28 August 2004

สัปดาห์นี้ผมมีกรณีศึกษาของบริษัทแห่งหนึ่งครับ ชื่อของบริษัทนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูนักของชาวไทย เนื่องจากเป็นบริษัทของสัญชาติบราซิล แต่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่โด่งดังในระดับโลกพอสมควร ดูได้จากช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่มีข้อเขียนกว่า 6,000 เรื่องที่เขียนเกี่ยวกับบริษัทนี้ทั่วโลก ตัวผู้บริหารสูงสุดได้ไปพูดให้กับองค์กร งานสัมมนา มหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วโลก (เช่น Harvard, MIT, Staford, INSEAD) รวมแล้วกว่า 300 แห่ง เรื่องราวของบริษัทนี้ได้ถูกบันทึกเป็นกรณีศึกษาที่ใช้อยู่ในสถาบันการศึกษากว่า 76 แห่งทั่วโลก มีตำราที่เขียนเกี่ยวกับบริษัทนี้ได้เป็นตำราที่ให้นิสิตระดับ MBA อ่านในกว่า 271 แห่ง ทั่วโลก อีกทั้งได้มีทั้งนักศึกษาปริญญโทและเอกที่เลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบริษัทนี้เกือบยี่สิบราย ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มอยากจะทราบแล้วนะครับว่าบริษัทที่ผมจะพูดถึงชื่อบริษัทอะไร? บริษัทนี้ชื่อ Semco ครับ เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคงจะไม่คุ้นกับชื่อนี้เท่าใด สาเหตุที่ทำให้บริษัทนี้โด่งดังไปทั่วโลกเกิดขึ้นจากสไตล์ รูปแบบ วิธีการในการบริหารองค์กรนี้ที่ไม่เหมือนใคร และถือเป็นเอกลักษณ์และต้นตำรับเลยครับ

ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้ชื่อ Ricardo Semler ครับ แล้วก็เป็นเจ้าของบริษัทด้วย Ricardo บริหารบริษัท Semco ได้ไม่เหมือนใครเลยครับ เริ่มจากการไม่ปฏิบัติตามกฎทุกอย่างของการบริหารองค์กรที่อยู่ในตำราทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาติให้พนักงานได้มีอิสระในการพักผ่อน ท่องเที่ยว หรือให้เวลากับชีวิตส่วนตัวในวันทำงานปกติ หรือ การไม่มีและไม่คิดที่จะจัดทำแผนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนใดๆ ก็แล้วแต่ นอกจากนี้พนักงานยังสามารถที่จะเลือกสถานที่ทำงานของตนเอง ลักษณะงานที่อยากจะทำ เวลาที่อยากจะทำงาน (ไม่ว่าจะเป็นวันใดวันหนึ่งในเจ็ดวันของสัปดาห์) หรือแม้กระทั่งเงินเดือนของตนเอง บริษัท Semco เป็นบริษัทที่ไม่มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการ ท่านผู้อ่านอย่าคิดไปขอดูแผนผังองค์กร (Organization Chart) จากเขานะครับ ไม่มีหรอกครับ ที่ Semco ไม่มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ไม่มีการกำหนดพันธกิจ (Mission) ไม่มีงบประมาณ ยังไม่หมดนะครับ บริษัท Semco ไม่มีตำแหน่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับ VP หรือ CIO หรือแม้กระทั่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ไม่มี บุคลากรใน Semco ไม่มีแผนความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Plan) ไม่มีคำอธิบายลักษณะงาน (Job Description) ไม่มีสัญญาการทำงานระหว่างพนักงานกับบริษัท ไม่มีคนมานั่งคอยอนุมัติรายงานหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ พูดง่ายๆ เลยครับว่า Semco แทบจะไม่มีระบบในการดูแล ติดตาม และประเมินผลเลยครับ 

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงจะคิดนะครับว่า ดูท่าบริษัทนี้น่าที่จะเจ๊งไปนานแล้ว หรือ อย่างมากก็พอประคองตัวให้พออยู่รอดได้เท่านั้น แต่ผิดคาดนะครับบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องครับ จากปี 1994 ที่มีรายได้ 35 ล้านเหรียญ มาในปี 2003 มีรายได้ 212 ล้านเหรียญ ในปัจจุบันมีพนักงานว่า 3,000 คน และอยู่ในธุรกิจที่หลากหลายครับตั้งแต่อุตสาหกรรมหนัก การบริการ จนถึงเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สำคัญนะครับบริษัทนี้มีอัตราการลาออกของพนักงานที่ต่ำมาก แถมตัวผู้บริหารสูงสุดคือ Ricardo ก็มักจะไม่ค่อยประชุมสำคัญๆ อีกทั้งไม่ค่อยได้ทำการตัดสินใจอะไรเท่าใด นอกจากนี้ตัวผู้บริหารสูงสุดเองก็ยอมรับว่าตัวเขาเองก็ไม่ทราบว่าบริษัทจะมีทิศทางหรืออนาคตไปในทางไหน เรียกได้ว่าไม่ได้มีการวางวิสัยทัศน์ไว้เลยครับ

