29 May 2006
ท่านผู้อ่านสงสัยไหมครับว่าการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง หรือ ต้องฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง? จริงๆ แล้วก็มีหนังสือประเภทนี้อยู่บ้างพอสมควร แต่หลายๆ เล่มเมื่ออ่านดูแล้วก็เหมือนเอาพวกทฤษฎีหรือหลักการทางด้านบริหาร ภาวะผู้นำ เข้ามาจับ ซึ่งท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงจริงๆ อาจจะเถียงในใจว่าทางปฏิบัติกับทางทฤษฎีมันไม่ได้เหมือนกันหมด 100% ลองดูคำถามง่ายๆ ก็ได้นะครับ ถ้าผมสงสัยว่าการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจได้นั้น (ไม่นับการเป็นธุรกิจของครอบครัวนะครับ) จำเป็นต้องมีการเสียสละหรือไม่? คำว่าเสียสละของผมนั้นอาจจะเป็นเวลาที่ให้กับครอบครัว หรือเวลาที่ให้กับสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือเวลาที่ให้กับการดูแลสุขภาพ ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการใกล้ชิดและดูแลครอบครัว กับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือไม่?
หรือ อีกคำถามหนึ่งคือ คนที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงได้นั้นจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความฉลาดเป็นเลิศ มีสมองดี ความจำดี ไหวพริบดี หรือไม่? คนที่สมองปานกลาง (เช่นพวกเราส่วนใหญ่) มีโอกาสหรือสามารถจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงได้หรือไม่? หรือ อีกคำถามคลาสสิกก็คือ การจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับสูงได้ จำเป็นต้องเล่นการเมืองภายในองค์กรเป็นหรือไม่? จริงๆ แล้วยังมีคำถามอีกมากนะครับ และท่านผู้อ่านสังเกตซิครับ หนังสือหลายๆ เล่มที่เขียนเกี่ยวกับการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้น มักจะไม่ค่อยได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาเท่าใด ส่วนใหญ่ก็จะนำเอาพวกหลักการและทฤษฎีทางด้านการจัดการเข้ามาจับ
ผมเองไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาครับ และไม่ใช่การตอบคำถามโดยตัวผู้เขียนเองครับ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ (ชื่อ Susan A. DePhillips) เขาไปสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสุงใน Fortune 500 มาจำนวนหนึ่ง แล้วก็พบความจริงหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มักจะไม่ได้เขียนอยู่ในตำราทางด้านการจัดการทั่วๆ ไป แต่เป็นความจริงจากประสบการณ์ของผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเขาเลยตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า Corporate Confidential เราลองมาดูในประเด็นสำคัญกันนะครับ แต่ก็ต้องเตือนทุกท่านว่าต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินใจนะครับ เนื่องจากประสบการณ์เหล่านี้เป็นประสบการณ์ของผู้บริหารชาวต่างประเทศ
คำถามแรกก็คือการจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ และยังประสบความสำเร็จในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ได้ จะต้องแลกด้วยเวลาและคุณภาพชีวิตหรือไม่? เอาง่ายๆ ก่อนเลยก็ได้ครับว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องทุ่มเทเวลาในการทำงานมากกว่าปกติหรือไม่? นั้นคือจะต้องเข้ามาถึงที่ทำงานก่อนเป็นคนแรก หรือกลับออกไปเป็นคนสุดท้าย ซึ่งยังไม่นับเวลานอกเหนือเวลาทำงานที่ต้องคิดและทุ่มเทให้กับงาน จากการสัมภาษณ์พบว่าผู้บริหารระดับสูงของฝรั่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการทำงานโดยเฉลี่ย 65 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าหารด้วยห้าวันทำงานแล้วก็จะตกวันละ 13 ชั่วโมง หรือถ้าเข้าทำงานตอนแปดโมงเช้า ก็จะกลับออกจากที่ทำงานประมาณสามทุ่มขึ้นไป ซึ่งตัวเลขนี้คือตัวเลขเวลาในการทำงานโดยเฉลี่ยของผู้ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วด้วยนะครับ ซึ่งพอมองย้อนกลับมาที่เมืองไทยก็พบว่าจริงในหลายๆ ท่านครับ ผมจะเจอผู้บริหารระดับสูงหลายๆ ท่านมากที่ทำงานโดยเฉลี่ยมากกว่า 65 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แถมยังเข้ามาทำงานวันเสาร์ และเอางานกลับไปทำที่บ้านอีก
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะเคยคิดว่าคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงนั้นแสนจะสบาย อยู่ในที่ทำงานโก้ๆ มีเงินเดือนแพงๆ มีคนคอยบริการ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเต็มไปหมด แต่พอเห็นเวลาในการทำงานต่อสัปดาห์แล้ว ก็คงจะเห็นว่าไม่น่าสบายเท่าใดนะครับ จริงอยู่นะครับว่าเวลาที่ใช้ในการทำงานเยอะ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงาน เนื่องจากเจอผู้บริหารหลายท่านเหมือนกันที่ทำงานเยอะ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีของผู้บริหารระดับสูงคิดว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งพอต้องใช้เวลาในการทำงานเยอะแล้วก็ต้องแลกกับเวลาส่วนตัวครับ นั้นคือเวลาที่จะให้ครอบครัว เวลาสำหรับการทำสิ่งที่ตนสนใจ และเวลาสำหรับการดูแลสุขภาพ
คำถามสำคัญคือการจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงได้จะต้องแลกกับสิ่งต่างๆ ข้างต้นหรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องครอบครัวและสุขภาพ คนที่จะก้าวหรือก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงจะต้องสูญเสียเวลาบางช่วงกับครอบครัวไป ซึ่งหลายๆ ท่านก็หาทางออกโดยตกลงกับคู่สมรสในการผลัดกันดูแลครอบครัว หรือ บางท่านก็จะกันเวลาไว้ช่วงหนึ่งของปีที่จะมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัว นอกจากเรื่องครอบครัวแล้ว เวลาที่จะใช้ในการดูแลสุขภาพก็จะน้อยลงไป ดังนั้นก็ไม่ค่อยน่าแปลกใจนะครับว่าผู้บริหารระดับสูงหลายๆ ท่านจะป่วยเป็นโรคต่างๆ เยอะขึ้น
โดยสรุปก็คือจะก้าวหรือดำรงอยู่เป็นผู้บริหารระดับสูงนั้นจะต้องมีการเลือก หรือ Trade-off ระหว่างบางสิ่งบางอย่างครับ เช่น อยากจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง พร้อมๆ กับมีเวลาให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Trade-off ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าผู้บริหารเมืองไทยประสบปัญหาเดียวกันหรือไม่? แต่ผมเจอหลายๆ ท่านก็มีลักษณะดังกล่าวครับ เอาไว้สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่าการจะเป็นผู้บริหารระดับสูงได้มีประเด็นอะไรอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกบ้าง