11 September 2004
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอเกี่ยวกับหลักสูตร การเรียน การสอนทางด้าน MBA นะครับ โดยเนื้อหาในสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่ได้มาจากบทความที่ว่าด้วยอนาคตของการศึกษาในระดับMBA ที่เขียนโดย Nigel Andrews และ Laura D’Andrea Tyson โดยทั้งคู่เป็นผู้บริหารอยู่ที่London Business School สถาบันการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังของอังกฤษครับ ในบทความดังกล่าวผู้เขียนทั้งคู่ได้อ้างผลการวิจัยที่ London Business School ได้จัดทำไว้เกี่ยวกับอนาคตการศึกษาในระดับ MBA ทั่วโลกครับ ผมมองว่าในภาวะที่การศึกษาในระดับ MBA ในบ้านเรามีการขยายตัวกันมากเหลือเกินในปัจจุบัน (ซึ่งก็นำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นด้วย) เราน่าจะลองดูนะครับว่าแนวโน้มการศึกษาในด้านนี้ในระดับสากลเขาจะไปในทิศทางไหนและอย่างไร แล้วเราอาจจะพบครับว่าการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาระดับนี้คงจะอยู่ไม่ไกล
ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปดูกันหน่อยนะครับว่าการศึกษาในระดับ MBA ทั่วโลกนั้นเขามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอะไรกันบ้างในอดีตที่ผ่านมา ครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1950 ที่มีรายงานการศึกษาที่โด่งดังสองชิ้นออกมา โดยรายงานทั้งสองชิ้นได้วิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั้งหลายในอเมริกาว่าไม่ต่างอะไรกับวิทยาลัยชุมชนทั่วๆ ไปที่นักศึกษาก็ไม่มีคุณภาพ ผู้สอนก็ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งสถาบันการศึกษาเหล่านี้ยังไม่สามารถผลิตผลงานวิชาการที่มีคุณค่าออกมา เมื่อผลการศึกษาทั้งสองชิ้นออกมา ก็ทำให้สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั้งหลายต้องมีการปรับตัวกันเป็นแถว และผลผลิตหนึ่งที่ได้ก็คือหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับ MBA ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน นั้นคือ ในปีแรกมีการเรียนที่กว้างโดยผู้เรียนจะต้องรู้ในทุกศาสตร์ (การเงิน ตลาด บุคคล การผลิต ฯลฯ) พอในปีที่สองค่อยเจาะลึกลงไปในแต่ละศาสตร์ที่ผู้เรียนสนใจผ่านทางวิชาเลือกต่างๆ
อย่างไรก็ดีในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 สถาบันการศึกษาเหล่านี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งครับ โดยคราวนี้ถูกวิพากษ์ว่าการเรียนในระดับ MBA มุ่งเน้นแต่ทางด้านวิชาการมากเกินไปจนไม่สามารถเชื่อมโยงกับโลกธุรกิจจริงๆ ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ได้ปรับตัวโดยเพิ่มวิชาหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้จริงๆ แต่ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์จาก AACSB อีกนะครับ (AACSB เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของอเมริกาครับ) โดย AACSB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจควรที่จะมุ่งเน้นในทักษะพื้นฐานทางด้านการจัดการ เช่น การสื่อสาร การพัฒนาผู้นำ หรือการบริหารการเปลี่ยนแปลง และล่าสุดสถาบันเหล่านี้ก็ได้รับการวิพากษ์ในเรื่องของการไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านจริยธรรม เท่าที่ควร ซึ่งก็นำมาสู่การเพิ่มวิชาทางด้านจริยธรรมเข้าไปในหลักสูตรของ MBA ในปัจจุบันกันอย่างแพร่หลายครับ นอกจากนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็มีงานวิจัยหรือรายงานอื่นๆ อีกนะครับที่ออกมาวิพากษ์การศึกษาในระดับ MBA ไม่ว่าจะเป็นการที่หลักสูตร MBA มุ่งเน้นในด้านของการวิเคราะห์ในตัวเลขมากเกินไป จนละเลยต่อความเป็นจริงในโลกธุรกิจ รวมทั้งยังไม่มีลักษณะของ Action-Oriented (ไม่แน่ใจว่าจะแปลว่าอย่างไรดีนะครับ) นอกจากนี้ยังมีคำวิจารณ์อีกว่า MBA ในปัจจุบันเชี่ยวชาญการพัฒนาคนในแต่ละสาขาของธุรกิจ แต่ไม่ได้พัฒนาคนในการบริหารจัดการ
เมื่อมีคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเรียนการสอนในระดับ MBA กันมากขนาดนี้ ทาง London Business School ก็เลยได้มีการสำรวจความต้องการของลูกค้าขึ้นมา เพื่อหาหลักสูตร MBA ที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการ จริงๆ หลักการนี้ทาง MBA ทุกแห่งก็สอนนะครับ ในการติดตาม สำรวจ และแสวงหาความต้องการของลูกค้า แต่ดูเหมือนตัวสถาบัน MBA เองกลับไม่ค่อยได้มีการทำในเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเท่าใด ทาง LBS ได้มีการสอบถามผู้บริหารทั่วโลกถึงคุณลักษณะและความต้องการในตัวผู้ที่จบ MBA ในอนาคตว่าควรที่จะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็เปรียบเสมือนสอบถามผู้ใช้สินค้าและบริการ (ตัวลูกค้า) ถึงลักษณะของสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการในอนาคต
ผลที่ได้รับพอจะทำให้เราสามารถมองภาพที่ควรจะเป็นสำหรับการผลิต MBA ในอนาคตกันได้พอสมควรครับ ประการแรกการศึกษาในรูปแบบนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความเป็นโลกาภิวัฒน์ทั้งในด้านของมุมมองและเนื้อหา องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องการผู้จบ MBA ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากภาวะการค้าและเศรษฐกิจในปัจจุบันดูเหมือนจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านโลกาภิวัฒน์มากขึ้นนะครับ ประการที่สองผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต่างระบุไว้เหมือนกันว่าผู้ที่จบ MBA ควรจะมีความรู้ในสหสาขาหรือสหศาสตร์ (Multidiciplinary) มากกว่าความเชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากในการทำงานในปัจจุบันผู้ทำงานแต่ละคนจะต้องทำงานเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งงานที่ทำจะต้องอาศัยความรู้ ความสามารถจากสาขาต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งความเป็นสหสาขาวิชานั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรนะครับ เนื่องจากสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจต่างๆ ได้รับการสร้างและพัฒนาขึ้นมา โดยมีการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างศาสตร์ต่างๆ ในขณะที่อาจารย์ทางด้านการบริหารทุกคนจะแนะนำบริษัทต่างๆ ให้ลดช่องว่างหรือกำแพงที่กั้นระหว่างแต่ฝ่ายหรือแต่ละแผนกลง แต่ดูเหมือนว่าในสถาบันการศึกษาเอง กำแพงที่กั้นระหว่างแต่ละศาสตร์หรือสาขายากที่จะทำลายลงนะครับ เชื่อว่าทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความรู้ลึกเฉพาะด้าน (ด้านบัญชี การเงิน ตลาด บุคคล การผลิต ฯลฯ) จะเป็นเพียงแค่ใบผ่านขั้นต้นสำหรับการก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับต้นเท่านั้น แต่ในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหาร สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนจากการมุ่งเน้นเป็นศาสตร์หรือสาขา ให้มีลักษณะความเป็นสหสาขามากขึ้น
ประเด็นสำคัญประการสุดท้ายที่ได้จากการสัมภาษณ์ก็คือการเรียนการสอนในระดับMBA จะต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการถ่ายทอดความรู้ปกติให้เป็นการนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์หรือใช้ให้เป็นมากกว่า ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาจำนวนมากจะเป็นสถานที่เรียนเพียงอย่างเดียว แต่ในบริบทใหม่นั้นจะต้องไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ และมุ่งเน้นในการปฏิบัติมากขึ้น
สัปดาห์นี้เราเรียกน้ำย่อยก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าผมจะพาท่านผู้อ่านไปดูซิครับว่าความรู้ ทักษะ คุณลักษณะของผู้ที่จบ MBA ในอนาคตว่าควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ก่อนจบขอประชาสัมพันธ์เว็บไซด์ดีๆ แห่งหนึ่งนะครับ เนื่องจากมีท่านผู้อ่านชอบถามว่าจะหาข้อมูลทางด้านการจัดการที่เป็นภาษาไทยจากที่ไหนได้บ้าง ตอนนี้เว็บของสำนักประกันคุณภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรับรูปโฉมใหม่แล้วครับ ท่านผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพเองก็บอกผมว่าตั้งวิสัยทัศน์ให้เว็บของท่านเป็นเว็บที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการหาข้อมูลและความรู้ทางด้านการบริหารจัดการในเมืองไทย ท่านผู้อ่านก็ลองแวะไปเยี่ยมชมและให้ข้อเสนอแนะได้นะครับอยู่ที่ www.cu-qa.chula.ac.th ในนั้นมีเอกสารการบรรยายของผมในเรื่อง Balanced Scorecard อยู่ด้วยครับ ท่านผู้อ่านสามารถไปดาวน์โหลดเอาได้ครับ