22 January 2006
เนื้อหาสัปดาห์นี้ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ และน่าจะเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน ที่ม็อบชนกันเกลื่อนกลาด อีกทั้งความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย ก็ต่างถือทิฐิเป็นที่ตั้ง นั้นคือเรื่องของความฉลาดของกลุ่มชน (Wisdoms of Crowds) ซึ่งนำมาจากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกันเขียน โดย James Surowiecki และเป็นหนังสือที่ขายดีในต่างประเทศเล่มหนึ่ง โดยเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เห็นความฉลาดของกลุ่มชนหรือกลุ่มคน (Group Intelligence) ที่มีเหนือกว่าคนเพียงไม่กี่คน (Individual Intelligence) โดยในสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้น โดยการยกตัวอย่างให้เห็นไว้สองตัวอย่างก่อน ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวทั้งรายการเกมส์โชว์และการทายน้ำหนักวัวต่างก็แสดงให้เห็นถึงความฉลาดของกลุ่มชนที่มีเหนือกว่าพวกที่คิดว่าตนเองฉลาดเพียงไม่กี่คน อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่าทุกสถานการณ์ที่ความฉลาดของกลุ่มชนจะเหนือกว่าความฉลาดของคนที่คิดว่าฉลาดเพียงไม่กี่คนนะครับ สัปดาห์นี้เราเริ่มมาดูกันว่าในสถานการณ์ใดบ้างที่กลุ่มชนจะฉลาดกว่าพวกคนที่ฉลาดเพียงไม่กี่คน
มีปัจจัยที่สำคัญสองสามประการที่ส่งผลต่อความฉลาดของกลุ่มชนครับ ประการแรกได้แก่ความหลากหลายของกลุ่มชน (Diversity) ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เราไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ครับ เราเรียนรู้มานานแล้วว่าในการทำงานเป็นทีมที่ดีนั้นองค์ประกอบของทีมจะต้องมีความหลากหลายพอสมควร ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะเอาเก่งที่สุดมาอยู่ด้วยกันแล้วจะทำให้ทีมนั้นเก่งด้วย พิสูจน์มาหลายครั้งกับการแข่งขันเกมธุรกิจของนิสิตที่จุฬาครับ เมื่อนิสิตในห้องจับกลุ่มเพื่อแข่งขันเกมธุรกิจระหว่างกันในวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ แล้วมีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยนิสิตที่เก่งที่สุดในชั้น ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มนั้นก็จะไม่ได้ชนะเลิศครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มที่ชนะเลิศจะเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วนนิสิตที่อ่อนนะครับ กลุ่มที่ชนะเลิศมักจะประกอบด้วยนิสิตที่มีความหลากหลายทั้งในแนวคิด พื้นฐานการศึกษา หรือ ความโดดเด่นด้านการเรียน
ความหลากหลายของทีมงานหรือกลุ่มชน ทำให้เกิดมุมมองที่ใหม่และหลากหลายไปจากเดิม ท่านผู้อ่านลองนำผู้ที่เรียนปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจและจบ MBA ให้มาเริ่มตั้งธุรกิจด้วยกันซิครับ จะพบว่าหลายๆ ครั้งที่คนกลุ่มนี้จะเจอทางตันหรือไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากคนในกลุ่มมีพื้นฐานทั้งด้านการศึกษาและวิธีคิดที่เหมือนกันมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะมุ่งเน้นแต่ความหลากหลาย แล้วเลือกคนเข้ามาอยู่ในกลุ่มโดยไม่ทันดูตาม้าตาเรือนะครับ ต้องมีการเลือกความหลากหลายพอสมควร
ประโยชน์ที่ชัดเจนของความหลากหลายในกลุ่มคือทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ และสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่กลุ่มที่มีความเหมือนกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีขนาดเล็กมักจะเกิดภาวะขึ้นมาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘Groupthink’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Irving Janis คิดขึ้นมา โดยภาวะ Groupthink นี้มักจะพบเห็นเป็นประจำเมื่อผู้ที่ต้องทำการตัดสินใจมีความเหมือนกันมากเกินไป ทั้งในด้านมุมมองและวิธีคิด ทั้งนี้เนื่องจากคนที่มีลักษณะที่เหมือนๆ กันมักจะเกาะกลุ่มหรือเข้าพวกกันได้เร็วและดีกว่าคนที่มีพื้นฐานที่แตกต่างกัน และยิ่งมีความสนิทกันเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้สมาชิกของกลุ่มมีความรู้สึกที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มมากขึ้น อันนำสู่การปิดกั้นความคิดเห็นหรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของกลุ่ม ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าความเห็นของกลุ่มถูกต้องที่สุด และจะคอยปกป้องความเห็นของกลุ่มอย่างแข็งขัน
นอกจากนี้ถ้าสมาชิกคนใดมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่ม ก็จะเก็บความเห็นนั้นไว้กับตัวไม่แสดงออก เนื่องจากให้ความสำคัญกับกลุ่มและเชื่อถือในความคิดเห็นของกลุ่มเป็นหลัก ถึงแม้ความคิดเห็นดังกล่าวจะผิดก็ตาม นอกจากนี้สมาชิกผู้นั้นอาจจะมีความคิดว่าการเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวเองคนเดียวมันง่ายกว่าเปลี่ยนความคิดเห็นของคนทั้งกลุ่ม จากภาวะ Groupthink ดังกล่าวงานของ Janis ชี้ให้เห็นเลยครับว่าการตัดสินใจของกลุ่มชนที่มีพื้นฐานที่เหมือนกันมาก มีโอกาสถูกต้องไม่มากเท่าใด
ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวท่านเองก็ได้ครับ ลองสังเกตซิครับ เมื่อท่านเจอเพื่อนใหม่ๆ ท่านจะสนิทสนมอย่างรวดเร็วกับผู้ที่มีพื้นฐาน ภูมิหลัง หรือวิธีคิดที่เหมือนกับท่าน และเมื่อสนิทกันได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดภาวะ Groupthink เกิดขึ้น นั้นคือรู้สึกว่าคิดอะไรก็คิดเหมือนกันหมด หรือถึงแม้ท่านจะไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่ต้องการขัดเพื่อน หรือไม่อยากเสียเวลา ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้กลุ่มของท่านขาดความหลากหลาย และจากการขาดความหลากหลายนี้เองก็ทำให้การตัดสินใจของกลุ่มไม่ดีเท่าใด เป็นประเภทถ้ากลุ่มเฮไปทางไหน ก็จะเฮกันตามไปหมด
การขาดความหลากหลายของกลุ่มเป็นสิ่งที่น่าเสียดายครับ เนื่องจากถ้าความหลากหลายมีแล้วจะทำให้กลุ่มมีมุมมองที่กว้างขึ้น อีกทั้งยังเป็นการง่ายกว่าสำหรับสมาชิกในกลุ่มที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยออกมา อย่างไรก็ดีดูเหมือนแนวคิดนี้จะตรงข้ามกับแนวคิดหลายๆ ประการในด้านของการรับคนเข้าทำงาน ที่ในปัจจุบันมักจะดูที่ค่านิยมและทัศนคติของผู้สมัครใหม่เป็นหลัก โดยหลายๆ องค์กรจะพยายามเลือกผู้ที่มีแนวคิดหรือค่านิยมคล้ายๆ กันเป็นหลัก ส่วนทักษะ ความสามารถนั้นถือว่าเป็นเรื่องรองและพัฒนากันได้ ทำให้ตัวองค์กรเองขาดความหลากหลาย แล้วสุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นการย่ำเท้าอยู่กับที่ ท่านผู้อ่านก็ลองนำไปพิจารณาดูนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันในปัจจัยประการอื่นที่ทำให้กลุ่มชนมีความฉลาดกันนะครับ