24 July 2004
ในสัปดาห์นี้ก็ยังคงนำเสนอเนื้อหาที่ผมได้ไปพูดที่งานสัมมนาของชินคอร์ปกันต่อนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นในเรื่องของการบริหารกลยุทธ์ในยุคหน้า ที่ผมมองว่าควรจะเป็นการบริหารกลยุทธ์ที่มีความสมดุลระหว่างทั้งการกำหนดแผนงานทิศทางให้ชัดเจน กับความยืดหยุ่นของกลยุทธ์ โดยผมได้เสนอแนวคิดในการบริหารกลยุทธ์ในยุคหน้าไว้ว่าน่าที่จะมีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขออนุญาตเรียกว่าเป็น Strategic Management Cycle (SMC) โดยการบริหารกลยุทธ์ขององค์กรทุกแห่งไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน จะต้องเริ่มต้นจากการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่เป็นทางการขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นถึงจะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ระยะหนึ่งแล้วก็จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบและทบทวนกลยุทธ์ หลังจากนั้นก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทุกอย่างก็ยังควรที่จะอยู่ภายใต้กรอบทิศทางที่ได้มีการกำหนดขึ้นไว้ในตอนแรก (โปรดดูรูปประกอบครับ)
ก่อนที่จะก้าวต่อไปจากเนื้อหาที่ได้นำเสนอในสัปดาห์ที่แล้วผมขออนุญาตย้อนกลับมาในประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งของการกำหนดทิศทางหน่อยนะครับ นั้นคือในเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision Statement) ซึ่งผมเองก็มีความขัดข้องใจมาระยะเวลาหนึ่งกับวิสัยทัศน์ของหลายๆ องค์กร ที่เหมือนกับเขียนขึ้นมาเพื่อให้ดูสวยเก๋ เหมาะที่จะติดไว้ข้างผนังเพื่อโชว์พนักงานหรือลูกค้า แต่วิสัยทัศน์เหล่านั้นกลับไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรแต่อย่างใด ผมเองทั้งถูกสอน ทั้งอ่านหนังสือเจอมาตลอดว่า เวลาเราพูดถึงวิสัยทัศน์ เราจะนึกถึงความฝัน นึกถึงสิ่งที่เราอยากจะเป็น ผมเองได้รับการสั่งสอนมาตลอดเวลาเวลาเขียนวิสัยทัศน์จะต้องทำให้ดูหรู เลิศ อลังการไว้ก่อน คำเก๋ๆ ที่มักจะเจอในวิสัยทัศน์ พวก “เป็นผู้นำในประเทศไทย”หรือ “เป็นที่หนึ่งในภูมิภาค…” หรือ “เป็นองค์กรชั้นนำด้าน….” ฯลฯ เป็นคำที่ดูเหมือนจะอยู่ในวิสัยทัศน์ขององค์กรเกือบทุกแห่ง จนทำให้หลายๆ คนเวลานึกถึงวิสัยทัศน์มักจะนึกถึงแต่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง ผมเคยเจอหน่วยงานแห่งหนึ่งที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เป็นที่หนึ่งในธุรกิจ……” ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าปัจจุบันเขาเป็นที่โหล่ ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบในการเขียนวิสัยทัศน์ขององค์กรแห่งนี้ก็ยอมรับกับผมตรงๆ เลยครับว่า “รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ขอฝันไว้ก่อน” ซึ่งพอฟังผมก็เถียงเขาในใจนะครับ (ไม่กล้าเถียงดังๆ เขาตัวใหญ่กว่าผม) ว่า “ถ้ารู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วฝันไปไกลขนาดนี้จะมีประโยชน์อะไร?” ท่านผู้อ่านลองนึกดูง่ายๆ ก็ได้นะครับว่าเมื่อพนักงานขององค์กรแห่งนี้อ่านวิสัยทัศน์ขององค์กรแล้วจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง? เชื่อว่าคงจะไม่ได้ความรู้สึกที่จูงใจ หรือ คล้อยตามไปกับวิสัยทัศน์นั้นแน่ๆ ครับ
