6 November 2005

ในหนังสือ Performance Without Compromise เขียนโดย Charles F. Knight ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากที่บริษัท Emerson Electric ได้ระบุถึงคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่ดีไว้ว่า ไม่มีวิธีการที่ดีที่สุดในการเป็นผู้นำ เนื่องจากผู้นำที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากต่างมีลักษณะหรือวิธีการในการนำที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดีบรรดาผู้นำเหล่านี้ต่างมีคุณลักษณะที่เหมือนๆ กันสิบประการที่พอจะบอกได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่ผู้นำที่ดีควรจะมี

ประการแรก คือความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ (Committed to success) Knight ระบุไว้เลยครับว่าผู้นำที่ดีต้องเริ่มต้นจากจุดนี้ คนเหล่านี้เมื่อมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จแล้ว การทุ่มเทพลังงานก็จะทุ่มเข้าไปอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเกาะติดกับงานที่ทำจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่ทำแบบจับจดหรือเลิกทำไปง่ายๆ

ประการที่สอง คือ การกำหนดลำดับความสำคัญที่เหมาะสม (Set proper priorities) ดูเหมือนว่าทุกคนจะให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ แต่เมื่อถึงคราวปฏิบัติแล้วหลายๆ ครั้งที่ผู้นำจะไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ ปัญหาหลักๆ ที่เกี่ยวข้องมีสามประการ ได้แก่ 1) ความยากลำบากในการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่มีความสำคัญเพียงไม่กี่อย่าง รวมทั้งการต้องสื่อสาร และทำความเข้าใจในสิ่งที่สำคัญให้ทราบทั่วทั้งองค์กร 2) ผู้นำอาจจะมุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญผิดเรื่อง หรือ ผู้นำอาจจะไม่มั่นใจว่าเรื่องใดควรจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3) ผู้นำมักจะมีปัญหาว่าเมื่อเลือกความสำคัญแล้ว จะเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง เนื่องจากการกำหนดความสำคัญ จะทำให้มีเรื่องบางเรื่องที่ถูกลดบทบาทหรือความสำคัญลง 

จากการที่ผู้บริหารของ Emerson เห็นความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญ ทำให้บริษัทนี้ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์อย่างละเอียดสำหรับทุกๆ หน่วยงานทุกปี เนื่องจาก Knightsมองว่ากระบวนการวางแผนเป็นกระบวนการที่ช่วยในการถามคำถามว่าสิ่งใดมีความสำคัญ และช่วยทำให้ผู้บริหารได้เห็นในสิ่งที่สำคัญในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเป็นประจำ นอกจากนี้ผู้บริหารจะต้องสามารถสื่อสารเรื่องที่มีความสำคัญให้กับผู้บริหารและพนักงานได้ทราบ และกระบวนการวางแผนก็เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยในการสื่อสารและถ่ายทอดสิ่งที่มีความสำคัญให้ผู้บริหารระดับล่างได้รับทราบ

ประการที่สาม ได้แก่ การตั้งและคาดหวังในมาตรฐานที่สูง (Set and demand high standards) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ และในด้านของผลการทำงาน ถ้าผู้นำไม่มีการตั้งมาตรฐานที่สูงและคอยดูแลการทำงานเพื่อให้บรรลุมาตรฐานเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทั้งองค์กรก็ยากที่จะบรรลุมาตรฐานดังกล่าว ผู้นำที่ดีจะต้องสร้างระดับความกดดันที่เหมาะสมในองค์กร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องก่อให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว แต่เป็นความกดดันที่จะผลักดันให้ทุกคนสามารถทำงานที่ท้าทายได้สำเร็จ

ประการที่สี่ ได้แก่ เข้มงวดและยุติธรรม (Be tough but fair in dealing with people) โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับคน เนื่องจากคนโดยทั่วไปต้องการที่จะถูกวัด ถูกประเมิน และพัฒนา ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำจะช่วยในส่วนนี้ได้ก็คือเข้มงวดแต่ยุติธรรม โดยคำว่าเข้มงวดในที่นี้คือความเข้มงวดต่อการบรรลุผลงานที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันความยุติธรรมนั้นก็ครอบคลุมโอกาสที่พนักงานจะได้แสดงออกถึงความสามารถ ถึงแม้จะล้มเหลวแต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผิดพลาด แต่ก็ไม่ควรที่จะผิดพลาดซ้ำ

ประการที่ห้า ได้แก่ ให้ความสำคัญกับโอกาสและสิ่งที่เป็นไปได้ (Concentrate on positives and possibilities) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดความสำคัญของสิ่งที่จะทำนั้นควรที่จะมุ่งเน้นในสิ่งที่ผู้นำสามารถก่อให้เกิดความแตกต่าง ไม่ใช่ไปมุ่งเน้นแต่ปัญหาที่ตนเองยากที่จะแก้ไขหรือไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้

ประการที่หก ได้แก่ พัฒนาและรักษาระดับความเร่งด่วน (Develop and maintain a strong sense of urgency) เนื่องจากปัญหาต่างๆ นั้นถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขก็จะไม่ดีขึ้นจนกว่าจะได้รับการแก้ไข ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาในเรื่องของการดำเนินงานและเรื่องคนโดยเร็ว ผู้นำที่ดีจะมีทัศนคติเสมอว่าทำในบางสิ่งบางอย่างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถึงแม้จะไม่ถูกต้องในตอนแรกแต่ก็จะหาทางแก้ไขจนถูกต้อง ดีกว่าไม่เริ่มทำสิ่งใดเลย (แล้วเอาแต่พูด)

ประการที่เจ็ด ได้แก่ การให้ความใส่ใจในรายละเอียด (Pay attention to detail) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ และไม่มีสิ่งใดที่จะทดแทนข้อมูลได้ ดังนั้นการเอาใจใส่และให้ความสนใจต่อข้อมูลอย่างละเอียดจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการตัดสินใจ

ประการที่แปด ได้แก่ การยอมรับต่อความผิดพลาด (Provide for the possibility of failure) เนื่องจากไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน ดังนั้นจึงจำต้องมีการวางแผนกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้คนสร้างสรรค์และคิดในสิ่งใหม่ๆ ย่อมจะนำไปสู่โอกาสของความล้มเหลวได้ง่าย ดังนั้นการยอมรับความเสี่ยงในประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารทุกคน

ประการที่เก้า ได้แก่ การเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องสำคัญ (Be personally involved) ในเรื่องที่มีความสำคัญนั้น ถ้าผู้บริหารได้ลงมาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดย่อมจะทำให้โอกาสในการที่จะประสบความสำเร็จเป็นไปได้มาก อีกทั้งยังจะช่วยในเรื่องของการลดปัญหาการเมืองภายในองค์กรอีกด้วย เนื่องจากเมื่อผู้นำสูงสุดลงมาเกี่ยวข้องแล้ว ย่อมจะเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของงานและความมุ่งมั่นของผู้นำ

ประการที่สิบ ได้แก่ สนุกกับงาน (Have fun) เรื่องนี้ง่ายมากครับ ถ้าเราไม่รู้สึกสนุกกับงาน ก็จะส่งผลให้ลูกน้องของเราไม่สนุกกับงานไปด้วย ความสนุกนั้นเกิดขึ้นได้จากการที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่ดีและมุ่งมั่นเช่นเดียวกัน รวมทั้งความสำคัญที่มีอย่างต่อเนื่อง