31 July 2004
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ก็ยังคงต่อเนื่องในเรื่องของ Strategic Management Cycle (SMC) ต่อจากสองสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยหลังจากพาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจว่าทำไมกระบวนการในการบริหารกลยุทธ์ถึงจะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังจะต้องเป็นกระบวนการที่ผสมผสานระหว่างการกำหนดกลยุทธ์อย่างเป็นทางการ กับกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกี่ยวกับการกำหนดวิสัยทัศน์ ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มที่จะจับต้องได้มากขึ้น ในสัปดาห์นี้เรามาดูต่อกันนะครับว่าภายหลังจากมีการกำหนดกลยุทธ์กันอย่างเป็นทางการแล้ว ขั้นต่อไปจะมีแนวทางในการนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร?
ผมได้มีโอกาสนำเสนอในเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic Execution) ผ่านทางบทความนี้หลายครั้งแล้ว เพียงแต่ในครั้งนี้จะขอรวบรวมประเด็นและสรุปภาพที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งมีทั้งหมดสิบประการ (อาจจะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับสิบข้อในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติก็ได้นะครับ) โดยเคล็ดลับทั้งสิบประการประกอบด้วย 1) ผู้นำ (Leadership) อาจจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยแรกเริ่มที่สำคัญสุดสำหรับการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติก็ได้เลยครับ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสองค์กรจำนวนมากในไทยทั้งภาครัฐและเอกชน จะพบเลยว่าตัวผู้นำถือเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ในองค์กรเลยครับ ผู้นำจะเป็นทั้งผู้ริเริ่ม ผู้ผลักดัน ผู้สนับสนุน รวมถึงผู้ที่ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ เท่าที่ประสบมาในองค์กรจำนวนมากจะพบว่าลักษณะและสไตล์ของผู้นำส่งผลต่อการบริหารขององค์กรอย่างเต็มที่เลยครับ ส่วนราชการหลายแห่งที่กำลังดำเนินงานตามกลยุทธ์ไปด้วยดี พอเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาระดับสูง งานที่กำลงัดำเนินงานไปด้วยดีอยู่ หยุดชะงักไปเลย เนื่องจากแนวทางของผู้นำที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะตระหนักว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยากที่สุด
2) องค์กรจะต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ หรือที่บางแนวคิดเขาเรียกว่า Strategy-Focused Organization (SFO) นั้นคือทำอย่างไรให้ทุกคนในทุกระดับทั่วทั้งองค์กรตระหนัก มุ่งเน้น และให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ ปัจจัยนี้ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ยากอีกชิ้นหนึ่งนะครับ เนื่องจากสิ่งที่พบก็คือบุคลากรในองค์กรส่วนใหญ่จะมองกลยุทธ์หรืองานที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์เป็นเพียงงานที่เพิ่มภาระให้กับเขา เป็นงานที่ทำให้เขาเสียเวลาในการทำงานประจำไป ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับ แล้วจะพบว่าการทำงานของคนเราส่วนใหญ่วันๆ จะหมดไปกับงานประจำที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้น และงานประจำเหล่านั้นกลับกลายเป็นงานหลักขององค์กรไป จนเมื่อมีงานที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกลยุทธ์ขึ้นมา ทุกคนก็จะคิดว่าสิ่งที่เพิ่มมานั้นเป็นภาระ ทำให้เสียเวลา และไม่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อการทำงานของเขาแต่อย่างใด ดังนั้นโจทย์ที่ยากก็คือ ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะสามารถทำให้ทุกคนในองค์กรตระหนัก ให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นต่องานทางกลยุทธ์
3) การสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้เป็นที่รับรู้ทั่วทั้งองค์กร (Communicate and Translate Strategy) ข้อนี้ถือว่าต่อเนื่องจากข้อที่แล้วเลยครับ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรไม่มุ่งเน้นในเรื่องของกลยุทธ์อาจจะมาจากสาเหตุที่เขาเหล่านั้นไม่ทราบว่ากลยุทธ์ขององค์กรคืออะไร ผมเจอมาหลายองค์กรครับที่ผู้บริหารในระดับสูงมีความภูมิอกภูมิใจกับกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรที่ตนเองได้กำหนดไว้ แต่พนักงานมักจะชอบบ่นว่าองค์กรของตนเองขาดกลยุทธ์และทิศทางที่ชัดเจน การสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์นี้ผมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่นำวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือกลยุทธ์ขององค์กรแปะไว้ข้างผนัง หรือแจกการ์ดใบเล็กๆ ที่เขียนถึงวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เพื่อให้พนักงานท่องจำให้ได้ แต่หมายถึงการทำให้บุคลากรในทุกระดับเข้าใจถึงกลยุทธ์ รวมทั้งเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ หรือจะทำนั้นส่งผลต่อกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างไร ผู้บริหารหลายๆ ท่านมักจะถามผมว่าถ้าสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้บุคลากรเข้าใจและรับทราบแล้วจะไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลความลับที่สำคัญของบริษัทหรืออย่างไร? ในการที่จะตอบคำถามนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่ากลยุทธ์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้นคืออะไรกันแน่? ผมเองจะมองกลยุทธ์ในภาพกว้างพอสมควร เช่น แนวทางในการเพิ่มรายได้ หรือ คุณค่าที่องค์กรมุ่งนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถึงแม้ท่านไม่สื่อสารและทำให้บุคลากรเขาเข้าใจ คู่แข่งของท่านเขาก็ทราบอยู่แล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้หนังสือหรือสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับธุรกิจออกมามากมายเต็มไปหมด บทวิเคราะห์เกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ก็มีกันเต็มไปหมด ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ท่านไม่ต้องไปปิดบังหรอกครับ แต่สิ่งที่ท่านจะต้องปิดบังอาจจะเป็นพวกกลวิธีต่างๆ มากกว่า เช่น จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ในวันไหน หรือ ท่านจะไปซื้อกิจการของบริษัทใด
4) การทำให้การดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน (Strategic Alignment) ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าในบางครั้งการดำเนินงานในองค์กรเดียวกันยังขาดความสอดคล้องกันเลยครับ ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมุ่งเน้นในเรื่องของการให้บริการต่อลูกค้าเป็นประเด็นทางกลยุทธ์ที่สำคัญ แต่ในทางปฏิบัตินั้นพนักงานที่ติดต่อกับลูกค้ากลับชอบพูดจากตะคอกใส่ลูกค้า การทำให้คนทั่วทั้งองค์กรเข้าใจในกลยุทธ์อาจจะเป็นเรื่องยากแล้ว แต่เรื่องที่ยากกว่าก็คือทำให้ทั่วทั้งองค์กรมีพฤติกรรมที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร
5) การทำให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานทางด้านกลยุทธ์ขององค์กร (Accountability of Strategic Performance at all Levels) เป็นอีกแนวทางหนึ่งนะครับในการทำให้กลยุทธ์สามารถเกิดการปฏิบัติได้อย่างชัดเจนขึ้น นั้นคือจะต้องทำให้ทุกคนในทุกระดับในองค์กรมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อผลการดำเนินผลการดำเนินงานทางด้านกลยุทธ์ขององค์กร ถึงตรงนี้ผู้บริหารอาจจะต้องหาวิธีการหรือแนวทางในการที่จะใช้วิธีการในการจูงใจมาใช้ครับ ผมเจอให้หลายๆ องค์กรที่ผูกโบนัส หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ขององค์กรเข้ากับผลการดำเนินงานทางกลยุทธ์ นั้นคือแทนที่จะนำโบนัสหรือสิ่งจูงใจไปผูกกับการดำเนินงานตามปกติ ก็ให้ไปผูกกับผลการดำเนินงานหรือตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพทางด้านของกลยุทธ์ขององค์กรเป็นหลัก
6) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ และงบประมาณ ปัจจัยประการนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญขององค์กรในเมืองไทยจำนวนมาก นั้นคือแทนที่จะกำหนดแผนปฏิบัติการและงบประมาณ โดยดึงมาจากกลยุทธ์ กลับไม่สร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยข้างต้นไว้เลย องค์กรชั้นนำจำนวนมากที่มักจะตั้งงบประมาณขึ้นมาก่อน โดยขาดแผนงานที่ชัดเจนก่อนด้วยซ้ำ หรือ หลายองค์กรที่เคยเจอเวลาของบประมาณที่ไร ก็จะเสนอแต่งบประมาณในส่วนที่เป็นตัวเลข โดยไม่แสดงให้เห็นว่างบประมาณที่ขอนั้นมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ได้อย่างไร หลักการจริงๆ แล้ว องค์กรควรจะมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน จากนั้นถึงจะแตกกลยุทธ์ออกสู่แผนปฏิบัติที่มีรายละเอียด แล้วค่อยกำหนดว่าจะต้องใช้เงินหรืองบประมาณเท่าใดในการที่จะทำให้แผนปฏิบัติการนั้นสัมฤทธิ์ผล ซึ่งจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานขององค์กรทางด้านกลยุทธ์บรรลุผล
สัปดาห์นี้ผมขอจบที่เคล็ดลับประการที่หกก่อนนะครับสัปดาห์หน้าเรามาต่อกันในอีกสี่ประการที่เหลือครับ