แถมที่ตลกก็คือพอองค์กรจำนวนมากชอบกำหนดวิสัยทัศน์ในลักษณะความฝันอันไกลโพ้นเช่นนี้ทำให้องค์กรหลายๆ แห่งมีวิสัยทัศน์ที่เหมือนกันโดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อประมาณสามปีที่แล้วผมมีโอกาสไปสอนที่องค์กรที่ทำธุรกิจทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมสองแห่งในเวลาใกล้เคียงกัน และเมื่อเดินผ่านอาคารต่างๆ ก็จะเห็นทั้งสององค์กรแปะวิสัยทัศน์ไว้ที่ข้างผนังเหมือนกัน แถมเมื่ออ่านดูแล้ววิสัยทัศน์ของทั้งสององค์กรก็ใกล้เคียงกันมากครับ โดยทั้งสององค์กรมีวิสัยทัศน์ในทำนองว่า “เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้……” ก็รู้สึกขำดีเหมือนกันครับว่าองค์กรสองแห่งมีความฝันเหมือนกันทุกอย่างเลยครับ
ที่เขียนมาข้างต้นก็ไม่ได้บอกว่าทุกองค์กรในประเทศไทยจะมีวิสัยทัศน์ในลักษณะความฝันที่ไม่มีวันบรรลุถึงเหล่านี้ทั้งหมดนะครับ เพียงแต่เท่าที่เห็นก็คือเมื่อองค์กรจำนวนมากเขียนวิสัยทัศน์ไว้สวยหรูเช่นนี้แล้ว มันคงจะยากที่จะกระตุ้นและจูงใจบุคลากรนะครับ (ในเมื่อเขารู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร) อีกทั้งยากต่อการแปลงไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น แนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งที่ผมเริ่มเห็นในปัจจุบันไม่ว่าจากองค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งในประเทศไทย หรือ จากงานวิชาการในต่างประเทศก็คือการปรับเปลี่ยนลักษณะของวิสัยทัศน์ใหม่ ให้มีความชัดเจนและมุ่งเน้นมากขึ้น ไม่ใช่การเขียนวิสัยทัศน์ในเชิงความฝันอันกว้างไกลและสูงสุดอีกต่อไป เราลองมาดูแนวทางที่สำคัญในแนวคิดการกำหนดวิสัยทัศน์ในปัจจุบันกันนะครับ
ประการแรกในการกำหนดวิสัยทัศน์เราจะไม่มองถึงความฝันอันสูงสุดที่ไม่รู้ว่าเมื่อจะบรรลุถึงอีกต่อไปครับ ในอดีตเมื่อเราพูดถึงวิสัยทัศน์เรามักจะคิดถึงสิ่งสูงสุดที่เราอยากจะเป็น (ไม่มีเวลาบอกไว้นะครับอาจจะเป็นชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้) แต่ปัจจุบันในกระบวนการกำหนดวิสัยทัศน์เรามักจะมองถึงสิ่งที่องค์กรอยากจะเป็นในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้ามากกว่าความฝันอันนิรันดร ทั้งนี้อาจจะเป็นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ยากที่จะมองในสิ่งที่ไกลๆ ได้ ประการที่สองวิสัยทัศน์จะต้องสามารถเป็นกรอบหรือแนวทางในการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารได้ วิสัยทัศน์ที่ดีไม่ควรจะมีความเลื่อนลอย แต่จะต้องเป็นหลักให้กับผู้บริหารที่จะใช้อ้างอิงในการตัดสินใจได้ เวลาผู้บริหารเจอการตัดสินใจที่ยากๆ หรือมีทางเลือกหลายทาง ผู้บริหารควรที่จะสามารถมองย้อนกลับไปที่วิสัยทัศน์แล้วถามตัวเองได้ว่า ถ้าเลือกทางเลือกใด ทางเลือกนั้นจะช่วยนำองค์กรไปสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการหรือไม่?
