21 August 2005

เนื้อหาสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ ดูเหมือนว่าจะมีผู้อ่านหลายท่านสนใจในเรื่องนี้ โดยเนื้อหาในตลอดสามสัปดาห์นี้ผมเรียบเรียงมาจากงานวิจัยของ Laura Morgan Roberts ที่ชื่อ Changing Faces: Professional Image Construction in Diverse Organizational Settings โดยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำเสนอถึงภาพลักษณ์ในที่ทำงานที่เราต้องการให้เกิดกับภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ รวมทั้งแนวทางที่เราสร้างภาพลักษณ์ของตนเองมาทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว เนื้อหาที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วประการหนึ่งคือการสร้างภาพลักษณ์ที่เราต้องการเป็น โดยมีวิธีการหลายวิธีที่จะสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาได้ ทีนี้คำถามที่สำคัญก็คือถ้าทุกคนสามารถภาพลักษณ์ที่ต้องการขึ้นมาได้ทั้งหมด ทำไมทุกคนที่เรารู้จักถึงไม่มีภาพลักษณ์ที่ดีเหมือนกันหมด? 

ในความเป็นจริงนั้นสิ่งที่เราพบกันอยู่ก็คือหลายๆ คนรอบตัวเรา (อาจจะเป็นตัวท่านผู้อ่านเองด้วย) ที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์ตามที่ตนเองเจตนาสร้างขึ้น เชื่อว่าทุกคนคงอยากจะเป็นพระเอก นางเอกในที่ทำงานกันทั้งนั้นครับ คงไม่มีใครอยากเป็นตัวร้าย นางอิจฉา หรือตัวตลกเท่าใด แต่ทำไม่ในเมื่อเราพยายามที่จะทำตัวเป็นพระเอกหรือนางเอกกันสุดฤทธิ์แล้ว ทำไมภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นมองเรายังคงเป็นนางร้ายหรือตัวอิจฉาอยู่อีก? ปัญหาสำคัญก็คือเมื่อเราพยายามสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาในที่ทำงานแล้ว เราจะต้องรักษาความน่าเชื่อถือของภาพลักษณ์ที่เราสร้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือในการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือนั้น เราจะต้องแสดงออกและปฏิบัติตัวให้เหมือนกับภาพลักษณ์ที่เราเป็นด้วย ท่านผู้อ่านนึกถึงละครหลังข่าวก็ได้ครับ ตัวละครบางตัวพยายามทำตัวเป็นนางเอกเต็มที่ แต่ลึกๆ แล้วก็มักจะอดไม่ได้ที่จะฉายแววตาหรือการกระทำที่แสดงออกว่าเป็นนางร้าย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วพระเอกก็จะค้นพบความจริง (แต่กว่าจะพบก็เกือบจบเรื่องแล้วครับ) และภาพลักษณ์ของตัวละครดังกล่าวก็จะกลายเป็นนางร้ายไปเลย เพราะฉะนั้นเวลาท่านผู้อ่านสร้างภาพลักษณ์ขึ้นมาแล้วก็อย่าลืมปฏิบัติตนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาพลักษณ์ดังกล่าวด้วย

ทีนี้ความยากก็คือโดยส่วนใหญ่ภาพลักษณ์ที่เราอยากจะสร้างให้เกิด หรือเป็นที่คาดหวังของคนรอบข้างเรา มักจะขัดแย้งกับความปรารถนา ทัศนคติ และแรงขับดันภายในตัวเรา (หรืออีกนัยหนึ่งคือตัวตนที่แท้จริงของเรา) ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดความเครียดขึ้นภายในตัวเราเอง ท่านผู้อ่านนึกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ สมมติว่าท่านเป็นผู้ที่ชอบรับทานขนมมาก ถ้าเห็นขนมหรือของกินครั้งใดมักจะไม่สามารถห้ามใจตนเองได้ แต่พอทำงาน ท่านผู้อ่านต้องการสร้างภาพลักษณ์ของกุลสตรีหรือชายหนุ่มผู้เรียบร้อย มุ่งเน้นแต่งานเป็นหลัก ทีนี้ถ้าเกิดบังเอิญเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานของท่านซื้อขนมที่ท่านชอบมาที่ทำงาน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ท่านเพียรพยายามสร้างไว้ ท่านจะต้องอดใจไม่พุ่งเข้าหากองขนมดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันตัวตนที่แท้จริงของท่านก็ร่ำร้องอยากจะกินขนมดังกล่าวมาก แต่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ไว้ จะต้องทำเป็นไม่สนใจก้มหน้าก้มตาทำแต่งานอย่างเดียว ถ้าท่านผู้อ่านตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว จะรู้สึกอย่างไรครับ? ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านหลายท่านที่คงจะเคยตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน ตอนนั้นท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ? โดยสรุปแล้วจะดีที่สุดก็คือภาพลักษณ์ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นควรจะต้องสอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงของเรา

สิ่งหนึ่งที่ท่านผู้อ่านจะต้องระลึกไว้เสมอเกี่ยวกับภาพลักษณ์ในที่ทำงานก็คือ โดยปกติแล้วภาพลักษณ์ของแต่ละคนนั้นมักจะเกิดขึ้นจากบุคคลรอบๆ ตัวเรามากกว่าตัวเรา คนรอบตัวท่านจะคอยสังเกตพฤติกรรมในด้านต่างๆ ของท่าน และจะสร้างทฤษฎีหรือสมมติฐานเกี่ยวกับตัวท่านขึ้นมา ซึ่งทฤษฎีหรือสมมติฐานดังกล่าวก็จะถูกแพร่กระจายไปทั่วทั้งองค์กร ดังนั้นสิ่งที่ท่านผู้อ่านสามารถและควรจะทำก็คือแทนที่จะรอให้คนรอบๆ ตัวเป็นผู้กำหนดภาพลักษณ์ของท่าน ท่านเองจะต้องเข้าไปมีบทบาทหรือเชิงรุกในการสร้างบทบาทของตนเองขึ้นมา นั้นคืออย่ามัวแต่รอให้คนอื่นเขาสร้างสมมติฐานเกี่ยวกับตัวท่าน ท่านจะต้องสร้างสิ่งที่ท่านจะต้องการสื่อออกไปก่อนที่ผู้อื่นจะสร้างให้กับท่าน

มีแนวทางหรือวิธีการง่ายๆ ในการสร้างภาพลักษณ์ในเชิงรุกดังนี้ครับ

  1. ระบุสิ่งที่ท่านต้องการหรือปรารถนา – อะไรคือความสามารถหรือความโดดเด่นหลักของท่าน ที่ท่านต้องการให้คนอื่นรับรู้ และมองเห็น
  2. ประเมินภาพลักษณ์ของท่านในปัจจุบัน – อะไรคือสิ่งที่บุคคลรอบข้างรับรู้ในตัวท่าน
  3. ประเมินถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ – มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนหรือไม่? ประโยชน์ของการเปลี่ยนภาพลักษณ์คุ้มกับต้นทุนในด้านต่างๆ หรือไม่?
  4. ใช้วิธีการในการนำเสนอเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเอง พร้อมทั้งจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติเพื่อรักษาความน่าเชื่อของภาพลักษณ์ตนเอง
  5. คอยติดตามภาพลักษณ์ของท่านในสายตาบุคคลรอบข้าง ว่าเป็นไปในลักษณะที่ท่านต้องการหรือไม่?

ท่านผู้อ่านลองนำหลักการข้างต้นไปลองใช้ดูนะครับ แต่ประเด็นสำคัญก็คือถ้าท่านต้องการสร้างภาพลักษณ์ ท่านผู้อ่านจะต้องอย่าลืมพิจารณาตัวตนที่แท้จริงของท่านด้วยนะครับ ในหลายๆ สถานการณ์ที่ภาพลักษณ์ที่เราต้องการไม่สอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงก็จะก่อให้เกิดปัญหาได้ทั้งกับตัวเรา และทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ได้อย่างแท้จริง