31 August 2005

ดูเหมือนว่าคำว่านวัตกรรม ได้กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์อีกคำหนึ่งในแวดวงการบริหารจัดการนะครับ ผมได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารองค์กรไทยหลายๆ ท่าน และคำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นคำที่เริ่มใช้กันมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ผู้บริหารหลายๆ ท่านเริ่มพูดเป็นเสียงเดียวกันมากขึ้นว่า การที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้นั้น ความสามารถในด้านนวัตกรรมได้กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับองค์กรจำนวนมาก สัปดาห์นี้เลยขออนุญาตพาท่านผู้อ่านไปดูผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลกอย่าง Boston Consulting Group (BCG) ที่ได้มีการสำรวจบริษัทต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับนวัตกรรม (มีผู้บริหารกว่า 900 คนตอบแบบสอบถามจาก 68 ประเทศทั่วโลก ในทุกอุตสาหกรรมหลัก) โดยเป็นการสำรวจเมื่อสิ้นปี 2004 และจบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยได้นำเสนอผลการสำรวจเป็นรายงานชื่อ Innovation 2005 ซึ่งผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประการเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรม

เริ่มจากประเด็นแรกก่อนคือการลงทุนในเรื่องของนวัตกรรม ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้ระบุว่าจะมีการเพิ่มเงินลงทุนในด้านนวัตกรรมในปี 2005 มากกว่า 2004  ในขณะที่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ระบุว่าจะลดการลงทุนในด้านนวัตกรรมลง โดยอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนในนวัตกรรมมากๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และสินค้าเริ่มมีลักษณะที่เหมือนกันมากขึ้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้เริ่มมองหาที่พึ่งสุดท้ายในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันนั้นคือในเรื่องของนวัตกรรม จริงๆ ถ้าเราวิเคราะห์ดีๆ จะพบว่าการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนในด้านนวัตกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องอย่าตีกรอบตัวเองว่านวัตกรรมเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว (เนื่องจากนวัตกรรมนั้นครอบคลุมในทุกสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ ที่ก่อให้เกิดคุณค่าให้กับลูกค้า)

พอจะวิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้นวัตกรรมกลายเป็น “คำศักดิ์สิทธิ์” สำหรับหลายๆ องค์กรในปัจจุบันเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สินค้าและบริการเริ่มมีลักษณะที่เหมือนๆ กันมากขึ้น เนื่องจากเรามีนิสัยอย่างว่าถ้าคู่แข่งทำอะไร เราต้องออกตาม สุดท้ายแล้ว ก็จะทำให้เรายากที่จะสร้างความแตกต่างได้จากผู้อื่น ดังนั้นการที่จะฉีกตัวเองออกจากความเหมือนกับคู่แข่ง หรือการที่จะก้าวหน้าได้มากกว่าคู่แข่งนั้นก็หนีไม่พ้นความสามารถในการคิดสิ่งใหม่ๆ ได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งก็คือในเรื่องของนวัตกรรมนั้นเองครับ และไม่ใช่ว่าคิดครั้งเดียวและจบด้วยนะครับ แต่จะต้องมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือ มีนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นคู่แข่งก็จะตามเราได้หมด ดังนั้นผู้บริหารจำนวนมากจึงได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้น และไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมผลการสำรวจของ BCG นั้นเขาถึงพบว่าองค์กรส่วนใหญ่จะมีการลงทุนในด้านนวัตกรรมมากขึ้นในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 

            อย่างไรก็ดีเพียงแค่การเพิ่มการลงทุนในด้านนวัตกรรมก็ไม่ได้เป็นตัวที่จะรับรองความสำเร็จขององค์กรได้นะครับ ผมว่าสิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรถึงจะบริหารนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มเงินลงทุนไปแล้วจะทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา เนื่องจากผลการสำรวจของ BCG ก็ชี้ให้เห็นอีกครับว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดที่ยังไม่พอใจกับผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในด้านนวัตกรรม แสดงให้เห็นว่าเรื่องของนวัตกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของการเพิ่มเงินลงทุนแล้วจะทำให้เกิดนวัตกรรมออกมาครับ คงจะต้องมีกระบวนการในการบริหารจัดการที่มากกว่านั้น ซึ่งในความเห็นของผมนั้นนวัตกรรมจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับตัวองค์กรเป็นสำคัญด้วยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหาร วัฒนธรรม ค่านิยม ของแต่ละองค์กร ในองค์กรที่มีค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อนวัตกรรม ต่อให้ลงเงินไปแค่ไหนก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ครับ

            ทีนี้มาดูความเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมกับกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) กันหน่อยนะครับ เนื่องจากสาเหตุที่องค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมก็เพื่อการเติบโตนั้นเอง ร้อยละ 87 ของผู้ตอบแบบสอบถามของ BCG ระบุเลยว่าการเติบโตจากภายในโดยอาศัยนวัตกรรมนั้นเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์กรเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าในระยะยาวแล้วการเติบโตจากภายใน โดยอาศัยนวัตกรรมนั้นจะทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการเติบโตจากภายนอกโดยอาศัยการควบรวมกิจการเพียงอย่างเดียว

            ทีนี้ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมคือในเรื่องของการวัดและประเมินผล จากผลการสำรวจของ Bain พบว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทที่พึงพอใจระบบตัวชี้วัดและระบบการวัดผลในเรื่องของนวัตกรรมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่ยังคงใช้ตัวชี้วัดที่ค่อนข้างกว้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพึงพอใจลูกค้า หรือ การเติบโตของรายได้ หรือ สัดส่วนของรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ มีอยู่เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเท่านั้นที่ระบุว่ามีระบบในการติดตามข้อมูลผลตอบแทนทางการเงินจากนวัตกรรม ซึ่งประเด็นนี้เท่าที่ผมได้พบเจอกับองค์กรในไทยหลายๆ แห่งเขาก็เริ่มที่จะมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ชัดเจนขึ้นนะครับ เพียงแต่มีไม่มากที่มีการวัดผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในด้านนวัตกรรมเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

            เรามาดูประเด็นสุดท้ายกันนะครับ นั้นคือบริษัทไหนที่ได้รับการยอมรับและเป็นต้นแบบในเรื่องของนวัตกรรมมากที่สุด ซึ่งผลจากการสอบถามของ BCG ห้าอันดับแรกที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริหารให้เป็นผู้นำในเรื่องของนวัตกรรมได้แก่ Apple, 3M, General Electric, Microsoft และ Sony  ซึ่งดูเหมือนว่าห้าอันดับแรกนั้นจะได้รับมติเอกฉันท์พอสมควร โดยบริษัทที่โดดเด่นและได้รับการยกย่องมากในเรื่องของนวัตกรรมในช่วงหลังๆ ได้แก่ Apple ซึ่งก็คงจะไม่น่าแปลกใจนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากความสำเร็จของ iPod ประเด็นที่น่าสนใจก็คือบริษัทที่มีการทำประชาสัมพันธ์หรือโหมโฆษณาสร้างภาพเกี่ยวกับนวัตกรรม หรือบริษัทที่มีการลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมเยอะๆ กลับไม่ได้รับการเลือกจากบรรดาผู้บริหารให้อยู่ในรายชื่อเหล่านี้เท่าใด ดูเหมือนว่าปัจจัยที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้รับความยกย่องอย่างมากไม่ใช่เรื่องของเงินลงทุนแต่เป็นความสามารถในการเข้าถึงความต้องการในจิตใจของผู้บริโภคหรือลูกค้า รวมทั้งในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรครับ  

            เนื้อหาสัปดาห์นี้คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงแนวโน้มและความสำคัญของนวัตกรรมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกนะครับ แต่อย่าลืมว่านวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากการลงเงินเท่านั้น แต่ตัวองค์กรเองด้วยก็จะต้องเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม