4 June 2006

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะได้มีโอกาสสัมผัสหรือพบเจอคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเป็นประจำ ท่านผู้อ่านได้เคยสังเกตบ้างไหมครับว่า คนที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้จำต้องมีความเฉลียวฉลาดเหนือกว่าผู้อื่นหรือไม่? ไหวพริบ ความชาญฉลาด ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำหรับการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือไม่? ท่านผู้อ่านเคยเจอผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ฉลาด (หรือโง่) บ้างไหม? ผมว่าคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่น่าสนใจและชวนคิดเหมือนกันนะครับ

ผมเองมีโอกาสพบเจอผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา อาจารย์ หรือ ที่ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยครับ คือผู้บริหารระดับสูงเหล่านั้นในเชิงสติปัญญา ทัศนคติ หรือ บุคลิกภาพนั้นมีความแตกต่างจากผู้บริหารระดับรองลงมาอย่างชัดเจน ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าการจะเป็นผู้บริหารระดับสูงได้จะต้องเฉลียวฉลาดกว่าผู้อื่นนะครับ จริงอยู่ที่ผู้บริหารบางท่านอาจจะฉลาดกว่าผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ จะมีมุมมองที่กว้างกว่าผู้อื่นในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ ความสามารถของผู้อื่นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และเป็นผู้ที่สามารถจับประเด็นที่สำคัญ เชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เหล่านั้นเข้าด้วยกัน และสรุปเป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อไปได้

ทีนี้มาลองดูบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูงของอเมริกาจากหนังสือ Corporate Confidential เขียนโดย Susan DePhillips กันบ้างนะครับ Susan ได้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก และโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริหารเหล่านั้นจะยอมรับว่าความฉลาดของตนเองนั้นอยู่ในระดับเฉลี่ยหรือสูงกว่าเฉลี่ยนิดหน่อยเท่านั้นเอง (ไม่รู้ว่าผู้บริหารเหล่านั้นเขาถ่อมตัวกันหรือเปล่านะครับ) แต่ไม่ว่าผู้บริหารเหล่านั้นจะมองตนเองอย่างไร ส่วนใหญ่เชื่อว่าความฉลาดของตนเองอยู่ในระดับเดียวกับผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ (อันนี้เขาเรียกว่าไม่ยอมแพ้กันครับ)

ผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ต่างมีความเห็นว่า เรื่องของความฉลาดนั้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้นครับ มีคนอีกมากมายที่มีความฉลาดเป็นเลิศ แต่มีปัญหาไม่สามารถแปลงความฉลาดของตนเองไปสู่สิ่งที่สามารถปฎิบัติได้ ความฉลาดหรือความรู้ที่ได้เรียนมาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้รับการยอมรับในองค์กร จนกว่าจะสามารถนำความรู้หรือความฉลาดนั้นไปสู่การปฏิบัติจริงที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ผู้บริหารบางท่านระบุเลยครับว่าในการทำงานนั้น สิ่งที่สามารถทำได้ สำคัญกว่า สิ่งที่รู้

คงพอจะสรุปเบื้องต้นได้นะครับว่าความเฉลียวฉลาดอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเดียวหรือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ทีนี้มาถึงคำถามที่สองก็คือผู้บริหารระดับสูงควรจะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ไหม? ท่านผู้อ่านเคยเห็นผู้บริหารระดับสูงที่ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้ หรือ ไม่รู้ในบางเรื่องไหมครับ? ผมเองเจอบ่อยครับ โดยเฉพาะยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเท่าใดยิ่งเจอมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนเรื่องการยอมรับว่าไม่รู้นั้นจะแปลผกผันกับการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่เป็นผู้บริหารระดับต้นจำนวนมาก (โดยเฉพาะผู้ที่จบมาใหม่ๆ) มักจะคิดว่าตนเองรู้ในทุกเรื่อง (ไม่ใช่ทุกคนนะครับ แต่จำนวนมาก) บุคคลเหล่านี้มักจะไม่ค่อยยอมรับออกมาอย่างเปิดเผยว่าตนเองไม่รู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่พอขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงแล้ว กลับพบเจอผู้บริหารระดับนี้ที่จำนวนมากที่ออกมายอมรับว่าไม่รู้ในหลายๆ เรื่อง เสมือนว่าเมื่อก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงเรื่อยๆ จะพบเจอสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น และทำให้พบว่าที่ตนเองคิดว่ารู้ทุกเรื่องนั้น จริงๆ แล้วอยังไม่เรื่องที่ไม่รู้อีกเยอะมาก

จากหนังสือ Corporate Confidential บรรดาผู้บริหารระดับสูงของอเมริกายอมรับคล้ายๆ กันว่า จากประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ การยอมรับออกมาอย่างเปิดเผยว่าตนเองไม่รู้หรือไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง โดยไม่รู้สึกขายหน้าหรืออับอาย ผู้บริหารท่านหนึ่งระบุออกมาอย่างชัดเจนเลยครับว่า เราจะพบว่าในการทำงานจริงๆ นั้น เป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะรู้ในทุกเรื่อง

เรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความสามารถของผู้ที่ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงคือการพัฒนาทักษะในการสื่อสารด้วยการเขียน ดูๆ ไปอาจจะเป็นเรื่องง่ายนะครับ แต่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารมักจะพบปัญหาหนึ่งในลูกน้องของท่านคือความสามารถในการเขียน ความสามารถในการเขียนนั้นไม่ใช่เรื่องของลายมือนะครับ แต่เป็นการเขียนบันทึก รายงาน ต่างๆ ให้สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ สังเกตดูนะครับว่าถ้าเราไม่สามารถเขียนให้ได้ดีแล้ว เวลาเจ้านายของเราอ่านบันทึกหรือรายงานของเรานั้น ส่วนใหญ่ท่านจะใช้เวลาในการแก้ไขรูปแบบ การเขียน มากกว่าจะสนใจต่อเนื้อหาที่อยู่ภายใน เชื่อว่าทักษะในการเขียนที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานครับ เนื่องจากการเขียนเป็นช่องทางที่สำคัญในการสื่อสารความคิด ไอเดีย ความเห็นของเราให้ผู้อื่นรับทราบ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้รับสารด้วย

ไม่ทราบว่าพอจะสรุปได้ไหมว่า คนที่จบและเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างมีความมั่นใจตนเองพอสมควร ทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ หรือ ทักษะในการเขียน ดังนั้นค่อนข้างยากครับ ที่อยู่ดีๆ จะให้คนเหล่านี้ออกมายอมรับว่าตนเองไม่รู้ในบางเรื่องหรือขาดทักษะในการสื่อสารด้วยการเขียน แต่ยิ่งก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพบว่าตนเองไม่ได้รู้ไปเสียในทุกเรื่อง และพร้อมที่จะออกมายอมรับว่าไม่รู้มากขึ้น รวมทั้งทักษะในการเขียนก็ดียิ่งขึ้น