15 January 2006
สัปดาห์นี้มีเรื่องน่าสนใจมาฝากครับ และคิดว่าน่าจะเข้ายุคเข้าสมัยด้วยครับ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพนะครับว่าเมื่อเราเจอปัญหาที่ยากจะแก้ไขแล้ว ทางเลือกใดที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ดีที่สุด ทางเลือกแรกสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซักสองสามคน โดยเป็นการแยกกันถาม และที่สำคัญจะต้องเลือกผู้ที่ฉลาดและเก่งในด้านนั้นจริงๆ ทางเลือกที่สองสร้างทีมงานขึ้นมาที่ประกอบด้วยผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวหลายๆ คน แล้วให้ทีมดังกล่าวช่วยกันแก้ไขปัญหา เหมือนกับที่เราเคยรู้กันมาว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้” และทางเลือกสุดท้ายสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มคนจำนวนมากที่มีพื้นฐานหลากหลายและไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว โดยให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นแล้วสุดท้ายเรานำความคิดเห็นอันหลากหลายที่ได้รับมา คำณวนหาค่ารวม
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคนจะเลือกทางเลือกที่หนึ่งหรือทางเลือกที่สองนะครับ นั้นคือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเลย จะทำให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด แต่ปรากฎว่าในปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ที่เข้ามาลบล้างความคิดดังกล่าวแล้วครับนั้นคือถ้าทำตามทางเลือกที่สามจะทำให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด แนวคิดดังกล่าวผมนำมาจากหนังสือ The Wisdom of Crowds เขียนโดย James Surowiecki ซึ่งเป็นนักเขียนประจำอยู่ที่ New Yorker หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ขายดีมากครับ โดยติดทั้งใน New York Times Business Bestsellers และ Businessweek Bestseller และ Best Book of the Year กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดแนวคิดที่สำคัญต่อทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจและนักการเมือง
ประเด็นหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้ก็คือ กลุ่มคนจำนวนมากฉลาดกว่าและสามารถตัดสินใจได้ดีกว่า พวกที่เก่งๆ หรือฉลาดๆ เพียงไม่กี่คน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเก่ง มั่นใจ ฉลาด มีความรู้ มากน้อยเพียงใด และความฉลาดของกลุ่มชน (ผมขอใช้คำนี้แทนคำว่ากลุ่มคนจำนวนมากนะครับ) นี้ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหา การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ การตัดสินใจที่ถูกต้อง การเลือกผู้นำ หรือ แม้กระทั่งการคาดการณ์ถึงอนาคต เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคงคิดแบบผมนะครับว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” แต่เราลองมาดูตัวอย่างที่ Surowiecki เขายกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษากันนะครับ
กรณีศึกษาแรกเป็นเรื่องที่เราคุ้นกันก่อนครับ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขายกตัวอย่างของเกมโชว์ชื่อดังในอเมริกา Who Wants to Be a Millionaire? หรือเกมเศรษฐีที่เรารู้จักกันในเมืองไทย โดยในอเมริกานั้น ถ้าผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็จะมีตัวช่วยสามตัว ตัวช่วยแรก คือตัดคำตอบบางข้อที่ไม่ใช้ออก ตัวช่วยที่สองคือ ให้โทรศัพท์สอบถามคนใกล้ตัวหรือเพื่อนสนิทที่คิดว่ามีความรู้ความสามารถได้ และตัวช่วยที่สาม คือให้ผู้ชมในห้องส่งที่มาร่วมชมรายการทุกคนได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เล็กๆ ที่ติดอยู่กับที่นั่งแต่ละคน ซึ่งผู้ชมเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอันใด เป็นเพียงแต่คนมานั่งชมรายการเท่านั้นเอง จากสถิติที่เขาเก็บมาพบว่า ถ้าเลือกตัวช่วยที่สองคือสอบถามผู้ที่ตนเองคิดว่า “เชี่ยวชาญ” ผู้เชี่ยวชาญนั้นจะให้คำตอบที่ถูกประมาณร้อยละ 65 ซึ่งก็ถือเป็นสถิติที่ดีนะครับ แต่พอไปดูตัวช่วยที่สามแล้ว จะพบว่าพวกผู้ชมที่มานั่งในห้องส่งนั้นจะเลือกคำตอบที่ถูกต้องถึงร้อยละ 91 (จริงอยู่นะครับผู้ชมคงจะไม่ได้เลือกคำตอบที่เหมือนกันหมด แต่เขาแสดงให้เห็นว่าผู้ชมจำนวนเท่าใดที่เลือกคำตอบใดบ้าง และจะพิจารณาจากคำตอบที่เลือกกันมากที่สุด) – อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งนะครับของความสามารถในการเลือกในสิ่งที่ถูกต้องของกลุ่มชน ผมไม่แน่ใจว่ารายการเกมเศรษฐีของบ้านเรามีการเก็บสถิติไว้บ้างหรือเปล่านะครับ จะได้ลองพิสูจน์แนวคิดนี้ในบ้านเราดู
ลองมาดูตัวอย่างที่สองของเขานะครับ เป็นตัวอย่างตั้งแต่ปี 1906 ของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ Francis Galton ครับ เขาไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปีของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีการนำพวกปศุสัตว์มาแสดงกัน (ทั้งวัว แกะ ไก่ ม้า และสุกร) ทีนี้ที่งานแห่งนี้เขามีการแข่งขันกันทายน้ำหนักวัว โดยมีวัวอ้วนตัวหนึ่งยืนอยู่บนเวที่และพวกคนดูข้างล่างก็แข่งกันพนันน้ำหนักวัว และถ้าคนที่ทายได้กลายเคียงที่สุดจะได้รับเงินพนันทั้งหมดไป ปรากฏว่ามีคนกว่า 800 คนลองเสี่ยงโชค และในกลุ่ม 800 คนนั้นก็นับว่ามีความหลากหลายมากครับ บางคนเป็นชาวนา และนักฆ่าสัตว์ที่เป็นพวกที่มีความเชี่ยวชาญในการกะน้ำหนักสัตว์ ในขณะเดียวกันก็มีพวกชาวบ้านหรือคนธรรมดาที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย Galton เขาเปรียบเหมือนกับการเลือกตั้ง (อย่างอิสระ) เลยครับที่ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมดไม่ว่าจะเชี่ยวชาญหรือชำนาญขนาดไหน
ทีนี้เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงและมีการมอบรางวัลไปเรียบร้อยแล้ว Galton เขาก็ขอยืมตั๋วที่คนกว่า 800 คนเลือกน้ำหนักจากผู้จัดการแข่งขัน มาประมวลผลโดยวิธีการทางสถิติ และหาค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่ผู้ทายน้ำหนักทั้ง 800 คนเลือก ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นตัวเลขที่รวมความเห็นของคนทั้งกลุ่ม (Collective Wisdom) ในตอนแรก Galton คาดว่าค่าเฉลี่ยที่ได้จะห่างจากน้ำหนักจริงๆ ของวัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มชนที่มาทายน้ำหนักนั้นประกอบด้วยทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ไม่เชี่ยวชาญ แต่ปรากฏว่า Galton คาดการณ์ผิดครับ น้ำหนักวัวที่เป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มชนทั้งหมดเท่ากับ 1,197 ปอนด์ ในขณะที่น้ำหนักจริงของวัวที่ชั่งได้เท่ากับ 1,198 ปอนด์ครับ ห่างกันแค่ปอนด์เดียง แสดงให้เห็นความการทายน้ำหนักของกลุ่มชนทั้งกลุ่มมีความแม่นยำค่อนข้างมาก ซึ่งในตอนหลัง Galton ระบุเลยนะครับว่า การทายน้ำหนักวัวก็น่าจะเปรียบเสมือนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ความเห็นของคนหมู่มากมีความถูกต้องและแม่นยำกว่าความเห็นของคนไม่กี่คน (แต่เขามีข้อแม้อยู่เยอะนะครับ ประการสำคัญคือ การแสดงความคิดเห็นนั้นจะต้องมีความเป็นอิสระจากกันครับ)
เป็นอย่างไรครับ ตัวอย่างทั้งสองประการอ่านๆ ดูก็ไม่น่าเชื่อนะครับ สัปดาห์หน้าจะขอเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับความฉลาดของกลุ่มชนต่อครับ แต่ถ้าท่านผู้อ่านอยากไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน Surowiecki เขาก็มีเว็บอยู่ที่ www.wisdomofcrowds.com นะครับ