13 November 2005

ช่วงนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรากำลังมีงานใหญ่ครับ นั้นคือในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 27 พ.ย.นี้จะจัดให้มีงานจุฬาฯ วิชาการ 48 ขึ้น ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดสามปีครั้งโดยหัวข้องานในปีนี้คือ “สานความรู้ สู่แผ่นดิน” แต่ก่อนที่ผมจะเล่าเรื่องงานนี้ ขอเล่าอีกเรื่องหนึ่งก่อนนะครับ ซึ่งก็เป็นข่าวดีที่เกิดขึ้นกับจุฬาฯ เมื่อไม่นานมานี้ นั้นคือจากการจัดลำดับของนิตยสาร Times Higher Education Supplement ได้ประกาศผล การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 200อันดับแรกในปีนี้ ซึ่งปรากฏว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ติดอันดับดังกล่าว โดยอยู่ในอันดับที่ 121 ซึ่งเมื่อเทียบกับผลการจัดอันดับจากแหล่งข้อมูลเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว ไม่มีมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยติดใน 200 อันดับแรก

ประเด็นของวันนี้คงจะไม่ใช่เรื่องของการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยอย่างเดียวครับ แต่ที่น่าสนใจคือการสนับสนุนของภาครัฐต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งดูเหมือนในช่วงหลังจะให้ความสำคัญน้อยลงอย่างงบประมาณวิจัยของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งก็ถูกตัดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้ทราบมาว่ามหาวิทยาลัยในภูมิภาคนี้หลายแห่งได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของทางภาครัฐ

อย่าง National Taiwan University ซึ่งถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 114 นั้นเมื่อผลการจัดลำดับออกมา ทางรัฐบาลไต้หวันได้ท้าทายทางมหาวิทยาลัยเลยครับว่าว่า จะให้งบประมาณ 4 พันล้านบาท (เทียบเป็นเงินไทย) และภายในเวลา 5 ปี จะต้องขึ้นไปอยู่ใน 100 อันดับแรกให้ได้ ซึ่งทาง National Taiwan University เขาก็รับคำท้าครับ ก็เลยเกิดข้อสงสัยนะครับว่ารัฐบาลไทยจะกล้าท้ามหาวิทยาลัยของไทยบ้างไหม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการพัฒนาและยกระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในบ้านเรา

กลับมาที่เรื่องจุฬาวิชาการดีกว่าครับ สาเหตุที่นำเรื่องจุฬาวิชาการมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านนั้นก็เนื่องจากอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเที่ยวชมงานกันครับ เนื่องจากในงานดังกล่าวจะมีการนำเสนอผลงานของทั้งคณาจารย์และนิสิตให้ดูกันอย่างเต็มอิ่มเลยครับ ท่านผู้อ่านจะได้ทราบถึงผลงานทางวิชาการของคณาจารย์และนิสิตของจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ของงานเหล่านั้นต่อสังคมไทย ผมขอยกตัวอย่างโครงงานบางอย่างที่น่าสนใจมาเล่าให้ท่านผู้อ่านพิจารณานะครับ

ปัจจุบันเราได้ยินเรื่องนาโนเทคโนโลยีกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเครื่องไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งทำเครื่องไฟฟ้าจากเทคโนโลยีซิลเวอร์นาโน ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำลายหรือหยุดยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด ทางสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุของจุฬาฯ ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปในเส้นใยสิ่งทอต่างๆ เพื่อพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุดกีฬา ชุดชั้นใน ถุงเท้า เสื้อผ้า โดยเสื้อผ้าเหล่านี้จะมีความคงทนต่อการซักได้ดีกว่าผ้าปกติ และยังสามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้มากกว่า 99% ดูแล้วน่าสนใจมากนะครับ ถือเป็นการบูรณาการขององค์ความรู้ในหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทราบว่าในงานจุฬาฯ วิชาการนี้เขายังได้แจกเสื้อยืดนาโนให้กับ Staffs ของงานใส่ด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านที่ผ่านไปอาจจะลองจับดูจากบรรดานายแบบนางแบบเหล่านั้นก็ได้นะครับ

นอกจากเสื้อนาโนแล้ว ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตชมรมนักประดิษฐ์วิศวกรรมได้บูรณาการศาสตร์ต่างๆ ของคณะฯ ในงานวิจัยด้านหุ่นยนต์ จนกระทั่งได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ในระดับโลก ในงานจุฬาฯ วิชาการ ทางคณะวิศวะฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย (Robocup 2006) รอบคัดเลือกในงานนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจควรจะไปดูนะครับ จะเห็นหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม หุ่นแต่ละตัวสามารถเคลื่อนไปในทิศทางต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถเลี้ยงและยิงลูกได้เหมือนนักฟุตบอลจริงๆ โดยหุ่นยนต์แต่ละตัวจะมีโปรแกรมสมองกล (Artificial Intelligence: AI) ควบคุมการทำงานของตนเองโดยอิสระ นอกเหนือจากการแข่งขันฟุตบอลระหว่างหุ่นยนต์แล้วยังมีการแสดงผลงานวิจัยด้านหุ่นยนต์ในด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งผมว่าแค่ไปดูหุ่นยนต์แข่งฟุตบอลก็สนุดแล้วครับ

นอกจากการแสดงโครงงานต่างๆ แล้วก็ยังมีงานเสวนา อภิปราย และสัมมนาในด้านต่างๆ อีกมากมายนะครับ เช่น ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะมีการนำเสนองานของนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ “SIFE ” (STUDENTS IN FREE ENTERPRISE) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรสาธารณกุศล ในระดับนานาชาติ โดยเน้นการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษา ริเริ่ม และ ดำเนิน โครงการต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอด หลักการของวิสาหกิจเสรีให้กับชุมชนและสังคม ด้วยการร่วมคิดหาโครงการที่จะสามารถลงมือปฏิบัติจริง และให้ความรู้ที่มีการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ในหัวข้อเศรษฐกิจ การตลาด การประกอบการ การบริหารเงินและจรรยาบรรณ ในการประกอบธุรกิจ โดยกลุ่มนิสิตของคณะบัญชีได้รับรางวัล รางวัลระดับนานาชาติ “ROOKIE OF THE YEAR” ในระหว่างประเทศสมาชิกใหม่ 7 ประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสก็แวะเข้ามาดูงานของนิสิตกันนะครับว่าจากการคิดของพวกเขา จะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมได้อย่างไร

ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานจุฬาฯ วิชาการ 48 นี้ก็สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ www.chulavichakarn.com ได้นะครับ แล้วเราพบกันในงานนะครับ สุดท้ายขอร่วมไว้อาลัยในการจากไปของ Peter F. Drucker ปรมาจารย์ทางด้านการจัดการชื่อดังซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยอายุ 95 ปีด้วยครับ