19 March 2006

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเปรียบเทียบการเรียนรู้ศาสตร์ทางด้านการจัดการจากนวนิยาย สัปดาห์นี้เรามาดูการเปรียบเทียบในอีกแบบนะครับนั้นคือเปรียบเทียบการทำงานร่วมกับเจ้านายกับการฝึกสอนสิงโตในละครสัตว์ ก่อนลงรายละเอียดท่านผู้อ่านต้องนึกถึงภาพผู้ฝึกสอนสิงโตในละครสัตว์ก่อนนะครับ เวลาเราเห็นในหนังหรือการ์ตูน คนเหล่านี้จะเข้าไปในกรงกับแส้และเก้าอี้อีกตัว พร้อมกับสิงโตอีกฝูงหนึ่ง โดยคนเหล่านี้ (หรือผู้ฝึกสอนสิงโต) จะสามารถบอกหรือคอยสั่งให้สิงโตทำโน่นทำนี่ได้ตามที่ต้องการ โดยผู้ฝึกสอนเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกสิงโตกัดตาย แต่ด้วยความชำนาญ การฝึกฝน และประสบการณ์ทำให้สามารถทำงานร่วมกับสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าป่าได้ จากการศึกษาการทำงานของบรรดาผู้ฝึกสอนสิงโตเหล่านี้ ก็เลยทำให้มีคนคิดเปรียบเทียบการฝึกสอนและทำงานร่วมกับสิงโตเข้ากับการทำงานร่วมกับเจ้านาย แต่เจ้านายที่จะพูดถึงต่อไปนี้ไม่ใช่เจ้านายธรรมดาๆ นะครับ แต่เป็นเจ้านายที่มีลักษณะคล้ายสิงโตเจ้าป่า ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอธิบายอย่างไร แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบได้จากประสบการณ์นะครับว่าเจ้านายในลักษณะใดที่เราสามารถเปรียบเทียบได้กับสิงโตเจ้าป่า

ฝรั่งที่นำเรื่องของเจ้านายไปเปรียบเทียบกับสิงโตเจ้าป่านั้นชื่อ Steven L. Katz ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริหารมาหลายองค์กร โดยบุคคลผู้นี้ได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ Lion Taming (ออกมาเมื่อปีที่แล้ว) โดยเป็นหนังสือที่เปรียบเทียบการฝึกสอนและทำงานร่วมกับสิงโต เข้ากับการทำงานร่วมกับเจ้านายที่มีลักษณะเป็นสิงโต คำถามสำคัญก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้านายคนไหนมีลักษณะเป็นราชสีห์และจะต้องใช้วิธีการของการฝึกสอนสิงโตไปเพื่อทำงานร่วมกับเจ้านายเหล่านี้ คำตอบง่ายๆ ก็คือ ท่านผู้อ่านลองสังเกตเจ้านายของท่านดูนะครับ แล้วคนไหนที่เรารู้สึกว่าเขามาจากคนละโลกกับเรา (ในแง่ดีนะครับ) และต้องการวิธีการที่แตกต่างจากธรรมดาในการทำงานด้วย นอกจากนี้บุคลิกภาพและวิธีการในการทำงาน รวมทั้งการจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ผิดกับแนวทางของบรรดาสิงโตเจ้าป่าทั้งหลายที่เราเห็นในการ์ตูนนั้นแหละครับ ถ้าเจ้านายคนไหนเข้าข่ายดังกล่าวก็พอจะบอกได้นะครับว่าเขาน่าจะมีลักษณะเป็นราชสีห์

หรือท่านผู้อ่านลองสังเกตจากสถานการณ์เหล่านี้ดูนะครับ เจ้านายที่มีลักษณะเป็นราชสีห์นั้น เวลาเข้าไปคุยงานด้วย ถ้าไม่เตรียมพร้อมให้ดี และมีสมาธิอยู่ตลอดเวลาก็มีสิทธิ์ที่จะมีแผลเหวอะหวะออกมาจากห้องประชุมได้ และถ้าขืนทะเล่อทะล่าเข้าไปต่อกรหรือลองยืนหยัดสู้กับเจ้านายที่เป็นราชสีห์เมื่อไร ก็มีสิทธิ์ที่จะตายคาห้องประชุมได้ แต่ท่านมีการเตรียมพร้อม มีสมาธิที่ดี และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถทำงานร่วมกับเจ้านายที่เป็นราชสีห์เหล่านั้นได้ตลอดรอดฝั่ง เมื่อใดที่ท่านผู้อ่านเจอสถานการณ์ในลักษณะข้างต้น เมื่อนั้นแหละครับที่ท่านเผชิญกับเจ้านายที่เป็นราชสีห์แล้ว

ทีนี้คำถามสำคัญคือเราจะทำงานร่วมกับราชสีห์ในที่ทำงานเหล่านี้อย่างไร ประเด็นสำคัญของการเรียนรู้วิธีการทำงานจากการฝึกสอนสิงโตนั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะเจ้านายราชสีห์นะครับ แต่เป็นการทำความเข้าใจบุคคลเหล่านี้ได้ดีขึ้น เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เราอย่าคิดไปเอาชนะหรือสั่งเจ้านายราชสีห์พวกนี้นะครับ ประเด็นสำคัญคือการทำงานร่วมกันมากกว่าครับ และประเด็นสำคัญคืออย่าหาเรื่องเสี่ยงชีวิตด้วยนะครับ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าก็เห็นผู้ฝึกสอนสิงโตเอาหัวแหย่เข้าไปในปากสิงโตบ่อยๆ เราก็น่าจะลองเสี่ยงในลักษณะเดียวกับเจ้านายราชสีห์ของเราบ้าง (เป็นการอุปมาอุปไมยนะครับ ไม่ได้หมายความให้ท่านผู้อ่านนำหัวของท่านแหย่เข้าไปในปากเจ้านายนะครับ)  ผู้ฝึกสอนสิงโตที่มีชื่อหลายคนเขาบอกไว้เลยนะครับว่าเขาเองก็ไม่ทำสิ่งที่เสี่ยงและโง่ขนาดนั้น (การแหย่หัวเข้าไปในปากสิงโต) ดังนั้นท่านผู้อ่านก็อย่าเสี่ยงในลักษณะเดียวกันกับเจ้านายที่เป็นราชสีห์นะครับ ความเสี่ยงในลักษณะนั้นอาจจะเป็น การท้าทายเจ้านายโดยไม่จำเป็น การผลักดันให้เจ้านายทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือกลัว การนินทาลับหลัง หรือ การทำให้เจ้านายเหล่านี้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

ประเด็นสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับเจ้านายราชสีห์คือจะต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติของเจ้านายราชสีห์และหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกับเจ้านายประเภทนี้ ซึ่งหนังสือ Lion Taming เขาก็พยายามที่จะศึกษาธรรมชาติของเจ้านายประเภทนี้จากธรรมชาติของสิงโตจริงๆ (ซึ่งผมไม่แน่ใจนะครับว่าสามารถเปรียบเทียบกันได้จริงๆ หรือไม่?) เช่น สิงโตมักจะตัดสินใจด้วยสัญชาติญาณเป็นหลัก เช่นเดียวกับผู้นำราชสีห์ (อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้) ในขณะเดียวกันทั้งสิงโตและผู้นำจะสามารถคิดและมองได้ในหลายมิติ (Multidimensional Thinkers) โดยสิงโตสามารถที่จะคิดในหลายมุมมองและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคน ข้อมูล และกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของเราต่อเจ้านายที่เป็นราชสีห์นะครับ ว่าจะต้องระวังว่าข้อมูลหรือสิ่งที่นำเสนอนั้นผ่านการคิดและไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบในหลายมิติหลายมุมมอง รวมทั้งการนำเสนอและกรอบแนวคิดที่ชัดเจน

ขอเกริ่นเรื่องเจ้านายที่เป็นราชสีห์ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอต่อ ท่านผู้อ่านอย่าลืมกลับไปดูที่ทำงานท่านนะครับว่ามีเจ้านายในลักษณะนี้อยู่หรือไม่?