5 March 2006

ไม่ทราบท่านผู้อ่านชอบอ่านนวนิยายกันบ้างไหมครับ? ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไทย จีน ฝรั่ง ฯลฯ ผมเองก็ถือเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านนวนิยายครับ ตั้งแต่ฝรั่ง (นักเขียนโปรดคือ Sidney Sheldon และ Jeffrey Archer ครับ) ไทย (ชอบของ ป.อินทรปาลิต ว.วินิจฉัยกุล ปิยะพร ศักดิ์เกษม และดวงตะวัน) และจีนกำลังภายใน (ที่ชอบก็กิมย้ง ชิวมั่งฮุ้น และอ้อเล้งเซ็ง เป็นต้น) นอกนั้นก็อ่านได้เรื่อยๆ ครับ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะครับ สัปดาห์นี้ไม่ได้มาสลับบรรยากาศระอุด้วยการวิพากษ์หรือเล่าถึงนวนิยายนะครับ แต่อยากจะเชิญชวนท่านผู้บริหาร ผู้ที่สนใจศึกษาทางด้านบริหารมาลองอ่านนวนิยายกันบ้างครับ แล้วลองย้อนกลับมาดูซิครับว่าเราจะเรียนรู้ในเรื่องของภาวะผู้นำ พฤติกรรมองค์การ การทำงานเป็นทีม บุคลิกภาพของคน จากนวนิยายเหล่านี้ได้หรือไม่?

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าเราจะเรียนรู้กลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ในด้านการบริหารจัดการจากนวนิยายได้อย่างไร? ในต่างประเทศเองเขาก็ตื่นตัวเรื่องนี้กันแล้วครับ ที่ Harvard Business School สถาบันการสอนทางด้าน MBA ชื่อดังของโลกนั้น Professor Joseph L. Badaracco Jr., ได้นำเนื้อหาในนวนิยายหลายๆ เล่มเข้ามาใช้สอนเป็นกรณีศึกษาให้กับนิสิต MBA ที่มาเรียนกับเขา ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 2549 นี้ Prof. Badaracco ได้ให้สัมภาษณ์บรรณาธิการของวารสารถึงการนำนวนิยายมาใช้สอนในหลักสูตร MBA ที่ฮาร์วาร์ด (ในบทความชื่อ Leadership in Literature) โดยเขามองว่าเนื้อหาในนวนิยายเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นกรณีศึกษาเล่มใหญ่สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาทางด้านภาวะผู้นำ ความแตกต่างระหว่างกรณีศึกษาจากนวนิยายและกรณีศึกษาที่เขียนขึ้นมาสำหรับใช้ในการเรียนการสอนจริงๆ ก็คือ กรณีศึกษาจากนวนิยายนั้น อาจจะจับต้องได้ลำบาก มีข้อมูลประกอบน้อยกว่า และไม่ได้มีทางออกที่ชัดเจนเท่ากับกรณีศึกษาที่เขียนขึ้นมาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน แต่ในนวนิยายหลายๆ เรื่องที่เป็นอมตะนั้น จะนำไปสู่ประเด็นปัญหาและคำถามหลายๆ เรื่องที่จะเป็นกรณีศึกษาที่เหมาะสมกว่ากรณีศึกษาทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ Prof. Badaracco เขาแนะนำเลยครับว่า นวนิยายอมตะอย่าง Julius Caesar เมื่อนำมาอ่านแล้ว จะทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะผู้นำได้ดีกว่าตำราทางด้านภาวะผู้นำ

ทีนี้เรามาพิจารณานวนิยายที่เราๆ อ่านกันบ้างนะครับ ดูเหมือนว่าสามก๊กจะเป็นเรื่องที่คนไทยนำมาอ้างอิงและเชื่อมเข้ากับการบริหารจัดการมากที่สุด มีหนังสือออกมาจำนวนมากที่เชื่อมโยงหลักการ แนวคิด วิธีคิดจากสามก๊กเข้ากับหลักทางด้านการบริหาร โดยเฉพาะแนวคิดและกลยุทธ์ของบรรดากุนซือทั้งหลายในสามก๊กก็มีเขียนกันออกมาพอสมควร และที่น่ายินดีคือมีนักธุรกิจไทยจำนวนมากที่อ่านและเข้าใจสามก๊กอย่างทะลุปรุโปร่งแล้วสามารถนำมาเชื่อมโยงกับหลักทางการบริหารได้ เมื่อเทอมที่ผ่านมาผมสอนวิชากลยุทธ์ธุรกิจให้กับนิสิต MBA Executive (รุ่นที่ 19) ของคณะบัญชี จุฬา  ยังจำได้เลยว่ามีนิสิตที่เป็นผู้บริหารระดับผอ.โรงพยาบาลและเจ้าของธุรกิจใหญ่ได้ยกหลักการและเหตุการณ์จากสามก๊กเข้ามาเชื่อมโยงกับเนื้อหาทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องของสามก๊กกับการบริหารผมขออนุญาติไม่ยกมานะครับ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้กล่าวถึงแล้ว แต่ทีนี้เรามาดูนวนิยายอื่นๆ ที่เราอ่านกันทั่วไปนะครับว่าจะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการได้หรือไม่? ตอนเริ่มคิดเขียนบทความนี้ ก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันนะครับว่านวนิยายเรื่องไหนที่อ่านๆ มาพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ ตอนแรกว่าจะเอาเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ (ตอนที่ 4) มาเชื่อมโยงกับการบริหารอยู่เหมือนกันครับ เนื่องจากในตอนนี้แฮรี่ได้เริ่มแสดงความเป็นภาวะผู้นำขึ้นมาอย่างชัดเจน และการทำงานอย่างเสียสละของสมาชิกภาคีนกฟินิกซ์ รวมทั้งลักษณะของสมาชิกภาคีที่มีพื้นฐานที่แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียวครับ แต่ปัญหาคือผมกำลังอ่านเรื่องนี้ได้ครึ่งหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นก็คิดว่ายังไม่เหมาะ แต่ท่านผู้อ่านที่จบแล้วอาจจะลองเชื่อมโยงเนื้อหาในแฮรี่ พอตเตอร์กับศาสตร์ทางด้านการบริหารก็ได้นะครับ

พอตัดสินใจไม่เขียนเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ ผมก็นึกไม่ค่อยออกแล้วครับ ก็เลยใช้ที่ปรึกษาใกล้ตัว เลยถามภรรยาผมครับว่ามีนวนิยายเรื่องไหนที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการ (ภรรยาผมเธอเป็นนักอ่านนวนิยายไทยตัวยงคนหนึ่งครับ) เธอก็แนะนำถึงเพชรพระอุมา (ของพนมเทียน) ทันทีแบบไม่ต้องคิดครับ ซึ่งพอเธอพูดจบผมก็ถึงบางอ้อครับ เนื่องจากตัวเองก็อ่านเพชรพระอุมามาสามรอบ และถือเป็นหนึ่งในนวนิยายเรื่องโปรดของตัวเองเรื่องหนึ่งทีเดียว พอพูดถึงเพชรพระอุมากับการบริหาร ผมก็นึกได้ถึงหลายๆ ประเด็นเลยครับ ตั้งแต่ลักษณะภาวะผู้นำของคุณชายเชษฐา รพินทร์ หรือแม้กระทั่งแงซาย นอกจากนี้เรื่องของการทำงานเป็นกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มก็น่าศึกษาครับ ซึ่งนอกเหนือจากตัวละครข้างต้นทั้งสามคนแล้ว เรื่องของไชยยันต์ มาเรีย ดาริน หรือแม้กระทั่งพรานเฒ่าอย่างบุญคำ ก็น่าศึกษาครับ

ประเด็นที่สามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาได้ ก็สามารถเริ่มตั้งแต่เล่มแรกเลยครับ นั้นคือตอนที่ทางกลุ่มราชสกุลวราฤทธิ์ได้ว่าจ้างจอมพรานใหญ่แห่งหนองน้ำแห้งรพินทร์ ไพรวัลย์ ให้ออกตามหาม.ร.ว.อนุชาน้องชายคนกลางนั้น แงซาย ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าลึกลับ เคลือบแคลง เคยอยู่ร่วมกับกองโจรกะเหรี่ยงมาก่อน มาขอสมัครเข้าเป็นคนรับใช้ติดตามคณะเข้าป่าไปด้วย ซึ่งคุณชายเชษฐา แทนที่จะตัดสินใจทันทีก็ขอฟังความเห็นของรพินทร์ก่อน (สะท้อนภาวะผู้นำแบบ Democratic) แล้วหลังจากนั้นค่อยทำการตัดสินใจ ซึ่งก็ถือเป็นความเสี่ยงเหมือนกันที่รับคนที่ไม่รู้จักและลึกลับมาเข้าร่วมขบวน ท่านผู้อ่านลองนึกย้อนกลับไปกรณีของท่านนะครับ ถ้าท่านจะต้องรับคนที่ไม่รู้ฝีมือ (นอกจากจากคำบอกเล่า) มาร่วมงานที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายด้วย ท่านจะรับหรือไม่? ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ถ้านำมาพูดในห้องเรียนคงเป็นเรื่องที่น่าจะใช้เวลาเถียงกันพอสมควรนะครับ (แต่ก่อนเถียงกัน ทุกคนต้องไปอ่านเพชรพระอุมากันอีกรอบก่อนนะครับ)

วันนี้ขอทิ้งไว้แค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าผมจะลองหานวนิยายเรื่องใหม่ๆ มาลองยกเป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงกับการบริหารกันต่อนะครับ