5 August 2004

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้นำเสนอถึงเคล็ดลับในการนำกลยุทธ์ปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลไปส่วนหนึ่งแล้วนะครับ ในสัปดาห์นี้ผมจะขออนุญาติมานำเสนอต่อให้จบ โดยในสัปดาห์ที่แล้ว ได้เริ่มต้นเคล็ดลับไว้แล้วหกประเด็น ได้แก่ ด้านผู้นำ การที่องค์กรจะต้องมุ่งเน้นในกลยุทธ์ การสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้เป็นที่รับรู้ การทำให้การดำเนินงานของทั้งองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การทำให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานทางด้านกลยุทธ์ขององค์กร และ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ และงบประมาณ ในสัปดาห์นี้ผมขอมาต่อในเคล็ดลับที่เหลืออีกสี่ประการนะครับ

เคล็ดลับประการที่ 7 ได้แก่การมีวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม (Right Culture) ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรได้กลายเป็นปัจจัยทางการจัดการที่สำคัญที่ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกันมากขึ้น เนื่องจากเราเริ่มมองแล้วว่าถ้าวัฒนธรรมองค์กรไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมต่อกลยุทธ์แล้ว การที่จะปฏิบัติตามกลยุทธ์ก็ยากที่จะเกิดขึ้น ในอดีตเรามักจะเชื่อว่ากลยุทธ์เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยผู้ก่อตั้งองค์กรและยากที่จะเปลี่ยน แต่ในปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไป หลายๆ องค์กรได้มีการกำหนดวัฒนธรรมที่อยากจะให้เกิดขึ้น ผมจำได้ว่าในผู้จัดรายสัปดาห์เมื่อไม่กี่ฉบับที่ผ่านมาก็ได้ลงค่านิยมหลักของบริษัทซีพี 7-11ที่ผู้บริหารของบริษัทต้องการให้บุคลากรยึดถือ (ค่านิยมหลักเจ็ดประการของ 7-11 ประกอบด้วย แกร่ง กล้า สัจจะวาจา สามัคคี มีน้ำใจ ให้ความเคารพผู้อื่น และชื่นชทความงามแห่งชีวิต) หรือ สำหรับหน่วยราชการของไทย ก็ได้มีการกำหนด วัฒนธรรมและค่านิยมของระบบราชการที่พึงประสงค์ขึ้นมา โดยเรียกว่า I AM READY ซึ่งประกอบไปด้วย ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี (Integrity) ขยันตั้งใจทำงาน (Activeness) มีศีลธรรม คุณธรรม (Morality) รู้ทันโลก ปรับตัวทันโลก ตรงกับสังคม (Relevancy) มุ่งเน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) รับผิดชอบต่อผลงานต่อสังคม (Accountability) มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วม โปร่งใส (Democracy) และมีผลงาน มุ่งเน้นผลงาน (Yield)

เคล็ดลับประการที่ 8 ได้แก่การมีโครงสร้างและกระบวนการในการทำงานที่เหมาะสม(Right Structure and Processes) องค์กรหลายแห่งไม่สามารถแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติได้เนื่องจากโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในที่ไม่เหมาะสม ผมเจอในองค์กรจำนวนมากที่งานที่เป็นกลยุทธ์หลายๆ งาน กลับมีหน่วยงานมากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่ทำซ้ำซ้อน (ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากการไม่ได้ตกลงกันก่อน หรือขอบเขตหน้าที่ในการทำงานที่ไม่ชัดเจน) หรือ งานกลยุทธ์บางงานที่มีความสำคัญ กลับไม่มีหน่วยงานใดมารับผิดชอบ ท่านผู้อ่านลองเจาะลึกเข้าไปในองค์กรของท่านดูนะครับแล้วท่านจะพบว่าในหลายๆ หน่วนงานยังมีความสับสนในบทบาทหน้าที่และขอบเขตการทำงานอยู่ 

เคล็ดลับประการที่ 9 ได้แก่การมีบุคลากรที่เหมาะสม (Right People) หลายๆ ท่านถือว่าบุคคลถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้นะครับในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ คุณภาพและความเหมาะสมของบุคลากรก่อให้เกิดความแตกต่างสำหรับการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนครับ ท่านผู้อ่านจะสังเกตนะครับว่าในปัจจุบันจะมีเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กรนานๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Competencies หรือ เรื่องของ Talent Management โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่แนวโน้มทางด้านประชากรของประเทศไทยและของโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง ทำให้แรงงานมีฝีมือในวัยหนุ่มสาวลดลง และต่อไปแรงงานที่เป็นผู้สูงอายุก็จะเพิ่มากขึ้น ในปัจจุบัน เริ่มมีการให้ความสำคัญต่อแนวคิดของการบริหารงานบุคคลในยุคที่เรียกว่าเป็น Aging Workforce กันมากขึ้นนะครับ

เคล็ดลับประการที่ 10 ซึ่งเป็นประการสุดท้าย ได้แก่เรื่องของการจูงใจ (Motivation) ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ถือว่าต่อเนื่องจากเคล็ดลับประการที่ 9 ครับ นั่นคือถึงแม้องค์กรจะมีบุคลากรที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าบุคลากรเหล่านั้นขาดขวัญ กำลังใจ และแรงจูงใจในการทำงานก็ย่อมยากที่จะให้บุคลากรสามารถนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้ หลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการจูงใจได้มีการศึกษากันมาเป็นทศวรรษแล้ว แต่ดูเหมือนผู้บริหารเองก็ยังคงมีปัญหาในการจูงใจให้บุคลากรทำตามแผนที่วางไว้ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเมื่อพูดถึงการจูงใจขึ้นมาทีไร ผู้บริหารขององค์กรส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงแต่การจูงใจด้วยการให้รางวัลที่สามารถจับต้องได้ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล โบนัส การขึ้นเงินเดือน ฯลฯ แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าการที่จะจูงใจบุคลากรได้ไม่ได้พึ่งพาแต่สิ่งจูงใจภายนอกเท่านั้น ผู้บริหารขององค์กรจะต้องทำให้บุคลาการเกิดแรงจูงใจจากภายใน ถือเป็นการจูงใจด้วยใจ ทำงานด้วยใจมากกว่า

เป็นอย่างไรครับเคล็ดลับทั้งสิบประการในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ เคล็ดลับทั้งสิบประการเป็นเพียงแค่แนวทางเท่านั้นแต่ในเรื่องของการปฏิบัติยังต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการบริหารอยู่มาก ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จกันนะครับว่าเขาให้ความสำคัญกับการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เมื่อตอนต้นปีวารสาร Fortune ได้มีการจัดลำดับบริษัททั่วโลกที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดทั่วโลก (The World’s Most Admired Company) โดยบริษัทที่ได้รับกายกย่องสิบอันดับแรกทั่วโลกประกอบด้วย Wal-Mart, GE, Microsoft, Johnson & Johnson, Berkshire, Dell, IBM, Toyota, P&G, และ Federal Express ซึ่งเขาได้มีการทำการศึกษาวิจัยต่อไปว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก โดยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบริษัทที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด กับอีกกลุ่มบริษัทที่ได้รับการยกย่องในลำดับรองลงมา และพบว่าปัจจัยหรือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างบริษัททั้งสองกลุ่มก็คือเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ เราลองมาดูในรายละเอียดของปัจจัยที่ทำให้ที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันนะครับ 

ประการแรกก็คือบริษัทที่ได้รับการยกย่องจะมีการสื่อสารถ่ายทอดกลยุทธ์ไปสู่แผนการปฏิบัติที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ประการที่สองคือมีการกำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน บุคลากรในแต่ละหน่วยงานรู้ว่าจะต้องหาข้อมูลหรือขอรับความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ได้ที่ไหน ประการที่สาม กระบวนการในการตัดสินใจมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ประการที่สี่ ผู้บริหารระดับสูงให้เวลาและความสำคัญกับการว่าจ้างและการพัฒนาบุคลากร และประการสุดท้าย ระบการวัดและประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนกับกลยุทธ์ของบริษัท

หวังว่าเนื้อในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคงจะทำให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญและแนวทางในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติมากขึ้นนะครับ แต่การที่จะทำได้จริงๆ นั้นคงจะต้องขึ้นอยู่กับศาสตร์ ศิลป์ และประสบการณ์ของผู้บริหารแต่ละท่านด้วย