26 December 2005

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของปีใหม่นะครับ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้อ่านเองจะมีความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งปกติสำหรับช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่ แต่ประเด็นสำคัญคืออย่าให้ความรู้สึกนั้นติดตัวเราไปทั้งปีนะครับ เชื่อว่าผู้บริหารของทุกๆ องค์กรคงพอจะทำใจที่พนักงานจะขาดความกระตือรือร้นในการทำงานในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่ได้ แต่คงยากที่จะทำใจที่พนักงานจะเป็นแบบนั้นทั้งปีนะครับ

ประเด็นสำคัญที่เรามักจะละเลยคือ เราจะนึกว่าการที่พนักงานขาดความกระตือรือร้นนั้นเกิดขึ้นจากตัวพนักงานเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วการขาดความกระตือรือร้นนั้นจะเกิดจากแนวทางในการบริหารจัดการของผู้บริหารมากกว่า

ลองสังเกตดูก็ได้ครับจะพบว่า ตอนพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ๆ จะยังมีความกระตือรือร้นในการทำงานอยู่ แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ แล้วความกระตือรือร้นนั้นก็จะหายไป สุดท้ายก็เป็นความเฉื่อยชาที่เข้ามาแทนที่ ผู้อ่านคิดว่าเป็นเพราะตัวพนักงานหรือเป็นเพราะการบริหารจัดการของผู้บริหารครับ?

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Enthusiastic Employee เขียนโดย David Sirota และทีมงาน ได้ศึกษาวิจัยตัวอย่างต่างๆ มากมาย และสุดท้ายสรุปว่า การที่พนักงานจะมีความกระตือรือร้นในการทำงานได้นั้นเกิดขึ้นจากปัจจัย 3 ประการได้แก่ ความเสมอภาคยุติธรรม การบรรลุผลสำเร็จ และความสนิทสนมไว้วางใจภายในองค์กร เรามาพิจารณาทีละปัจจัย

ปัจจัยแรกขอเรียกว่า ความเสมอภาค ยุติธรรม หรือ Equity เป็นระดับความเชื่อของพนักงานว่า ตนเองได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเสมอภาคและยุติธรรมจากผู้บังคับบัญชา รวมถึงการเปรียบเทียบในสิ่งที่ตนเองได้รับเมื่อเทียบกับมาตรฐานทั่วๆ ไป ความยุติธรรมที่พนักงานจะดูส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องของผลตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ สภาวะแวดล้อมการทำงาน ภาระงานที่ได้รับ หรือแม้กระทั่งโอกาสในความก้าวหน้า

ถ้าถามว่า ความยุติธรรมในเรื่องไหนที่เป็นสิ่งที่สำคัญต่อขวัญ กำลังใจ และความกระตือรือร้นในการทำงาน ผลวิจัยก็พบว่าหนีไม่พ้นในเรื่องของค่าจ้างและผลตอบแทนต่างๆ

เขาระบุเลยครับว่า อย่าไปเชื่อพวกที่ชอบบอกว่าเรื่องของค่าจ้างผลตอบแทนนั้นเป็นปัจจัยที่ไม่มีความสำคัญต่อความกระตือรือร้นในการทำงาน เงินถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกๆ คน และในขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่มีอันจะกินอย่างเพียงพอแล้ว ค่าจ้าง ผลตอบแทนก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของการได้รับการยอมรับและความสำเร็จ

นอกเหนือจากเรื่องค่าตอบแทนแล้วการได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกของผู้ที่เป็นเจ้านายต่อลูกค้าแต่ละคนอย่างเสมอภาคและยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ หรือไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ก็เป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่ความกระตือรือร้นในการทำงานของพนักงาน

ปัจจัยประการที่สองคือเรื่องของการบรรลุความสำเร็จ (Achievement) โดยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า พนักงานที่ทำงานในองค์กรที่มีความเป็นเลิศและประสบความสำเร็จจะมีความกระตือรือร้นในการทำงานที่สูง แต่ประเด็นสำคัญคือความกระตือรือร้นของพนักงานไม่ได้เกิดจากการทำงานในองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ทำดีและปฏิบัติดีด้วย

เรามักจะนึกว่าในองค์กรธุรกิจสุดท้ายแล้วต้องเป็นเรื่องเงินอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วผลการวิจัยต่างๆ พบว่าพนักงานก็ต้องการทำงานในองค์กรที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติถูกต้องด้วย

ท่านผู้อ่านอยากจะให้พนักงานของตนมีความภูมิใจในการทำงานในองค์กรหรือไม่? มีการพบว่า พนักงานจะเกิดความรู้สึกภูมิใจในการทำงาน (Pride) จากความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เหล่านี้ 1.องค์กรที่มีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่เป็นเลิศ 2.มีความเป็นเลิศในประสิทธิภาพการดำเนินงาน 3.ความเป็นเลิศในตัวของสินค้าและบริการที่นำเสนอ 4.ความเป็นเลิศในด้านศีลธรรม จริยธรรม

ดังนั้นคงพอจะสรุปเบื้องต้นได้นะครับว่า ความสำเร็จขององค์กรที่นำไปสู่ความกระตือรือร้นในการทำงานนั้น ไม่ใช่ทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นในด้านศีลธรรม จริยธรรม และการปฏิบัติดีขององค์กรด้วย นอกเหนือจากความสำเร็จขององค์กรแล้วการบรรลุความสำเร็จในการทำงานของพนักงานแต่ละคนก็สำคัญ ทุกคนควรจะต้องสามารถมองเห็นว่า สิ่งที่ตนเองทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมขององค์กรได้อย่างไร และจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองสามารถทำงานได้สำเร็จ

ปัจจัยประการที่สามคือ เรื่องของมิตรภาพในที่ทำงาน (Camaraderie) พนักงานทุกคนมาทำงานในแต่ละวันไม่ใช่เพื่อมาเข้าสู่สนามรบนะครับ ทุกคนไม่ได้มาทำงานเพื่อต่อสู้กับเพื่อนร่วมงานหรือผู้อื่น ดังนั้นผู้บริหารควรจะเข้าใจในความต้องการพื้นฐานของทุกคนที่ต้องการที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนและกลมเกลียว หลายๆ ครั้งความพึงพอใจและความกระตือรือร้นของพนักงานเกิดจากการได้ทำงานร่วมกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ดี

หรืออีกนัยหนึ่งคือการทำงานในทีมที่ดี เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นเรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นทีมจึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการในการทำให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน

เป็นอย่างไรครับปัจจัยทั้งสามประการ จริงๆ แล้วไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพียงแต่เป็นการยืนยันในทฤษฎีเดิมๆ ที่เราเคยรู้จักกัน และเป็นการย้ำเตือนทุกท่านให้ย้อนกลับไปถึงหลักการบริหารพื้นฐานที่เราคุ้นเคยกัน ผู้อ่านลองนำไปคิดและปรับใช้ดูนะครับ

สุดท้ายก็ขออำนวยพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ไปยังผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์หน้าเป็นฉบับพิเศษที่จะนำเสนอเรื่องแนวโน้มการบริหารจัดการในปีจอ ส่วนคอลัมน์มองมุมใหม่ในส่วนของผมนั้นจะกลับมาเจอกันอีกครั้งในวันที่ 10 มกราคม 2549 นะครับ