21 May 2006
เนื้อหาในสัปดาห์นี้อาจจะมีที่มาแปลกกว่าสัปดาห์อื่นๆ นะครับ นั้นคือเรามาเรียนรู้เคล็ดการบริหารจากแหล่งใหม่กันนะครับ นั้นคือจากหนังสือที่ระลึกงานศพ ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดีๆ นะครับ จะพบว่าหนังสือที่ระลึกงานศพทั้งหลายจะเป็นแหล่งความรู้ที่ดีและน่าสนใจทีเดียว แม้กระทั่งในเรื่องของการบริหารจัดการ หนังสือที่ระลึกงานศพเล่มที่ผมจะยกขึ้นมาอ้างนั้นเป็นของอดีตข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยระดับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ที่เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่งด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกพร้อมภรรยาเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว (วันที่ 26 พ.ค.นี้ก็ครบ 15 ปีพอดีครับ) เนื้อหาที่จะนำเสนอนั้นผมรวบรวมมาจากข้อเขียนของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ที่ใกล้ชิด รวมทั้งมิตรสหายของผู้ว่าฯ ท่านนี้ ที่ได้กล่าวถึงวิธีการและแนวทางในการบริหารของท่านที่พอผมย้อนกลับมานั่งอ่านตอนนี้แล้วก็พบว่าเป็นข้อคิดที่น่าสนใจและน่าจะเผยแพร่ให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ
จังหวัดแรกที่ผู้ว่าฯ ท่านนี้ไปรับตำแหน่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ทางภาคกลาง ผู้ว่าฯ ท่านนี้ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการมาอยู่จังหวัดเล็กๆ ว่า “หลายๆ คนเขาปฏิเสธจะมาที่นี้ เพราะเห็นว่าไม่ค่อยมีงานทำ แต่ตนเองขอมาเพราะเชื่อว่า อยู่ที่ไหนมันก็มีงานทำทั้งนั้นแหละ ถ้าเราคิดจะทำงาน” นอกจากนี้ท่านยังกล่าวอีกว่า “จะไม่คิดอะไรใหม่ เพราะของเก่าที่รัฐบาลและที่กระทรวงทบวงกรมต่างๆ คิดไว้มันมีมากพออยู่แล้ว” ซึ่งก็จริงนะครับ เพราะผลงานของท่านที่จังหวัดนี้คือทำของเก่าที่คนอื่นคิดไว้แล้วให้ดีที่สุด โดยการหยิบงานเดิมมาสานต่อ พร้อมกับทุ่มเทเอาใจใส่ต่อการทำงาน – ซึ่งแนวคิดนี้มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าพอคนใหม่ (ไม่ว่าข้าราชการหรือเอกชน) เข้ามาแทนคนเดิมที่ต้องพ้นวาระไปก็มักจะคิดแต่สร้างสิ่งใหม่ๆ เป็นของตนเอง โดยลืมไปว่าหลายๆ เรื่องที่ผู้บริหารเดิมทำไว้นั้นเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะสานต่อไปได้ การมัวแต่สร้างงานใหม่ๆ โดยลืมเรื่องเดิมๆ ที่เคยทำไว้นั้นก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาให้กับคนทำงานพอสมควรครับ จะได้ยินเสียงบ่นบ่อยมากที่ว่าพอนายใหม่มาก็ลืมของเดิมที่นายเก่าทำไว้ แล้วก็พยายามสร้างอาณาจักรของตนเองต่อไป ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นกงกรรมกงเกวียนอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ นะครับ
ก่อนที่ผู้ว่าฯ ท่านนี้จะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่จังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือนั้นสิ่งที่ท่านได้ทำคือการสำรวจและสอบถามความคิดเห็นของผู้นำทางสังคม ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ว่าปัญหาของจังหวัดที่ควรจะแก้ไขมีอะไรบ้าง รวมทั้งการเดินทางไปพูดคุยอย่างละเอียดกับผู้ว่าฯ ท่านเดิม ผลจากการเก็บข้อมูลล่วงหน้านั้นทำให้ได้แนวทางในการพัฒนาจังหวัด 18 ประการ ที่ผู้ว่าฯ ท่านนี้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาของจังหวัดอยู่ตลอดเวลา – ถ้าเป็นยุคปัจจุบันการสอบถามความเห็นของผู้รับบริการไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ แต่ในยุคนั้น (2530) ที่ความตื่นตัวในเรื่องของการทำแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้รับบริการยังไม่แพร่หลาย ก็ถือว่าสร้างความฮือฮาได้ระดับหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่การทำแบบสอบถามหรอกนะครับ แต่เป็นการนำข้อมูลที่ได้รับนั้นมากำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัด ที่มีการใช้งานกันอย่างจริงจัง
อีกวิธีการหนึ่งที่ท่านใช้ในการสร้างบรรยากาศที่ดีและส่งผลถึงการปรึกษาหารือและคิดแก้ปัญหางานได้ดีประการหนึ่งคือ การจัดให้มีการกินข้าวกลางวันบนศาลากลางจังหวัดตามโอกาสต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากจังหวัดที่ท่านดูแลนั้นเป็นจังหวัดที่ใหญ่ โอกาสที่ผู้บริหารระดับรองๆ จะได้คุยอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าฯ นั้นหาได้ไม่ง่าย โดยปกติก็จะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบกันอยู่แล้ว หรือเมื่อพบกัน เวลาและสถานที่ก็ไม่เหมาะสำหรับการติดตามสอบถามหารือข้อราชการ การรับทานครั้งหนึ่งก็จะประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ครั้งละ 5-6 ท่านหมุนเวียนกันไป โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีงานอยู่ระหว่างการดำเนินการหรือต้องหารือ ผลปรากฎว่าการหารือข้อราชการและรับทานอาหารกันไปด้วยนั้นได้เนื้อหางานดี และบ่อยครั้งที่ดกว่าการประชุมอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไป แถมไม่สิ้นเปลืองมากเนื่องจากอาหารก็สั่งมาจากโรงอาหาร – ปัจจุบันผมก็เห็นผู้บริหารหลายๆ ท่านทำแบบนี้ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดีมากครับ แต่พบว่าส่วนใหญ่ลูกน้องไม่ค่อยอยากจะมานั่งกินข้าวกับนายเท่าไร แทนที่จะสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้นกลับ ทำให้ลูกน้องเสียขวัญและกำลังใจกันไปทีเดียวเลยเมื่อถูกนายเรียกมาทานข้าวด้วย ดังนั้นจะทำแบบนี้ได้คงจะต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์พอสมควรนะครับ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องงานประชาสัมพันธ์ครับ ในจังหวัดแรกที่ท่านไปอยู่ในทุกสุดสัปดาห์ผู้ว่าฯ จะแทรกเอกสารข่าวจำนวน 1-2 หน้า ซึ่งจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานและกิจกรรมของจังหวัดตามหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายในจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข่าวสารความเป็นไปในจังหวัด พอมาอยู่จังหวัดที่สอง ผู้ว่าฯ ท่านนี้ได้ริเริ่มรายการวิทยุ “ผู้ว่าฯ พบประชาชน” ขึ้นมาที่จังหวัด (อย่าไปสับสนกับรายการนายกพบประชาชนนะครับ และอย่าลืมว่าผู้ว่าท่านนี้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2534) โดยผู้ว่าฯ ต้องการมีความใกล้ชิดกับประชาชนให้มากขึ้น ใครมีปัญหาอะไรก็ถามได้ แล้วจะถูกนำมาตอบในรายการผู้ว่าฯ พบประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัดในทุกเช้าวันเสาร์ ซึ่งปรากฎว่ารายการนี้เป็นรายการที่มีคนฟังมากที่สุดในจังหวัด – เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างของการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งนะครับ เนื่องจากปัญหาของผู้บริหารหลายๆ ท่านคือขาดการประชาสัมพันธ์ และการสร้างความใกล้ชิดกับบุคลากรในทุกระดับ การใช้ประโยชน์จากสื่อที่มีอยู่ก็ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งนะครับ
ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าแนวทางการบริหารหลายๆ ประการข้างต้นหลายประการมีความน่าสนใจและน่าจะนำไปประยุกต์ได้ คิดว่าผู้ว่าฯ ท่านนี้คงไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ ก่อนจบก็ต้องขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ได้เขียนข้อความระลึกถึงผู้ว่าฯ ท่านนี้ ซึ่งผมขออนุญาตินำมาบอกเล่าต่อให้ท่านผู้อ่าน สุดท้ายนี้ก็ขออนุญาติระลึกถึงผู้ว่าฯ ท่านนี้นะครับ ท่านชื่อ ดร.ไพรัตน์ เดชะรินทร์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทและเชียงใหม่