
27 April 2006
สัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเรื่องความสำคัญและอุปสรรคในการฟังให้เกิดประสิทธิผล ท่านผู้อ่านได้ลองกลับไปสังเกตดูบ้างไหมครับว่าทักษะและความสามารถในการฟังของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน สัปดาห์นี้เรามาลองดูคำแนะนำในการเพิ่มความสามารถในการฟังกันดูนะครับว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งบรรดาคำแนะนำต่างๆ เหล่านี้ผมก็รวบรวมมาจากหลายๆ แหล่งด้วยกัน
เรื่องแรกคือให้ความสนใจกับสิ่งที่ผู้อื่นกำลังพูด ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับ ในขณะที่เรากำลังฟังผู้อื่นพูด ในสมองเรามักจะคิดหรือคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ อยู่ในใจ บางครั้งเราอาจจะพบว่าเราไม่ได้สนใจต่อสิ่งที่ผู้อื่นพูดอยู่เลย อาการเช่นนี้เราเรียกกันว่า “ใจลอย” สามารถที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากคนเราส่วนใหญ่พูดด้วยอัตราความเร็วไม่เกิน 200 คำต่อนาที แต่ผลจากการวิจัยพบว่าสมองเรามีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยความเร็วถึง 1,000 คำต่อนาที
ดังนั้นในขณะที่เรากำลังนั่งฟังผู้อื่นอยู่นั้น เรามักจะพบบ่อยๆ ว่าในสมองเรามีช่องว่างระหว่างความเร็วในการพูดของอีกฝ่ายกับความเร็วในการคิดของเรา เรียกได้ว่าสมองเรายังมีทรัพยากรเหลืออยู่สำหรับคิดเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องที่เราได้ยิน ซึ่งทรัพยากรที่เหลืออยู่นั้นแทนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กลับก่อให้เกิดโทษหรือข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับฟังของเรา ดังนั้นแทนที่เราจะใช้เวลาหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่ไปคิดเรื่องอื่น เราควรที่จะใช้ส่วนนั้นกลับมาพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เรากำลังรับฟัง
เรื่องที่สองคือการแสดงปฏิกริยาทางร่างกายที่แสดงว่าเราให้ความสนใจต่อผู้พูด ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวเองดูนะครับ เวลาพูดคุยกับผู้อื่น เราจะสบสายตาผู้พูดหรือเปล่า? มีการพยักหน้าแสดงการรับรู้เป็นระยะๆ หรือไม่? มีการโน้มตัวไปข้างหน้าแสดงความสนใจในการรับฟังหรือไม่? บรรดาผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่าภาษาทางร่างกายหรืออวัจนะภาษานั้นทรงพลังต่อการสื่อสารมากกว่าภาษาทางคำพูดถึงสามเท่า ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราสนทนากับผู้อื่น การแสดงปฏิกริยาทางร่างกายว่าเราสนใจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
เรื่องที่สามคืออย่าด่วนประเมินในสิ่งที่ได้รับฟัง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีอาการในลักษณะนี้หรือไม่ นั้นคือในขณะที่กำลังรับฟังผู้อื่นพูด เรามักจะประเมินหรือตัดสินในสิ่งที่เราได้รับฟัง ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ หรือ เรามักจะคอยประเมินหรือเดาว่าอะไรคือสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งจะพูดต่อไป และในบางครั้งเราก็มักจะพบว่าเราเดาในสิ่งที่อีกฝ่ายจะพูดผิด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเวลาเราฟัง เรามักจะฟังได้เร็วกว่าสิ่งที่ผู้พูดพูด (สมองในการรับรู้คิดได้เร็วกว่าความเร็วในการพูด)