อาจจะเรียกได้ว่า Semco เป็นบริษัทที่พยายามที่จะทำทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลัการในการบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่แต่อย่างใด ที่บริษัทนี้เขามีหลักการหรือความเชื่อง่ายๆ กันไม่กี่ประการหรอกครับ เช่น การที่ไม่มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการ และการที่อนุญาติให้พนักงานสามารถเลือกทำงานตามสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือ บริษัทจะยืนยันที่จะให้พนักงานเสาะแสวงหาความท้าทายและความพอใจส่วนตัวก่อนที่จะพยายามทำงานเพื่อบริษัท นอกจากนี้บริษัทนี้ยังให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากครับ พนักงานมีสิทธิ์ที่จะออกเสียง ความคิดเห็นกันอย่างอิสระ โดยการลดการควบคุมให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยังมีความคิดที่ไม่เหมือนผู้บริหารทั่วๆ ไปอีกนะครับ นั่นคือพอบริษัทเติบโตมาได้ถึงขั้นนี้แล้ว แทนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  โดย Ricardo ให้เหตุผลว่าถ้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว ก็จะทำให้บริษัทต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย และทำให้บริษัทสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป 

ดูเหมือนว่าบริษัทนี้จะไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของการบริหารที่เราคุ้นเคยเลยนะครับ โดยเฉพาะหน้าที่ทางการจัดการที่เราเรียนเราสอนกันในสถาบันการศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การสั่งการชี้นำ (Leading) และการควบคุม (Controlling) ที่ Semco เขาจะพยายามไม่ปฏิบัติตามพื้นฐานทางด้านการจัดการทั้งสี่ข้อเลยครับ ตัวอย่างเช่น Ricardo เชื่อว่าถ้าบริษัทมีการวางแผนอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้พนักงานทุกคนมัวแต่เดินตามแผนอย่างเดียว 

บริษัท Semco เป็นลักษณะที่มีบริษัทในเครือหลายบริษัท แต่ถ้าถามผู้บริหารสูงสุดอย่าง Ricardo ว่าในปัจจุบันมีบริษัทในเครืออยู่กี่บริษัทเขาก็ตอบไม่ได้ครับ ไม่ใช่เพราะมันมากจนนับไม่ได้นะครับ เพียงแต่บริษัทมีความยืดหยุ่นมาก จำนวนบริษัทต่างๆ เปลี่ยนไปมาตลอดเวลา และถ้าจะถามต่อว่า Semco อยู่ในธุรกิจใดบ้าง ตัว Ricardo ก็ตอบได้ยากเหมือนกันครับ นอกจากบอกได้ว่าอยู่ในธุรกิจที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง เป็นผู้นำเสนอสินค้าและบริการในธุรกิจของตนเอง 

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงอยากจะรู้นะครับว่าบริษัทอย่าง Semco เขามีวิธีการในการบริหารและการทำงานอย่างไร ถึงจะทำให้บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิธีการในการบริหารองค์กรที่ผิดธรรมดาสามัญ สัปดาห์หน้าผมจะนำแนวทางในการบริหารบางส่วนของ Semco มาเฉลยให้ท่านผู้อ่านกันนะครับ แต่ขอเรียกน้ำย่อยสั้นๆ ก่อนครับว่าที่บริษัทนี้เขาถือว่าวันทำงานและวันพักผ่อนมีอยู่เจ็ดวันต่อสัปดาห์ (ตั้งแต่วันอาทิตย์ ถึงวันเสาร์เลยครับ) พนักงานมีสิทธิ์เลือกว่าทำงานหรือวันพักผ่อนในวันใดก็ได้ แม้กระทั่งก่อนการประชุมสำคัญพนักงานก็มีสิทธิ์จะไปออกรอบตีกอล์ฟก่อนก็ย่อมได้ หรือ อยากจะไปทานอาหารกลางวันและดูหนังกับภรรยา ในวันช่วงเวลากลางวันของวันทำงานก็ย่อมได้ ดูแล้วเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยนะครับ ในสัปดาห์เรามาติดตามเรื่องราวของบริษัทนี้กันต่อนะครับ