17 September 2005
สัปดาห์ที่แล้วผมเกริ่นเรื่องของความสูญเสียที่องค์กรจะต้องประสบจากการเกษียณอายุราชการ การลาออก หรือ การย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น ของผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ ประสบการณ์ที่บุคคลเหล่านั้นสะสมมาเป็นสิบๆ ปี ซึ่งเป็นความรู้ที่ยากที่จะบอกเล่าหรือถ่ายทอดออกมาได้ (หรือที่ศัพท์วิชาการเราเรียกว่าเป็น Tacit Knowledge) จริงๆ แล้วก็ใช่ที่จะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ทีเดียวนะครับ เพียงแต่คงจะไม่สามารถใช้วิธีการดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยกันมานานเช่น การเรียน การอบรม การสัมมนา มาช่วยในการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้น ลองนึกดูก็ได้นะครับ ท่านมีผู้บริหารซึ่งอีกปีกำลังจะเกษียณ ท่านเลยเตรียมตัวที่จะดูดซับความรู้และประสบการณ์ที่ผู้บริหารท่านนั้นมีให้มากที่สุด โดยทั้งมอบหมายให้ผู้บริหารท่านนั้นเขียนตำราและคู่มือ รวมทั้งให้ผู้บริหารนั้นเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้กับผู้บริหารระดับรองๆ ลงไป ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นจะก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ที่จับต้องไม่ได้มากน้อยเพียงใด ผมเชื่อว่ากิจกรรมข้างต้นถ้าสามารถทำได้ก็จะเป็นประโยชน์กับองค์กรนะครับ แต่ประเด็นคือสิ่งที่ได้ถ่ายทอดและเรียนรู้ออกมานั้นจะเป็นเพียงแค่ผิวๆ ของทั้งหมด ตัวความรู้และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการสะสมมานับสิบๆ ปีจะไม่ได้การถ่ายทอดออกมาเท่าใด
ทีนี้คำถามสำคัญก็คือจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นออกมาได้? วิธีที่เป็นที่นิยมและใช้กันแพร่หลายที่สุดหนีไม่พ้นการโค้ชหรือการมีผู้ฝึกสอนครับ (Coaching) ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้สูง กับผู้ที่จะรับความรู้เหล่านั้น และพบว่าการถ่ายทอดความรู้ที่จับต้องไม่ได้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งนั้น การโค้ชเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุด ถ้าเทียบกับวิธีการอื่นๆ ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ ท่านผู้อ่านได้หัดขับรถอย่างไรกันบ้าง มีท่านไหนบ้างที่เข้าห้องเรียนสอนการขับรถ หรืออ่านคู่มือการขับรถให้ได้ดี แล้วสามารถขับรถได้คล่องบ้าง การเรียนด้วยวิธีข้างต้นอาจจะทำให้ท่านรู้วิธีในการขับรถ แต่ไม่ได้หมายถึงท่านจะขับได้คล่อง โดยส่วนใหญ่นั้นเราจะถูกสอนการขับรถโดยโค้ช ซึ่งอาจจะเป็นญาติผู้ใหญ่ รุ่นพี่ หรือครูสอนขับรถ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชเรานั้นจะคอยสอน ชี้แนะ อธิบายตลอดเวลา และไม่ใช่เพียงแค่วิธีขับรถเท่านั้นนะครับ แต่รวมไปถึงเคล็ดลับในการขับรถให้ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัยด้วย หรือ อย่างวงการกีฬาที่นักกีฬารุ่นก่อนๆ มักจะผันตัวเองมาเป็นโค้ชให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ๆ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตนเองสะสมมานาน หรือ ในภัตตาคารใหญ่ๆ ที่มักจะมีตำแหน่งผู้ช่วยพ่อครัว ที่นอกเหนือจะช่วยพ่อครัวในการทำอาหารแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้จากพ่อครัวผ่านการโค้ชด้วย
แต่ก็ใช่ว่าการเป็นโค้ช จะช่วยทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ที่มีค่าและจับต้องไม่ได้เหล่านั้นได้โดยง่ายนะครับ ยังมีอุปสรรคที่สำคัญหลายประการต่อการถ่ายทอดความรู้ ถึงแม้จะใช้วิธีการโค้ชแล้วก็ตาม อุปสรรคเหล่านั้นประกอบด้วย
- ความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เป็นโค้ชกับผู้รับการถ่ายทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเป้าหมายร่วมกัน จากงานวิจัยต่างๆ พบว่ายิ่งมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างตัวโค้ชและผู้เรียนมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การถ่ายทอดความรู้ ประสบความสำเร็จเท่านั้น
- หาความรู้ที่สำคัญไม่เจอ ในหลายๆ ครั้งระหว่างการถ่ายทอดหรือการโค้ชนั้น ตัวความรู้ที่สำคัญบางประการอาจจะถูกละเลยไป ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการเจตนา เพียงแต่ตัวโค้ชเองกลับลืมนึกถึงความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ผมเองก็เกิดปัญหานี้หลายครั้งเหมือนกันครับเวลาสอนหนังสือ ถึงแม้จะเตรียมตัวสอนมาอย่างดีแล้ว แต่ในหลายๆ ครั้งพอบรรยายเสร็จก็จะมาเจ็บใจว่าทำไมเรื่องบางเรื่องถึงไม่ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างประกอบการบรรยาย
- ความสามารถในการรับรู้ของผู้ถูกถ่ายทอด แต่ละคนก็จะไม่เท่ากันส่งผลต่อการรับความรู้ที่แตกต่างกัน และความสามารถในการรับรู้นี้ก็ไม่ได้หมายถึงแค่ความชาญฉลาดอย่างเดียวนะครับ บางครั้งเชื้อชาติ ประสบการณ์ การศึกษา ก็ส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้ของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีคิดของแต่ละคนที่แตกต่างกันก็จะส่งผลต่อการถ่ายทอดเป็นอย่างมาก
- แรงจูงใจของทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้รับในการถ่ายทอดและรับความรู้ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่ง จะสังเกตได้ครับว่าพวกผู้รู้ที่มีประสบการณ์หรือความสามารถเยอะๆ ก็จะไม่ชอบและไม่เต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้รับที่ยังไม่มีความพร้อม หรือขาดความสามารถในการดูดซับข้อมูล
เบื้องต้นคงเป็นเพียงแค่ตัวอย่างของอุปสรรคที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชกับผู้รับการถ่ายทอดนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูในตอนสุดท้ายถึงเทคนิคหรือวิธีการในการถ่ายทอดความรู้ จากบรรดาผู้รู้ทั้งหลายสู่ผู้รับการถ่ายทอดนะครับ ว่าจะมีวิธีการหรือแนวทางอย่างไรบ้าง เผื่อท่านผู้อ่านจะได้เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้พอถึงฤดูกาลเกษียณอายุในปีหน้า องค์กรของท่านจะมีปัญหาเรื่องของความรู้ที่สูญหายไปพร้อมกับผู้เกษียณอายุนะครับ