ดังนั้นจึงมักจะมีแนวโน้มที่เราจะประเมินในเนื้อหาที่เราได้ยินเร็วเกินไป นั้นคือแทนที่จะรอให้ผู้พูด พูดให้จบ เรามักจะชอบไปประเมินก่อนล่วงหน้า ซึ่งลักษณะต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟังอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารับฟังผู้ที่เราไม่ค่อยชอบหรือมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วย เนื่องจากถ้าเราไม่เห็นด้วยกับตัวผู้ส่งสารหรือเนื้อหาที่ได้รับ เรามักจะประเมินข้อมูลที่เหลือล่วงหน้าโดยให้เป็นไปในความเชื่อที่เรามีอยู่
เรื่องที่สี่คือการถามคำถาม ท่านผู้อ่านเมื่อได้รับฟังสิ่งใดแล้วมักจะมีการตั้งคำถามหรือไม่ครับ? ผู้ฟังที่ดีมักจะตั้งคำถาม เพื่อถามย้อนกลับไปยังผู้พูดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองได้รับฟังนั้นมีความถูกต้อง การตั้งคำถามในลักษณะปลายเปิดเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากคำถามปลายเปิดจะเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้มีโอกาสอธิบายในประเด็นเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เวลาตั้งคำถามยังมีเคล็ดอีกนะครับ นั้นคืออย่าเพิ่งด่วนสรุปสิ่งที่ได้ฟัง เพื่อให้ผู้พูดได้เกิดความรู้สึกว่าเราสนใจและอยากจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติม และยิ่งข้อมูลที่เราได้รับมีมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารมีความชัดเจนขึ้น
เรื่องที่ห้าคือไม่ใช่ฟังผ่านทางเสียงอย่างเดียว แต่ต้องคอยสังเกตวิธีการพูดหรือการส่งสารด้วยครับ นั้นคือต้องสังเกตสิ่งที่เราเรียกว่าอวัจนะภาษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการยืน น้ำเสียง หรือมือของผู้พูดว่ากำลังทำอะไรอยู่ เรามักจะพบว่าผู้ที่เพิ่มความดังของน้ำเสียงจะมีแนวโน้มที่จะอยู่ในอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ หรือผู้ที่พูดไปก้มหน้าไปอาจจะกำลังอายหรือไม่กล้า ผู้ที่สบตาด้วยและโน้มตัวมาข้างหน้าหน่อยแสดงถึงความมั่นใจ การโต้แย้งอาจจะแสดงถึงความกังวล ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คงต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วยนะครับในการจับความรู้สึกที่แท้จริง
เรื่องสุดท้ายคือการหัดที่จะพูดทวนประโยค (Paraphrasing) นั้นคือเมื่อเราได้รับฟังสิ่งใดและคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอาจจะต้องมีการทวนประโยคหรือข้อความดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาษาของเราเอง การทวนประโยคนั้นจะเป็นการบังคับให้เราตั้งใจฟังอย่างดีครับ เนื่องจากการจะทวนประโยคได้ เราจะต้องตั้งใจฟังพอสมควร นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำกับผู้พูดว่าสิ่งที่เราได้รับฟังนั้นมีความถูกต้องหรือไม่
ท่านผู้อ่านลองนำแนวทางทั้งหกประการไปลองใช้ดูนะครับ ผมเองก็พยายามานาน แต่ก็ไม่ค่อยสำเร็จเท่าไร เพราะหลายๆ เรื่องค่อนข้างฝืนธรรมชาติ แต่ก็คิดว่าคงต้องอาศัยการฝึกฝนพอสมควร ซึ่งตามที่ได้เขียนไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่าปัญหาก็คือเราไม่ได้รับการฝึกฝนทางด้านการฟังมาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการจะมาฝึกเมื่อเลยวัยรุ่นมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ
ก่อนจบขอประชาสัมพันธ์เว็บของผมเองอีกครั้งครับ หลังจากที่เปิดมาได้ประมาสองเดือนก็มีคนเข้ามาแวะเวียนกันพอสมควร ตอนนี้ก็มีพวกเนื้อหา บทความต่างๆ ทางด้านการจัดการพอสมควร และใหม่สุดตอนนี้คือทำเป็น netcast นั้นคือเป็นไฟล์เสียงของผม (ตอนนี้กำลังพูดเรื่องการวางแผนยุทธศาสตร์อยู่ครับ) พร้อมทั้ง powerpoint ให้ดูตามได้ด้วย ลองเข้าไปดูนะครับ ที่ www.pasuonline.net พร้อมทั้งยินดีรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมครับ