3 May 2005

สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเนื้อหาต่อจากสัปดาห์ที่แล้วครับ นั้นคือเรื่องของการตรวจสอบ Balanced Scorecard (BSC Audit) โดยเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงความสำคัญและความจำเป็นในการตรวจสอบการนำ BSC มาใช้ในองค์กร หลังจากช่วงที่ผ่านๆ มาการนำ BSC มาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน สัปดาห์นี้เรามาดูกรอบเนื้อหาและแนวคิดในการตรวจสอบการนำ BSC มาใช้กันนะครับ

คงต้องชี้แจงว่าภายใต้เครื่องมือทางการจัดการที่เราเรียกว่า Balanced Scorecard นั้น แนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบการนำ BSC มาใช้ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่ ไม่ได้มีแนวคิดหรือทฤษฎีขึ้นมารองรับ พร้อมทั้งองค์กรที่ได้มีการตรวจสอบ BSC (หรือ BSC Audit) นั้นก็ยังไม่มากหรือแพร่หลายเท่าไหร่ ผมเลยขอนำเสนอกรอบแนวคิดที่หลากหลายในการตรวจสอบ BSC นะครับ โดยเริ่มจากกรณีศึกษาของ Centrelink ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของออสเตรเลีย ซึ่ง Centrelink ได้มีการนำ BSC มาใช้ในปี 1997 ภายหลังการก่อตั้งหน่วยงาน และในปี 2002 ก็ได้มอบหมายให้ Australian National Audit Office ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบของออสเตรเลียมาทำการตรวจสอบการนำ BSC มาใช้งาน โดยการตรวจสอบนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการนำ BSC มาใช้ของ Centrelink มีความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ในการนำ BSC มาใช้ นอกจากนั้นยังต้องการช่วยให้ Centrelink สามารถทำให้ผู้บริหารและบุคลากรของ Centrelink ได้เกิดความเข้าใจและรับทราบถึงผลการดำเนินงานขององค์กรขององค์กรเทียบกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ได้ตั้งไว้

เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบนั้นได้รับการพัฒนามาจากการทบทวนวรรณกรรม หนังสือ บทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ BSC รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นจากที่ปรึกษา ประสบการณ์เกี่ยวกับ BSC รวมถึงจากความคาดหวังของ Centrelink ในการนำ BSC มาใช้ อย่างไรก็ดีหลักการสำคัญในการตรวจสอบ BSC ก็คือ จะต้องเข้าใจว่าไม่มีวิธีทางที่ถูกต้องเพียงแค่วิธีเดียวในการพัฒนาและจัดทำ BSC ในองค์กร ดังนั้นการตรวจสอบ BSC จึงไม่สามารถพัฒนาวิธีการเพียงวิธีเดียวที่เหมาะสมในการตรวจสอบ อย่างไรก็ดี บุคคลหรือหน่วยที่ทำการตรวจสอบก็จำเป็นมีหลักการบางประการที่เป็นหลักสำคัญในการอ้างอิงและใช้ในการพัฒนาเกณฑ์ สำหรับกระบวนการในการตรวจสอบ BSC ของ Centrelink นั้น ประกอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

  • การทบทวนถึงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์และ BSC ของ Centrelink อย่างละเอียด เพื่อพิจารณาดูความสอดคล้องตั้งวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัดต่างๆ ที่ใช้ใน Centrelink
  • การสัมภาษณ์บุคลากรหลักๆ ของ Centrelink เพื่อประเมินว่าบุคลากรเหล่านั้นมีความเข้าใจและมีทัศนคติต่อการใช้ BSC ใน Centrelink อย่างไร
  • การตรวจสอบกระบวนการในติดตาม ประเมินผล เพื่อพิจารณาว่าการนำ BSC มาใช้นั้นมีวงจรในการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานย้อนกลับไปที่การวางแผนกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือไม่? ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็ประกอบไปด้วยการตรวจสอบการไหลเวียนของข้อมูลในระดับต่างๆ
  • การตรวจสอบ ส่วนประกอบต่างๆ ใน BSC ของ Centrelink ตั้งแต่คำนิยามของตัวชี้วัดต่างๆ รวมถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

แนวทางและข้อมูลเบื้องต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของการตรวจสอบ BSC ในองค์กรนะครับ เรามาลองดูอีกแนวคิดหนึ่งครับ เป็นของที่ปรึกษาทางด้านระบบประเมินผลท่านหนึ่ง ชื่อ Bob Frost ซึ่งเขาได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจสอบ BSC ขึ้นมา ซึ่งภายใต้เครื่องมือนี้ประกอบด้วยเกณฑ์ในการตรวจสอบ 17 ประการ โดยปัจจัยทั้ง 17 ประการถูกจัดกลุ่มเข้าอยู่ภายใต้หัวข้อหลักๆ สี่กลุ่ม ได้แก่ 1.เนื้อหาของ BSC 2. คุณค่าที่ BSC ก่อให้เกิดต่อผู้ใช้งาน 3. ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และ 4. กระบวนการในรายงานผล

แนวทางสุดท้ายที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้จะเป็นไปตามหนังสือเล่มล่าสุดเกี่ยวกับ BSC ที่เพิ่งออกมา ชื่อ Balanced Scorecard Diagnostics เขียนโดย Paul Niven ที่ปรึกษาทางด้าน BSC ซึ่งเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับ BSC ออกมาแล้วสองเล่ม โดยในหนังสือเล่มล่าสุดของ Paul Niven นี้เขาได้พยายามนำเสนอถึงแนวทางในการตรวจสอบการนำ BSC มาใช้ในองค์กรต่างๆ ซึ่งวิธีการของ Paul Niven ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนักหรอกครับ เป็นวิธีการในการประเมินผลด้วยตนเอง หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Self Assessment ซึ่ง Paul Niven เขาจะแบ่งกระบวนการในการนำ BSC มาใช้ในองค์กรไว้เป็นขั้นตอนต่างๆ และภายใต้แต่ละขั้นตอนนั้นก็จะมีคำถามที่ผู้บริหารสามารถใช้ในการประเมินตนเอง เพื่อตรวจสอบว่าการนำ BSC มาใช้นั้นถูกต้องเหมาะสมเพียงใด โดยประเด็นหลักๆ ในการนำมาใช้และประเมินตนเองนั้นประกอบด้วย

  • สาเหตุของการนำ BSC มาใช้
  • บทบาทของผู้บริหารระดับสูงในการสนับสนุนการนำ BSC มาใช้
  • ทีมงานหรือคณะทำงานในการนำ BSC มาใช้
  • การอบรมและสร้างความเข้าใจเรื่องของ BSC
  • การกำหนดนิยามศัพท์ต่างๆ ที่สำคัญร่วมกัน
  • การพัฒนาแผนที่ทางกลยุทธ์ (Strategy Map)
  • จำนวนวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม
  • ความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ในแต่ละมุมมอง
  • การกำหนดตัวชี้วัด
  • การตั้งเป้าหมาย
  • การกำหนด Initiatives
  • ฯลฯ

หวังว่าเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วและสัปดาห์นี้คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่านได้ถึง ความจำเป็น ความสำคัญ แนวทาง และกระบวนการสำคัญๆ ในการตรวจสอบและประเมินการนำ BSC มาใช้ในองค์กรนะครับ แต่อย่างที่เรียนไว้ข้างต้นว่า เนื่องจาก BSC เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่มีวิธีการที่ถูกต้องที่สุดวิธีเดียวในการนำ BSC มาใช้ ทำให้ไม่มีวิธีหรือเครื่องมือเพียงแค่แนวทางเดียวในการตรวจสอบ BSC ประเด็นสำคัญคงจะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรเป็นหลัก ก่อนจบขออนุญาตประชาสัมพันธ์งานของตัวเองหน่อยนะครับ ผมได้รวบรวมงานที่เขียนที่นี้และที่อื่น นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือได้ออกมาเป็นเล่มที่ 3 แล้วนะครับ ชื่อ “คู่มือผู้บริหาร” ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาตามร้านหนังสือทั่วไปได้นะครับ ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านมาตลอดนะครับ