ประการที่สาม วิสัยทัศน์ก็ยังจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความฝันอยู่ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องเป็นฝันที่มีความเป็นไปได้มากหน่อย วิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องเป็นความฝันที่สร้างแรงบันดาลใจ (Inspirational) และก่อให้เกิดความต้องการหรือความทะเยอทะยาน (Aspirational)ให้กับพนักงานได้ ไม่ใช่ว่าพอพนักงานเห็นวิสัยทัศน์ขององค์กรแล้วเกิดความหดหู่ท้อแท้สิ้นหวัง เนื่องจากรู้ว่าต่อให้ทำงานแทบตายก็ไม่มีวันบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ประการที่สี่ ค่อนข้างจะเก๋และขัดกับความเชื่อดั้งเดิมพอสมควรนะครับ แต่แนวโน้มปัจจุบันก็คือวิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องสามารถวัดได้ (Measurable) คำว่าวัดได้ในที่นี้ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งไปนึกถึงการกำหนดตัวชี้วัดของวิสัยทัศน์นะครับ แต่ผมหมายความว่าองค์กรจะต้องสามารถรู้ได้ว่าตนเองสามารถที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ไม่ว่าด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง พอมีเรื่องของการวัดได้ก็มีเรื่องของการบรรลุได้ (Attainable) เข้ามาด้วยครับ เนื่องจากเรากำหนดวิสัยทัศน์ก็เพื่อให้เราไปให้ถึง ดังนั้นผมมองว่าไม่มีประโยชน์เลยครับที่จะไปตั้งวิสัยทัศน์ที่องค์กรไม่มีวันไปถึง และท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่าแนวโน้มใหม่ของการตั้งวิสัยทัศน์คือการมองในช่วง 3 – 5 ปี ดังนั้นเมื่อเราไปถึงวิสัยทัศน์แล้ว วิสัยทัศน์นั้นก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนต่อไปได้ เพื่อนำไปสู่ความฝันที่สูงขึ้นไปอีก
ประการที่ห้า วิสัยทัศน์ในปัจจุบันควรจะต้องมีความมุ่งเน้นในระดับหนึ่ง (Focus) วิสัยทัศน์ไม่ควรที่เขียนในลักษณะของการเหวี่ยงแหนะครับ ว่าอยากจะเป็นทุกอย่างในโลกนี้ แต่ควรจะต้องมีความชัดเจนและมุ่งเน้นในระดับหนึ่ง (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมุ่งเน้นจนทำให้ขาดความยืดหยุ่นนะครับ) เนื่องจากท่านผู้อ่านจะต้องอย่าลืมว่าวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่เราจะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานต่อไป ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่มีลักษณะของการเหวี่ยงแห จะไม่มีประโยชน์และไม่ช่วยให้กำหนดแผนงานที่ชัดเจนได้ครับ ประการที่หกและประเด็นสุดท้ายก็คือ วิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องสามารถสื่อสารและทำให้พนักงานรวมทั้งบุคคลภายนอกสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ท่านผู้อ่านอยากจะรู้ว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรท่านสามารถสื่อสารได้ง่ายดายและชัดเจนหรือไม่ ลองพยายามสื่อสารและอธิบายวิสัยทัศน์ขององค์กรท่านให้ผู้อื่นนะครับ แล้วดูว่าภายในเวลาไม่เกินห้านาที ผู้อื่นสามารถเข้าใจในวิสัยทัศน์ของท่านหรือไม่?
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ก็เลยเป็นเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ไปเลยนะครับ สัญญาว่าในสัปดาห์หน้าจะมาต่อจากที่ค้างไว้ในสัปดาห์ที่แล้วครับ ในเรื่องของ Strategic Management Cycle