เพิ่งได้อ่านวารสาร Harvard Business Review ฉบับใหม่ (เดือนตุลาคม 47 นี้) และเจอบทความหนึ่งที่น่าสนใจมากเลยอยากจะมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านครับ บทความนี้เขียนโดยอาจารย์ชื่อดังจาก Harvard Business School สามท่าน ได้แก่ Michael Porter, Jay Lorsch, และ Nitin Nohria โดยใช้ชื่อว่า Seven Surprises for New CEOs โดยเนื้อหาคร่าวๆ นั้นเขาจะพูดถึงสิ่งที่ผู้ที่เป็นผู้บริหารสูงสุด (CEO) จะต้องเผชิญเมื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร โดยที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่บรรดาท่านๆ ทั้งหลายไม่ได้เตรียมตัวหรือเตรียมใจมาไว้ล่วงหน้า ทำให้ CEO หลายท่านต้องประสบความยากลำบากในช่วงแรกของการเข้ามาดำรงตำแหน่ง วิธีการที่นักวิชาการทั้งสามท่านได้แนวทางทั้งเจ็ดประการมาก็น่าสนใจครับ นั้นคือทั้งสามท่านจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยเชิญผู้บริหารที่เป็นระดับ CEO ใหม่ๆ มาเข้าร่วม โดยจะต้องมาจากบริษัทที่มียอดรายได้มากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญต่อปี ผู้บริหารแต่ละท่านจะต้องเพิ่งได้รับตำแหน่ง CEO หรือ กำลังรอที่จะรับตำแหน่ง CEO เรียกได้ว่าเป็นโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็น CEO โดยเฉพาะ ซึ่งผลจากโครงการสัมมนาดังกล่าว (เขาจัดมาหลายปีแล้วครับ มี CEO เข้าร่วมกว่า 50 ท่านแล้ว) ทำให้นักวิชาการทั้งสามท่านเขียนเป็นบทความลงใน Harvard Business Review
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะมองตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร หรือ CEO ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน เป็นตำแหน่งที่เฝ้ารอมาตลอดอายุการทำงาน และเมื่อได้รับตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมจะทำให้มีอำนาจที่จะสั่งการและบังคับบัญชาองค์กรได้ตามทิศทางที่ต้องการ แต่เราจะพบนะครับว่า CEO ใหม่หลายๆ ท่านจะพบเจอในสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อน อำนาจที่คิดว่าตนเองมีนั้น ก็ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างที่อยากจะให้เป็น CEO ใหม่หลายท่านเข้ามาด้วยความฝันและความตั้งใจอันสวยหรูที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กร แต่พอนั่งทำงานได้ซักพักหนึ่งก็จะเริ่มรู้สึกและทราบแล้วว่าถ้าทำได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ตั้งใจไว้ก็นับว่าประเสร็ฐแล้วครับ ความแปลกใจที่เฝ้ารอ CEO ใหม่นั้นอาจจะเกิดจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลา หรือข้อมูล เนื่องจาก CEO ใหม่จะรู้สึกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องทำเหลือเกิน แต่สิ่งที่ขาดไปนั้นคือข้อมูลและเวลาที่ไม่เคยเพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดจากบทบาท หน้าที่ และความคาดหวังใหม่ๆ ที่จะต้องเผชิญ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานที่เปลี่ยนไปด้วย เรามาลองดูรายละเอียดของสิ่งที่ CEO ใหม่ จะต้องคำนึงกันบ้างนะครับ
ประการแรกก็คือ CEO ใหม่ไม่สามารถที่จะบริหารองค์กรได้เอง (You can’t run the company) เนื่องจากก่อนที่ CEO จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุด พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะเติบโตมาจากการเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับหน่วยงานมาก่อน ทำให้ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยอยู่กับการลงไปดูแลในเรื่องของรายละเอียดในการดำเนินงาน จะต้องรู้เรื่องหรือรับรู้ความเป็นไปที่สำคัญในหน่วยงาน และจะต้องเข้าไปดูแลงานประจำ แต่เมื่อขึ้นมาเป็น CEO แล้ว สิ่งหนึ่งที่ CEO ใหม่จะติดมาก็คือความคุ้นเคยที่จะลงไปดูแลในรายละเอียดและการดำเนินงานในลักษณะงานประจำอยู่ โดย CEO ใหม่เหล่านี้มักจะลืมคิดไปว่าการเป็น CEO นั้นจะแทบไม่มีเวลาที่อนุญาติให้ลงมาดูในเรื่องของรายละเอียดเหมือนเดิม ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการเวลาจาก CEO ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร ท่านผู้อ่านลองนึกดูง่ายๆ นะครับ แค่การเปิด หรือ ปิด การประชุมหรือสัมมนา ของบรรดา CEO ต่างๆ ก็ทำให้ไม่มีเวลาจะทำอย่างอื่นแล้ว และงานเหล่านี้จะส่งคนอื่นไปแทน ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่า เนื่องจากเวลาใครเชิญ CEO ไปร่วมงานหรือทำอะไรแล้ว เขาก็ย่อมไม่ต้องการตัวสำรองหรอกครับ
สิ่งหนึ่งที่ CEO ใหม่จะต้องทำใจก็คือ ไม่มีทางที่พวกเขาจะสามารถรับรู้ในเรื่องต่างๆ ขององค์กรเช่นในอดีต จากที่เคยมีเวลาไปตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรทุกเดือน เพียงแค่ไปเยี่ยมให้ได้หน่วยเดียวในรอบสามเดือนก็เก่งแล้ว มีสัญญาณเตือนง่ายๆ ครับว่า CEOใหม่ๆ พยายามที่จะทำและรู้ทุกอย่างเหมือนสมัยยังเป็นผู้บริหารระดับรองอยู่สองประการครับ ประการแรก เมื่อ CEO ใหม่รู้สึกว่าตนเองใช้เวลาต่อวันมากเกินไปในการประชุม และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพูดคุย ถกเถียงในประเด็นปลีกย่อย (Tactical Issues) ประการที่สอง มีหลายครั้ง หลายวันที่ CEO มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมเวลาของตนเองได้ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือตกเป็นทาสของเวลานั้นเองครับ
ประการที่สอง ก็คือ การสั่งการอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ (Giving Orders is Very Costly) เรามักจะนึกว่า CEO เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแล้ว ย่อมที่จะมีอำนาจหรือสิทธิ์ในการสั่งการทุกอย่าง แต่ถ้า CEO ใหม่ ไม่รู้ถึงวิธีการหรือแนวทางในการสั่งการที่เหมาะสมแล้ว แทนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กลับกลายเป็นโทษสำหรับตัว CEO เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งการที่เป็นคำสั่งลงไปฝ่ายเดียว หรือการคัดค้านต่อข้อเสนอหรืองานที่ผู้บริหารระดับล่างได้พัฒนาและเตรียมพร้อมขึ้นมา ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่าถ้า CEO ใหม่เอี่ยม พอเริ่มทำงานก็เริ่มออกคำสั่งเลย และถ้าคำสั่งนั้นขัดกับสิ่งที่เป็นที่เชื่อหรือปฏิบัติกันมาก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือการปกป้องตนเองก็ผู้ใต้บังคับบัญชาได้
นอกจากนี้การปฏิเสธหรือไม่ยอมรับต่อข้อเสนอหรืองานที่ได้มีการเตรียมการมาจากระดับล่างเป็นอย่างดี ก็อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้ใจการตัดสินใจและวิจารณญาณของผู้บริหารระดับรองลงมาได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อขวัญและกำลังใจของผู้บริหารระดับรองลงมา และผลเสียนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวบุคคลเพียงแค่คนเดียวนะครับ หลายครั้งที่เห็นว่าจะส่งผลต่อกลุ่มบุคคลในวงกว้างด้วยซ้ำ และเมื่อเกิดการปฏิเสธงานที่เสนอจากระดับล่างขึ้นมาแล้ว ก็เหมือนกับจะเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริหารระดับรองต้องกลับมานั่งคิดและทบทวนงานของตนเองใหม่ครับ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นทุกคนก็อยากที่จะเข้ามาคุยกับ CEO เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่างานที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นได้รับการสนับสนุนหรือเห็นชอบจาก CEO ใหม่มากน้อยเพียงใด และท้ายสุดก็จะเริ่มมีการอ้างชื่อของ CEO เวลาจะทำอะไรซักครั้ง คิดว่าท่านผู้อ่านเคยเจอบ่อยครับที่คนมักจะชอบว่า ‘CEO บอกว่า…….’
วันนี้ขอนำเสนอสองประเด็นจากเจ็ดก่อนนะครับ แล้วสัปดาห์หน้าจะนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจที่เหลืออีกห้าประการสำหรับ CEO ใหม่นะครับ
6 October 2004