18 September 2004
สัปดาห์นี้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยจะนำเสนอผลงานวิจัยของทาง London Business School สถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ชื่อดังของอังกฤษ ที่เขาพยายามที่จะแสวงหาคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้ที่จบการศึกษาในระดับ MBA ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริหารต่างๆ ทั่วโลก โดยทางคณะผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารชั้นนำจากประเทศต่างๆ 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ Jeffrey Immelt ผู้บริหารสูงสุดของจีอี หรือ Nicolas Hayek ผู้บริหารสูงสุดของ Swatch โดยในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวในเบื้องต้นไปแล้วนะครับ ก็พอจะสรุปได้ว่า การศึกษาทาง MBA ควรที่จะเน้นความเป็นสากลมากขึ้น ผู้ที่จบทางด้าน MBA ควรที่จะมีความรู้ในเชิงสหสาขา และควรเน้นการถ่ายทอดให้สามารถปฏิบัติได้มากกว่าเพียงแค่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว
นอกเหนือจากผลลัพธ์ที่ได้ข้างต้นแล้ว ทางผู้ที่ให้สัมภาษณ์ยังได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้ที่จบการศึกษา MBA ในอนาคตอีกด้วยครับ โดยมีทั้งหมด 39ประเด็น ซึ่งก็พอที่จะจัดกลุ่มออกมาได้เป็นสามกลุ่มครับ ได้แก่ ความรู้ หรือ Knowledge ทักษะ หรือ Skills และ คุณสมบัติ หรือ Attributes ซึ่งจริงๆ แล้วปัจจัยทั้ง 39 ประการก็ยากที่จะแยกออกมาได้อย่างเด็ดขาดนะครับ ในส่วนของความรู้นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสอน ทักษะเกิดขึ้นจากการฝึกหัด ส่วนคุณลักษณะนั้นจะต้องได้รับการพัฒนา เราลองมาดูกันนะครับว่าคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จบ MBA ในอนาคตควรจะมีอะไรบ้างทั้งในด้านของความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติ
ในส่วนของความรู้หรือ Knowledge นั้น ถือเป็นความรู้พื้นฐานที่ผู้ที่จะเป็นผู้บริหารจะต้องมีเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในระดับต้น โดยผลจากการสำรวจพบว่า Knowledge ประกอบไปด้วย (ขออนุญาติเป็นภาษาอังกฤษนะครับ กลัวแปลแล้วเสียความหมาย) Global Macroeconomics, Global Finance, Global Strategy, Organization Structure and Dynamics, Competitive Microeconomics, Decision Sciences, Global Marketing and Brand Management, Sales and Account Management, Technology Management, Accounting, Human Resource Management, และ Corporate Governance ท่านผู้อ่านจะพบว่าสิ่งที่เรียกเป็นKnowledge ที่เป็นที่ต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจสอนกันอยู่แล้วครับ เพียงแต่ในปัจจุบัน “ความรู้” เหล่านี้ถือว่าเป็นเพียงใบเบิกทางหรือสิ่งจำเป็นขั้นต้นสำหรับการทำงานเท่านั้น และ “ความรู้” เหล่านี้ยังไม่ยั่งยืนและเปลี่ยนเร็วอีกด้วยครับ นอกจากนี้ในปัจจุบัน เมื่อองค์กรธุรกิจต่างๆ รับสมัครผู้ที่จบ MBA เข้ามาทำงาน ผมเชื่อว่า “ความรู้” เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ เชื่อว่าผู้ที่จบ MBA จะต้องมีอยู่แล้ว แถมในปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มใหม่ครับ นั้นคือในปัจจุบันบางองค์กรเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการพัฒนา “ความรู้” เหล่านี้ให้กับบุคลากรของตนเอง ดังนั้นบางครั้งเมื่อแสวงหาพนักงานเข้ามาทำงาน จึงไม่ได้แสวงหาผู้ที่มี “ความรู้” แต่กลับแสวงหาผู้ที่มีคุณสมบัติในด้านอื่นแทน เช่น องค์กรแห่งหนึ่งยินดีที่จะรับผู้ที่กำลังเรียนปริญญาเอกทางด้านวรรณคดีรัสเซีย มากกว่าผู้ที่จบ MBA เนื่องจากผู้ที่สนใจเรียนวรรณคดีรัสเซีย แสดงว่ามีความอยากรู้ อยากเห็น หรือ มีทัศนติที่ดีต่อการเรียนรู้ ผู้บริหารบางท่านระบุเลยครับว่าการมีความรู้ทางด้านปรัชญาสำคัญกว่าความรู้ทางด้านธุรกิจครับ
ทีนี้เรามาดูส่วนที่เป็น “ทักษะ” หรือ Skills บ้างนะครับ “ทักษะ” ในที่นี้ประกอบไปด้วย (ขออนุญาติเป็นภาษาอังกฤษอีกเช่นเคยนะครับ) Managing Diverse Cultures, Dealing with Ambiguity, Uncertainty, and Paradox, Decision Making, Accountability, Managing Performance, Project Management, Ability to Make the Complex Simple, Presentation Skills, Listening and Observation, Networking and Collaboration, Teambuilding and teamwork, Talent Assessment, Interpersonal Skill and Giving Feedback สถาบันการศึกษาทั่วๆ ไปมักจะคิดว่าทักษะต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่บุคคลเรียนรู้ได้จากสถานที่ทำงานหรือจากประสบการณ์ในการทำงาน เป็นสิ่งที่ยากที่จะสอนให้เป็นในช่วงเวลาเพียงแค่สองปี ในสถาบันการศึกษา แต่จริงๆ แล้วถ้าเรามองในอีกมุมมองหนึ่งนะครับ ถ้าสถาบันการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิต MBA ที่มี “ทักษะ” ที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้ ก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญเลยนะครับ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ สถาบันการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการเรียนการสอนพอสมควร โดยคงจะต้องมีการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจในการแสวงหา “ทักษะ” ที่เป็นที่ต้องการและจัดหลักสูตรที่มีการพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจเป้าหมาย
ประเด็นสุดท้ายคือคุณลักษณะ (Attributes) ครับ ซึ่งก็คือคุณลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน รวมถึงในแง่ของพฤติกรรมด้วย คุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการประกอบไปด้วย (ขออนุญาติเป็นภาษาอังกฤษอีกเช่นเคยนะครับ) Unyielding Integrity, Worldly Awareness, Thrive on Change, Judgment and Intuition, Demanding Excellence, Perserverance and Tenacity, Adaptability and Responsiveness, Passionate and Persuasive, Curiosity and Creativity, Self-Awareness, Self-Confidence to Involve Others, Boundless Energy to Motivate and Energize, Judging Performance, Capacity and Desire to Learn, Coachable ท่านผู้อ่านจะพบว่าการพัฒนา“คุณลักษณะ” เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลสถาบันการศึกษาในระดับ MBA พอสมควรนะครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้วครับ หรือ ไม่ก็ฝังอยู่ในพันธุกรรมของแต่ละคน แต่ในปัจจุบันองค์กรธุรกิจเวลาเขารับคน เขามองหาในสิ่งเหล่านี้ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ นะครับในการที่จะหาทางพัฒนา เนื่องจากผลการวิจัยของทาง London Business Schoolชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเลยครับว่าผู้บริหารทั่วโลกมองเห็นว่า “ความรู้” นั้นเป็นเพียงแค่สิ่งที่จำเป็นหรือเป็นสิ่งพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ “ทักษะและคุณลักษณะ”จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้บริหารคนนั้นประสบความสำเร็จ
มีงานวิจัยอีกชิ้นครับ ที่ยืนยันในลักษณะเดียวกัน นั้นคือในปีนี้ (2004) ทาง Graduate Management Admission Council (GMAC) ได้ทำการสำรวจผู้ที่จะรับสมัครนิสิต MBA เข้าเป็นพนักงาน (2004 Corporate Recruiters Survey) และพบว่าคุณสมบัติสำคัญที่องค์กรทั่วไปมองหาในตัวผู้ที่จบ MBA นั้น ได้แก่ Strong communication and interpersonal skills, a proven ability to perform, และ a cultural fit with the company ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นว่าปัจจัยทั้งสามประการนั้นเป็นในเรื่องของ “ทักษและคุณลักษณะ” ทั้งสิ้น
ถ้าแนวโน้มการศึกษาทางด้าน MBA เปลี่ยนไปเช่นนี้ ก็เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาอีกเหมือนกันครับว่า วิธีการในการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อในระดับ MBA ควรจะเปลี่ยนไปหรือไม่? นั้นคือแทนที่จะดูเฉพาะคะแนนในอดีต รวมถึงคะแนน GMAT ในลักษณะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาเหล่านี้ควรจะมีวิธีการที่จะสามารถระบุถึงทักษะและคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจหรือไม่? ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ในต่างประเทศเขาเริ่มไม่มองที่ตัว GMAT เพียงตัวเดียวแล้วนะครับ เช่นที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาเริ่มดู Successful Intelligence (SI) ซึ่งเป็นแบบทดสอบผู้ที่จะมาเรียน MBA ในด้านภาวะผู้นำ และการทำงานให้สำเร็จในองค์กร ตัวผมเองเชื่อว่าในไม่ช้าไม่นานเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ในสถาบันการศึกษาด้าน MBA ในบ้านเรานะครับ ตอนนี้บางแห่งเช่น ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ปรับเปลี่ยนวิธีรับนิสิต MBA ภาคผู้บริหารจากการทดสอบและสัมภาษณ์ เป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสังเกตทักษะและคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการ