28 October 2004

ท่านผู้อ่านเคยได้สังเกตและติดตามดูบ้างไหมครับว่าหลักการและแนวคิดพื้นฐานในด้านการจัดการได้มีการปรับเปลี่ยนกันบ้างไหม? ผมได้เคยอ่านเจอจากหนังสือทางด้านการจัดการของต่างประเทศเล่มหนึ่งครับที่เขาพยายามที่จะนำเสนอว่าการปรับเปลี่ยนของปัจจัยภายนอกต่างๆ อย่างรุนแรงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐานทางด้านการจัดการทีเดียว คล้ายๆ กับลักษณะของวงจรชีวิตของการจัดการ สัปดาห์นี้เรามาลองดูกันนะครับว่าตำราต่างประเทศเขาพยายามนำเสนออะไรบ้างแล้วเราลองหันกลับมาดูในประเทศไทยกันนะครับ

            ถ้าไม่นับช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านของการบริหารจัดการกันอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวกันว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นยุคของผู้ขายครับ เนื่องจากความขาดแคลนในช่วงสงครามโลก ทำให้พอจบสงครามอุปสงค์ในสินค้าและบริการต่างๆ ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการถือกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลางยิ่งทำให้ความต้องการในสินค้าและบริการทวีมากขึ้น ในยุคนี้ธุรกิจต่างๆ ก็มุ่งเน้นในเรื่องของการผลิตเป็นหลัก แถมเป็นการผลิตให้ได้ปริมาณมากที่สุดด้วย เนื่องจากผลิตออกมาอย่างไรก็ขายได้ ในยุคนี้จะเกิดเป็นต้นกำเนิดขององค์กรธุรกิจในรูปแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบันที่มีหน่วยธุรกิจย่อยอยู่มากมาย ผลิตสินค้าและบริการสำหรับผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม แต่มีการควบคุมจากส่วนกลางในรูปของการควบคุมทางด้านการเงิน ทำให้อาชีพของวิศวกรและนักบัญชีเติบโตกันอย่างมาก บริษัทอย่าง General Motors หรือ General Electric ก็เติบโตกันอย่างมากในยุคนี้

พอยุคที่สองจะเป็นช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 ที่ในอเมริกาจะเข้าสู่ยุคของการควบรวมกิจการกัน (Merger and Acquisition) อย่างมโหฬาร ในยุคนี้จะเกิดองค์กรในลักษณะที่เราเรียกว่า Conglomerates ขึ้นมากันอย่างมากมาย (เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายเป็นองค์กรย่อยๆ เต็มไปหมด) จริงๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนะครับ เนื่องจากการที่อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ทำให้องค์กรธุรกิจต่างๆ มีแต่แนวโน้มของการขยายตัวให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น แนวคิดพื้นฐานของยุคนี้ก็คือการมีธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายจะช่วยให้การเติบโตของบริษัทเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าอุตสาหกรรมใดผลประกอบการไม่ดีแล้ว ก็ยังมีบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นที่ช่วยถัวเฉลี่ยกันไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรบริษัทใหญ่ก็ยังคงเติบโตได้อย่างดี 

พอยุคที่สามคือในช่วงทศวรรษที่ 80 ธุรกิจในอเมริกาเริ่มกลับมาสู่โลกของความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรุกรานทางธุรกิจของบริษัทจากญี่ปุ่นที่สามารถผลิตสินค้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า คุณภาพที่ดี และรวดเร็วกว่า ในยุคนี้สินค้าจากญี่ปุ่นได้เข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดในประเทศต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้บริษัทต่างๆ ในฝั่งตะวันตกต้องหันกลับมาปรับปรุงตนเองกันเป็นแถว ที่ชัดเจนสุดๆ ก็คือการที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องของคุณภาพ หรือการลดขนาดขององค์กรลง

ยุคที่สี่จะอยู่ประมาณกลางๆ ทศวรรษที่ 90 ที่ธุรกิจเริ่มหันกลับมามองการเติบโตอีกครั้งภายหลังจากอยู่ในช่วงของการมุ่งเน้นประสิทธิภาพในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ และเงินทุนที่มีมากขึ้น ทำให้กลายเป็นยุคของการเปิดธุรกิจใหม่ๆ ที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก จากนั้นก็นำไปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่แท้จริงแล้วบริษัทนั้นแทบจะไม่มีราคาหรือค่างวดอะไรเลย ท่านผู้อ่านอาจจะจำได้นะครับว่าในช่วงนี้บริษัทเกิดใหม่พวกดอทคอม เกิดขึ้นกันเป็นแถว แถมยังสามารถดึงดูดเงินจากนักลงทุนได้อย่างง่ายดาย บางบริษัทมีแต่แค่แผ่นธุรกิจเล่มเดียวก็สามารถหาเงินจากนักลงทุนได้เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าในยุคนั้นถ้าใครอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสามารถขายฝันได้ดีๆ ย่อมสามารถดึงดูดเงินได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็อย่างที่ทราบกันนะครับว่าบริษัทที่สามารถประสบความสำเร็จและอยู่รอดพ้นช่วงดังกล่าวมาได้ก็มีอยู่ไม่กี่บริษัท

เป็นอย่างไรครับสี่ยุคที่ผ่านมาของฝรั่งเขา? จริงๆ แล้วผมก็เชื่อว่าในบางยุคอาจจะเข้ากับลักษณะธุรกิจของเมืองไทยเช่นกัน ไม่ทราบว่าในเมืองไทยมีใครศึกษาหรือทำในเรื่องของ Business History ไว้บ้างไหมนะครับ เผื่อจะได้ลองศึกษาและเปรียบเทียบกับของฝรั่งเขาดู ส่วนในยุคที่ห้า ซึ่งเป็นยุคปัจจุบันนั้นผมคิดว่าเป็นยุคที่ใช้ได้ทั้งกับฝรั่งและเมืองไทยเลยครับ เรามาดูกันนะครับ

ยุคที่ห้าคือยุคปัจจุบัน ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งครับ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ธุรกิจจะต้องหันกลับมามองตนเองอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจ อาทิเช่น ภาวะเรื่องของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่ากระแสความรุนแรงในเรื่องนี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้บริหารสามารถเห็นและจับต้องได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบันมากกว่าในอดีต เรียกได้ง่ายๆ ว่าในปัจจุบันคงจะไม่มีองค์กรธุรกิจไหนที่ไม่ได้รับอิทธิพลหรือกระแสจากปัจจัยนี้ ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ เช่น การเปิดประเทศของจีน ที่ทำให้จีนเป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าราคาถูก และตลาดขนาดใหญ่ หรือ การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบไปทั่วไม่เว้นแม้แต่มหาวิทยาลัยในเมืองไทย 

การบริหารในปัจจุบันผู้บริหารจะต้องหันกลับมามองตัวองค์กรเองมากขึ้นและคงจะต้องถามคำถามที่สำคัญหลายๆ ข้ออาทิเช่น ยังคงมองเห็นโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมเดิมหรือไม่? (มีการพยากรณ์กันไว้ครับว่าในอนาคนยากที่บริษัทใดจะสามารถเติบโตในอุตสหกรรมเดิมด้วยตัวเลขสองหลักอีกต่อไป ก็ต้องลองดูนะครับ) หรือ สินค้าและบริการของท่านเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและไม่มีความแตกต่างหรือไม่? (มองง่ายๆ ครับสินค้าและบริการของท่านเป็นลักษณะ Commoditized มากน้อยเพียงใด?) หรือ องค์กรของท่านเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้วเป็นอย่างไร? (ที่สำคัญคือต้องอย่าลำเอียงนะครับ) หรือ สินค้าและบริการของท่านเป็นอย่างไรในสายตาของลูกค้าปลายทาง? (ที่สำคัญคือจะต้องมองจากลูกค้านะครับไม่ใช่การประเมินภายใน ผมเจอหลายองค์กรชอบคิดเองเออเองครับ) และประการสุดท้ายก็คือคุณค่าและความสามารถของบุคลากรขององค์กรท่านเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง? (เรียกว่าเป็นการประเมิน Talent ครับ) 

ปัจจุบันเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการและผู้บริหารให้องค์กรธุรกิจหันกลับมาเผชิญความจริง (Reality) กันมากขึ้นไม่ใช่อยู่แต่ในความฝันหรือสิ่งที่ต้องการ โดยมีแนวคิดที่ว่าการที่องค์กรจะอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ต้องหันกลับมาอยู่ในโลกแห่งความจริงมากขึ้น ปัจจุบันมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้โดยเฉพาะ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Larry Bossidy และ Ram Charan ซึ่งทั้งคู่เคยเขียนเรื่อง Execution ที่ขายดีระดับโลกกันมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ชื่อ Confronting Reality มีขายในไทยแล้วนะครับ และคาดว่าจะเป็นหนังสือขายดีอีกเล่มหนึ่ง เอาไว้สัปดาห์หน้าผมจะนำเนื้อหาบางตอนจากหนังสือเล่มนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบกันนะครับ