14 October 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเนื้อหาจากบทความเรื่อง Seven Surprises for New CEOsจากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนตุลาคมนี้ ในสัปดาห์นี้ผมเลยขอนำเสนอในส่วนต่อไปนะครับ ในบทความนี้เขาจะพูดถึงความแปลกใจเจ็ดประการที่ผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ขององค์กรต่างๆ จะต้องเผชิญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอไว้สองประการได้แก่ CEO ไม่สามารถที่จะบริหารองค์กรได้เอง และการสั่งการไม่ง่ายอย่างที่คิด สัปดาห์นี้เรามาดูต่อในอีกห้าประการที่เหลือนะครับ
สำหรับความแปลกใจประการที่สามที่ CEO ใหม่จะต้องเผชิญได้แก่ เป็นการยากที่จะรู้ในทุกอย่างที่เป็นไปภายในองค์กร (It is hard to know what is really going on) นั้นคือเมื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแล้ว ผู้บริหารท่านนั้นก็มักจะคิดว่าต่อไปข้อมูลต่างๆ ในองค์กรก็จะไหลเข้ามา และจะทำให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่ CEO ใหม่จะต้องรู้ไว้ก็คือข้อมูลต่างๆ ที่มาถึง CEO จะถูกกลั่นและกรองในระดับหนึ่ง นั้นคือยากที่ CEO จะได้รับรู้ข้อมูลทุกอย่างตามที่คิด การกลั่นกรองข้อมูลนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจดีของผู้ใต้บังคับบัญชาก็ได้ ท่านผู้อ่านอาจจะเคยเจอสถานการณ์ที่ไม่อยากเล่าเรื่องบางอย่างให้กับ CEO ก็ได้โดยเฉพาะถ้าเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดีกับตัวท่านเอง ทั้งๆ ที่ในอดีตก่อนที่บุคคลผู้นั้นจะขึ้นมาเป็น CEO ท่านกับเขาก็ยังพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ในบางครั้ง CEOใหม่ก็จำเป็นที่จะต้องลงไปพูดคุยกับพนักงานในระดับล่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง
ประการที่สี่ ก็คือ CEO ส่งสัญญาณออกไปตลอดเวลา (You are always sending a message) โดยปกติ CEO ทุกท่านก็ทราบอยู่แล้วว่า คำพูดหรือพฤติกรรมจะถูกจับตามอง และเป็นที่สังเกตของบุคลากรภายในองค์กร แต่สิ่งที่ CEO ใหม่ไม่ทราบก็คือทุกการเคลื่อนไหวหรือทุกอริยบถของ CEO จะถูกจับตาและแปลความหมายจากบุคลากรภายในองค์กร และผลจากการแปลความหมายนั้นก็จะถูกแพร่กระจายไปทั่วทั้งองค์กร และส่วนใหญ่ก็จะแปลความหมายในทางที่ผิดด้วย ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับ ถ้าเพื่อนร่วมงานของท่านกำลังนำเสนองานให้กับ CEO ใหม่ แล้วอยู่ดีๆ CEO ก็ทำหน้าเบ้ในระหว่างการนำเสนอ ผู้ที่คอยสังเกตสีหน้าของ CEO ก็จะตีความหมายไปเลยว่า CEO นั้นไม่พอใจต่อเรื่องที่กำลังถูกนำเสนออยู่ และข้อความดังกล่าวก็จะถูกส่งต่อและกระจายไปทั่วทั้งองค์กร ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว CEO อาจจะมีอาการปวดท้องขึ้นมากระทันหันก็ได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ CEO จะต้องมั่นใจก็คือข้อความต่างๆ ที่ส่งออกไป ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะต้องส่งออกไปให้ชัดเจน ไม่ใช่ส่งออกไปครึ่งๆ กลางๆ เพื่อมิให้เกิดการตีความหมายที่ผิดๆ กันอีก
ประการที่ห้า ก็คือ CEO ยังไม่ใช่นายสูงสุดที่แท้จริง (You are not the boss) เนื่องจาก CEO ใหม่ๆ มักจะเข้าใจผิดว่าตนเองมาถึงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรแล้ว สามารถที่จะบังคับบัญชาทั้งองค์กรตามที่ตนเองต้องการ แต่ในความเป็นจริงนั้น CEO ก็ยังมีเจ้านายอยู่นั้นคือ คณะกรรมการขององค์กร (Board of Directors) ซึ่งคณะกรรมการขององค์กรนั้นเมื่อสามารถว่าจ้าง CEO ได้ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะประเมิน ไม่เห็นด้วย ปรับเปลี่ยนทิศทางขององค์กรตามที่ตนเองต้องการ กลายเป็นว่า CEO จะต้องเรียนรู้ที่จะบริหารสัมพันธภาพที่ดีกับคณะกรรมการบริษัท ที่โชคร้ายก็คือจากการที่ในอดีตจะต้องบริหารเจ้านายเพียงแค่คนเดียว (สมัยยังไม่ได้เป็น CEO) แต่เมื่อขึ้นมาเป็น CEO แล้วกลับต้องบริหารกรรมการบริษัทอีกนับสิบคน เรียกได้ว่าเหนื่อยกว่าอดีตอีกครับ และจะโชคร้ายยิ่งไปกว่าถ้าในคณะกรรมการบริษัทมีอดีต CEO นั่งอยู่ด้วย เนื่องจากอดีต CEO จะรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ดีกว่า CEO ใหม่ และแถมบางครั้งแสดงให้เห็นว่าตัดสินใจได้ดีกว่า CEO ใหม่อีกด้วย เรียกได้ว่าถ้า CEO ใหม่ไม่สามารถบริหารความสัมพันธ์กับกรรมการบริษัทให้ดี บรรยากาศในห้องประชุมจะดูไม่จืดเลยครับ
ประการที่หก ก็คือ การทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด (Pleasing Shareholders is not the goal) ในองค์กรธุรกิจเอกชน CEO ใหม่มักจะนึกว่าเป้าหมายสูงสุดของตนเองก็คือการทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจ แต่ปัญหาก็คือการทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจ ก็คือการทำให้ราคาหุ้นของบริษัทดีขึ้น หรือมีการจ่ายปันผล ซึ่งในบางครั้งการมุ่งแต่เฉพาะผลประกอบการด้านการเงินจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว CEO ใหม่ๆ หลายท่านมักจะมีการเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นพอใจ แต่ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน
ประการที่เจ็ด ก็คือ CEO ก็เป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดา (You are still only human) CEO ใหม่จะต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าตนเองเป็นเพียงแค่คนธรรมดาเท่านั้น CEO ใหม่หลายคนจะต้องคอยหยิกตัวเองอยู่เสมอไม่ให้หลงตัวเอง ไม่ให้คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ให้คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล CEO ใหม่จะต้องคอยเตือนตัวเองและยอมรับว่า ตนเองไม่ได้เก่งหรือรู้ทุกอย่างไปทุกเรื่อง นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว CEO ใหม่มักจะคิดว่าสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ เนื่องจากเคยทำได้สำเร็จมาแล้วเมื่อเป็นผู้บริหารระดับรองลงมา แต่เมื่อเป็น CEO มาได้ระยะหนึ่ง CEO ใหม่ส่วนใหญ่จะยอมรับว่ายากที่จะสร้างความสมดุลดังกล่าวได้ มีแต่ต้องเลือกเอาว่าจะมุ่งเน้นในส่วนไหนมากกว่ากัน ความยากในการสร้างความสมดุลนั้นไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องของเวลาเพียงอย่างเดียว แต่ในบางกรณีชีวิตของ CEO กลายเป็นชีวิตที่สาธารณชนให้ความสนใจไปด้วย เรื่องที่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวของ CEO กลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นที่รับรู้และแพร่หลายในวงกว้าง
มีข้อแนะนำเลยครับว่า CEO ใหม่ไม่ควรที่จะหลงตนเอง จะต้องถ่อมตัวอยู่เสมอ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เสมอ และไม่ให้คำชมหรือยกยอปอปั้นที่ผู้อื่นมอบให้ทำให้พฤติกรรมของ CEO ผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ CEO ใหม่ยังจะต้องมุ่งเน้นในภาพรวมของตัวองค์กรมากกว่าการลงมายุ่งกับรายละเอียดหรืองานประจำทั่วๆ ไป และสุดท้าย CEO จะต้องรับทราบว่าการขึ้นมาเป็น CEO ไม่ได้เป็นการมีสิทธิ์ในการจะชี้นำหรือสั่งการอะไรได้ตามใจชอบ หรือเป็นการรับรองว่าทุกคนทั่วทั้งองค์กรจะภักดีต่อตนเองตลอดไป
หวังว่าบทความในสองสัปดาห์นี้คงจะเป็นประโยชน์กับบรรดา CEO ใหม่ หรือว่าที่ CEOใหม่นะครับ ถ้าสนใจอ่านฉบับเต็มก็ลองไปหาอ่านจากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนตุลาคมนี้นะครับ