใจในการใช้เครื่องมือต่างๆ อยู่ที่ 3.87 สำหรับปี 2003 ระดับความพอใจอยู่ที่ 3.88 ค่าเฉลี่ย 3.85 และปี 2005 ระดับความพอใจอยู่ที่ 3.86 ค่าเฉลี่ย 3.89 แสดงให้เห็นว่าระดับความพอใจต่อการใช้ BSC ลดน้อยลงในสองครั้งหลัง และในปีล่าสุดระดับความพอใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยแล้ว ความพอใจในการใช้ BSC ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเครื่องมือทุกตัว

ทีนี้เรามาดูอีกเครื่องมือหนึ่งที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในไทย นั้นคือ Knowledge Management (KM) ในเรื่องของอัตราการใช้นั้นปี 2001 ที่ 32% (ค่าเฉลี่ย 41%)ปี 2003 อยู่ที่ 62% (ค่าเฉลี่ย 65%) ปี 2005 อยู่ 54% ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่าในช่วงปีหลังๆ อัตราการใช้ KM เริ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ ส่วนระดับความพึงพอใจนั้น ปี 2001 อยู่ที่ 3.61 (ค่าเฉลี่ย 3.87) ปี 2003 อยู่ที่ 3.63 (ค่าเฉลี่ย 3.85) และปี 2005 อยู่ที่ 3.73 (ค่าเฉลี่ย 3.89) แสดงให้เห็นระดับความพอใจต่อเครื่องมือนี้ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเครื่องมือทั้งหมด

มาดูเครื่องมือยอดฮิตอีกตัวอย่าง CRM กันบ้างครับ อัตราการใช้นั้นปี 2001 ที่ 35% (ค่าเฉลี่ย 41%)ปี 2003 อยู่ที่ 78% (ค่าเฉลี่ย 65%) ปี 2005 อยู่ 75% (ค่าเฉลี่ย 54%) แสดงให้เห็นว่าในช่วงปีหลังๆ อัตราการใช้ CRM มีมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมืออื่นๆ ส่วนระดับความพึงพอใจนั้น ปี 2001 อยู่ที่ 3.67 (ค่าเฉลี่ย 3.87) ปี 2003 อยู่ที่ 3.81 (ค่าเฉลี่ย 3.85) และปี 2005 อยู่ที่ 3.91 (ค่าเฉลี่ย 3.89) ซึ่งก็สอดคล้องกับอัตราการใช้ ที่ระดับความพอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ต่อมาลองมาดูเครื่องมือที่เรานึกว่าหมดความนิยมไปแล้วอย่าง Reengineering กันบ้างนะครับ อัตราการใช้นั้นปี 2001 ที่ 38% (ค่าเฉลี่ย 41%)ปี 2003 อยู่ที่ 54% (ค่าเฉลี่ย 65%) ปี 2005 อยู่ 61% (ค่าเฉลี่ย 54%) แสดงให้เห็นว่าในช่วงปีหลังๆ อัตราการใช้ Reengineering เพิ่มมากขึ้น แถมในช่วงหลังเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเครื่องมือทั้งหมด ส่วนระดับความพึงพอใจนั้น ปี 2001 อยู่ที่ 3.86 (ค่าเฉลี่ย 3.87) ปี 2003 อยู่ที่ 3.75 (ค่าเฉลี่ย 3.85) และปี 2005 อยู่ที่ 3.90 (ค่าเฉลี่ย 3.89) สำหรับ Reengineering นั้นถือว่าน่าแปลกใจพอควรครับ เพราะเราเข้าใจว่า Reengineering  เริ่มที่จะซาลงไปแล้ว แต่ปรากฏว่าอัตราการใช้กลับเพิ่มขึ้น แถมระดับความพอใจก็เพิ่มขึ้นด้วย อาจจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งนะครับว่า Reengineering จะกลับมาฮิตอีกครั้งหนึ่งหรือไม่?

ลองมาดูกันเครื่องมืออีกตัวที่ใช้กันมานานอย่าง Total Quality Management (TQM) นั้น อัตราการใช้นั้นปี 2001 ที่ 41% (ค่าเฉลี่ย 41%) ปี 2003 อยู่ที่ 57% (ค่าเฉลี่ย 65%) ปี 2005 อยู่ 61% (ค่าเฉลี่ย 54%) ดูๆ แล้ว TQM จะคล้ายๆ Reengineering นะครับ นั้นคืออัตราการใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนในปีสุดท้าย และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด ส่วนระดับความพึงพอใจนั้น ปี 2001 อยู่ที่ 3.91 (ค่าเฉลี่ย 3.87) ปี 2003 อยู่ที่ 3.80 (ค่าเฉลี่ย 3.85) และปี 2005 อยู่ที่ 3.93 (ค่าเฉลี่ย 3.89) ซึ่งแสดงถึงความพอใจในระดับที่สม่ำเสมอในการนำ TQM มาใช้

มาดูกันที่เครื่องมือตัวสุดท้ายนะครับ นั้นคือการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) อัตราการใช้นั้นปี 2001 ที่ 76% (ค่าเฉลี่ย 41%) ปี 2003 อยู่ที่ 89% (ค่าเฉลี่ย 65%) ปี 2005 อยู่ 79% (ค่าเฉลี่ย 54%) ส่วนระดับความพึงพอใจนั้น ปี 2001 อยู่ที่ 4.06 (ค่าเฉลี่ย 3.87) ปี 2003 อยู่ที่ 4.04 (ค่าเฉลี่ย 3.85) และปี 2005 อยู่ที่ 4.14 (ค่าเฉลี่ย 3.89) จะเห็นได้ว่าเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องยอดฮิตตลอดกาลครับ ทั้งในแง่ของอัตราการใช้ และระดับความพึงพอใจ

ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นภาพนะครับ ว่าพวกเครื่องมือทางการจัดการต่างๆ ที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันเป็นอย่างไร ดูเหมือนพวกเครื่องมือเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้กันทั่วๆ ไปแล้วครับ  ก็หวังว่าเนื้อหาในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้นะครับ