26 November 2004

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอแนวคิดว่าการบริหารการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปอย่างง่ายดายเหมือนที่คิด ทั้งนี้สาเหตุสำคัญอยู่ที่กรอบความคิดของบุคลากรในองค์กรที่ยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ทำมาแล้วและประสบความสำเร็จในอดีต จนทำให้การบริหารการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ องค์กรไม่ประสบผลเท่าที่ควร และในตอนท้ายของสัปดาห์ที่แล้วก็ลงท้ายไว้ด้วยคำถามสามข้อที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง นั้นคือ 1)ทำไมคนถึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ภัยจากภายนอกก็คุกคามให้เห็นแล้ว 2) ทำไมเมื่อคนเราเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ยอมทำอะไรเสียที และ 3) ทำไมเมื่อเราเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงแล้ว ถึงไม่ทำให้เสร็จไปตลอดรอดฝั่ง เราค่อยๆ มาดูกันนะครับว่าจะแก้ไขหรือหาคำตอบจากคำถามทั้งสามข้อข้างต้นได้อย่างไร

ก่อนอื่นเราลองมาดูแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงก่อนนะครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับ แล้วจะพบว่าสาเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีต นั้นคือถ้าในอดีตองค์กรหรือเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จเรื่อยมาแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งมากเข้าไปใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันเราอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน เมื่อท่านทำในสิ่งที่ถูกต้องและดำเนินงานไปเรื่อยๆ วันดีคืนดี สถานการณ์ทางการแข่งอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะไม่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา หรือรัฐบาลอาจจะออกกฎหมายใหม่ๆ หรือ ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป ฯลฯ สิ่งที่ท่านเคยทำมาในอดีตและเป็นสิ่งที่ถูกต้องและนำไปสู่ความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไป (เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น) ทีนี้ปัญหาก็คือเมื่อสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้องหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เรายังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งเดิมๆ เหล่านั้น (แถมในบางองค์กรดื้ออีกต่างหากนะครับ เรียกว่าดื้อตาใสเลย) และสาเหตุสำคัญที่เรายังยึดมั่นอยู่กับวิธีการเดิมๆ นั้นก็หนีไม่พ้นประเด็นที่ว่าวิธีการเดิมๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมาตลอด 

ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ครับ สมมติว่าในตอนเช้าท่านผู้อ่านขับรถจากบ้านไปที่ทำงาน โดยใช้เส้นทางเดิมมาตลอดเกือบสิบปีไม่เคยเปลี่ยนแปลง และเส้นทางนี้ก็เร็ว รถไม่ติด แต่แล้ววันดีคืนดีเขาก็มีการทำถนน ขุดท่อ ต่อสายไป สร้างสะพาน ในเส้นทางที่ท่านเคยผ่านทุกวัน ปฏิกริยาแรกๆ ก็ของท่านก็คือยังคงใช้เส้นทางเดิมอยู่ (ถึงแม้รถจะติดมากขึ้น และใช้เวลามากขึ้น) เนื่องจากท่านยังคิดอยู่ตลอดว่าเส้นทางที่ท่านใช้เป็นเส้นทางที่ทำให้ท่านถึงที่ทำงานเร็วกว่าเส้นทางอื่น ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นเลยครับว่าถึงแม้บริบทหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนไป แต่ท่านก็ไม่เห็นความจำเป็นและความสำคัญที่จะต้องเปลี่ยน โดยเรามักจะยึดติดกับสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต

 ทีนี้สมมติว่าเราเห็นว่าสิ่งที่เราทำมาในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมในสภาวการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วยว่าท่านเริ่มเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว และเราก็เริ่มเห็นถึงวิธีการหรือแนวทางใหม่ๆ ที่ควรจะเป็น แต่ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือถึงแม้เราจะเริ่มในวิธีการและแนวทางใหม่ๆ แล้ว แต่เนื่องจากยังเป็นสิ่งที่ใหม่และยังไม่คุ้นเคย ก็จะทำให้การดำเนินงานในระยะแรกๆ มีปัญหาอยู่ แต่ในที่สุดแล้วเมื่อเรามีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญเกิดขึ้น ก็จะทำให้เราสามารถทำสิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้น 

 ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปที่ตัวอย่างการขับรถมาทำงานในข้างต้นดูก็ได้นะครับ สมมติว่าท่านพบว่าการใช้เส้นทางเดิมไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านก็เริ่มมองหาและทดลองเส้นทางใหม่ๆ ที่จะทำให้ท่านไปถึงที่ทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งในระยะแรกๆ ท่านอาจจะมีความไม่คุ้นชินกับเส้นทางใหม่ ทำให้อาจจะมีการหลงทางหรือเสียเวลาบ้าง แต่ในที่สุดท่านก็จะเกิดความเชี่ยวชาญหรือชำนาญในเส้นทางใหม่ 

หลักการและแนวคิดข้างต้นก็คงจะเป็นแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครับ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านดูดีๆ จะพบว่าเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ได้แปลกใหม่หรือพิสดารประการใด เพียงแต่ปัญหาที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ประสบผลก็คือคำถามสามข้อในตอนต้นครับ นั้นคือ ไม่เห็นความจำเป็น เห็นแต่ไม่เปลี่ยน เปลี่ยนแต่ไม่จบ เราลองมาดูในประเด็นแรกก่อนนะครับว่าทำไมคนถึงมองไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

ถามว่าทำไมการมองเห็นความสำคัญหรือความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็คงจะตอบได้ง่ายๆ ครับว่าถ้าเรามองไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เราก็จะไม่เปลี่ยนแปลง ก็เลยไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมในตำราที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกเล่มถึงเริ่มต้นจากการทำให้ทุกคนในองค์กรรับรู้ถึงความสำคัญ หรือความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง เช่น John Kotter ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านภาวะผู้นำคนหนึ่งของอเมริกาก็จะเริ่มในเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลงจากการสร้างSense of Urgency ให้เกิดขึ้นในองค์กรก่อน แต่ก็ต้องเรียนตรงๆ นะครับว่าการสร้างความจำเป็นหรือความเร่งด่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าพูดง่ายกว่าทำครับ ใครๆ ก็พูดหรือเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาได้ แต่การที่จะทำให้คนในองค์กรเห็นถึงความจำเป็นหรือความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจะไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ

ก็ย้อนกลับมาที่คำถามครับว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรามองไม่เห็นความสำคัญหรือจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง? จริงๆ แล้วความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่มองไม่เห็นนะครับ (บางท่านอาจจะคิดว่าเรามองไม่เห็นเนื่องจากมองเห็นได้ยาก) เนื่องจากความสำคัญหรือจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหรือในบางครั้งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราด้วยซ้ำไป คำถามต่อมาก็คือ ถ้าความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกองอยู่ตรงหน้าเราแล้ว แล้วทำไมเราถึงมองไม่เห็นครับ? 

สาเหตุสำคัญที่เรามองไม่เห็นคงไม่ใช่เพราะเราตาบอดทางสายตานะครับ แต่เป็นเพราะเราตาบอดทางด้านความคิด เนื่องจากในใจเราทุกคนจะมีกรอบความคิด (หรือบางตำราก็เรียกเป็นแผนที่ความคิดหรือ mental map) ที่ติดอยู่ในใจเราและเจ้ากรอบหรือแผนที่ความคิดดังกล่าวก็มักจะถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์หรือความสำเร็จในอดีต และเจ้ากรอบหรือแผนที่ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางในการมองเห็นและประพฤติปฎิบัติของเรา

สัปดาห์นี้ผมขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อว่าเจ้ากรอบหรือแผนที่ความคิดนี้จะทำให้เรามองไม่เห็นความสำคัญหรือจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร