13 August 2005

เนื้อหาในสัปดาห์นี้ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือเรื่องของภาพลักษณ์ในที่ทำงาน โดยเนื้อหานั้นผมนำมาจากงานวิจัยของ Laura Morgan Roberts ที่ชื่อ Changing Faces: Professional Image Construction in Diverse Organizational Settings ซึ่งทุกคนอยากจะให้มีภาพลักษณ์ในลักษณะที่ตนเองต้องการให้เป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะมีภาพลักษณ์ในสายตาเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ในลักษณะที่เราไม่ต้องการให้เป็น ซึ่งสาเหตุสำคัญนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาเพียงแค่ครั้งเดียว แล้วส่งผลให้ชื่อเสียงภาพลักษณ์ของท่านเป็นไปตามนั้น หรือเกิดขึ้นเนื่องจากท่านถูกจัดกลุ่มเข้าไปในคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและภาพลักษณ์ของกลุ่มนั้นก็พลอยติดตัวท่านมาด้วย

ในสัปดาห์นี้เราคงจะมาตอบคำถามสำคัญกันครับว่าแล้วเราจะบริหารหรือสร้างภาพลักษณ์ในที่ทำงานได้อย่างไร จริงๆ แล้วเรามีการบริหารภาพลักษณ์ของเราเป็นปกติอยู่แล้วแต่มักจะเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ผ่านพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ความประพฤติ การทำงาน หรือการพูดจา (ระดับน้ำเสียง ความเร็วในการพูด ความเปิดเผยในการพูด) ผมมีเพื่อนที่มีลักษณะการพูดที่แตกต่างกันพอสมควร คนหนึ่งพูดช้า เนิบนาบ ดูเหมือนว่ากว่าจะพูดแต่ละครั้งก็ผ่านการไตร่ตรอง ในขณะที่อีกคนก็พูดเร็วจนหายใจไม่ทัน จนถูกแซวเป็นประจำว่าหายใจทางผิวหนัง ซึ่งสิ่งที่พบก็คือภาพลักษณ์ของทั้งสองคนในสายตาและการรับรู้ของผู้อื่นก็จะสะท้อนมาจากความเร็วในการพูดเช่นเดียวกัน คนที่พูดช้านั้นก็จะถูกมองว่ามีความระมัดระวังในการพูด มีการไตร่ตรองก่อนพูด และเป็นคนใจเย็น แต่อีกคนที่พูดเร็วนั้นจะถูกรับรู้เลยว่าเป็นพวกใจร้อน 

จริงๆ แล้วถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดูจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูด ปฏิบัติ แสดงออก ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ล้วนแล้วแต่จะถูกรับรู้โดยคนรอบๆ ตัวถึงภาพลักษณ์ของเราทั้งสิ้นครับ เรื่องบางเรื่องที่ไม่น่านำไปสู่ภาพลักษณ์ได้ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่คนรอบตัวเรารับรู้ถึงภาพลักษณ์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ (เจอผู้ที่ขับรถเร็วมาก กับขับรถใจเย็น ก็จะทำให้คนรับรู้ภาพลักษณ์ที่แตกต่างกัน) พฤติกรรมการกิน (กินอย่างมูมมาม กับกินอย่างเรียบร้อย) การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม (บางคนก็ขอให้ได้พูดและเพ้อเจ้อไปเรื่อยก็จะได้รับภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง แต่บางคนพูดจาดูดีมีเหตุมีผล แต่เอาแต่พูดไม่เคยทำสิ่งให้สำเร็จ ก็จะได้รับภาพลักษณ์ติดตัวไปอีกลักษณะหนึ่ง) หรือแม้กระทั่งการเดินครับ (เดินอย่างรวดเร็วที่เราเรียกว่าเดินไล่ควาย ก็จะถูกมองว่าใจร้อน หรือการเดินแบบไร้จุดมุ่งหมาย ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกขาดการวางแผนล่วงหน้าที่ดี) ฯลฯ

นอกจากภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว เรายังบริหารและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเราได้โดยการพยายามนำเสนอในสิ่งที่ดีๆ เด่นๆ ของเราให้ผู้อื่นรับรู้ โดยการนำเสนอนี้อาจจะเป็นโดยอาศัยคำพูดหรือการแสดงออกก็ได้ วิธีการนี้ก็เจอบ่อยครับ นั้นคือพยายามกล่าวถึงหรือนำเสนอในด้านที่ดีของตนเอง เพื่อให้บุคคลรอบข้างรับรู้และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีเหล่านั้นขึ้นมาในใจ การบริหารภาพลักษณ์แบบนี้ถ้าทำไม่ดีก็น่าเกลียดเหมือนกันนะครับ เพราะจะมีความใกล้เคียงกับพวกขี้โม้ ชอบคุยโอ้อวดตนเอง แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีการนำเสนอคุณสมบัติในด้านดีของตนเอง หรือกลุ่มตนเอง เข้าไปในบทสนทนา โดยที่คู่สนทนาไม่รู้ตัว แล้วค่อยๆ ปลูกฝังให้ผู้อื่นรับทราบถึงด้านที่ดีของตนเอง ซึ่งนอกเหนือจากการพูดแล้ว ยังสามารถทำได้ โดยการค่อยๆ แสดงพฤติกรรมในด้านเด่นของตนเองให้ผู้อื่นเห็นเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการรับรู้

ในขณะที่ถ้าตัวท่านเองมาจากกลุ่มที่มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และท่านไม่ต้องการให้ตัวท่านมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเหมือนกลุ่ม (พวกเด็กเรียน ก็จะเอาแต่เรียนและเข้าห้องสมุดอย่างเดียว ทำกิจกรรมไม่เป็น) ท่านก็ต้องพยายามทำให้การรับรู้ในตัวท่านของบุคคลรอบข้าง เชื่อมโยงระหว่างตัวท่านและกลุ่มดังกล่าวให้น้อยที่สุด และพยายามที่จะโยงตัวท่านเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้เราก็จะเจอกันบ่อยๆ ครับ หลายๆ คนพยายามเปลี่ยนกลุ่มที่ตนเองสังกัดอยู่ไม่ว่าในที่ทำงานหรือในสถาบันการศึกษา เพียงเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองดีขึ้น

ในทางปฏิบัติแล้วเราก็ไม่ได้บริหารภาพลักษณ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอไปนะครับ สุดแท้แต่วัตถุประสงค์ในขณะนั้นนะครับ เช่น พนักงานบางคนอาจจะเข้าไปในกลุ่มที่ขยันทำงานในที่ทำงาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน้าเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย แต่เมื่อพ้นเวลางานแล้วกลับเข้ากลุ่มพวกชอบเที่ยว เพื่อสร้างสังคมให้กว้างไว้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไร บุคคลผู้นี้ก็จะได้ภาพลักษณ์ที่ดีในเวลาทำงาน และในหมู่เพื่อนฝูงแล้วก็จะเป็นประเภทขาเที่ยว ขาลุย

ท่านผู้อ่านคงเห็นพ้องนะครับว่าถ้าเราสามารถบริหารภาพลักษณ์ของเราในที่ทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ย่อมนำไปสู่ข้อดีหลายๆ ประการ แต่ในขณะเดียวกันถ้าบริหารภาพลักษณ์ได้ไม่ดี ก็จะเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงทีเดียว โดยเฉพาะจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนหลอกลวงและผลเสียก็จะมหาศาลครับ ถือว่าเป็นดาบสองคม ที่ต้องระวังพอสมควรนะครับ เพราะอย่างที่ได้ทิ้งท้ายไว้ในสัปดาห์ที่แล้วนะครับ ลองสำรวจภาพลักษณ์ของท่านดูนะครับว่าเป็นอย่างไร และท่านอาจจะลองสำรวจลึกลงไปอีกนะครับว่าพฤติกรรมหรือการแสดงออกต่างๆ ของท่านนั้น นำไปสู่ภาพลักษณ์อย่างไร?