17 October 2004
เพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งมาครับน่าสนใจที่เดียว หนังสือเล่มนี้ชื่อ Confidence: How Winning Streaks and Losing Streaks Begin and End เขียนขึ้นโดย Rosabeth Moss Kanter ซึ่งเป็นกูรูทางด้านการจัดการชื่อดังคนหนึ่งของโลก โดยในหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอถึงความมั่นใจของผู้บริหารกับความสำเร็จขององค์กรครับ แต่เจ้าความมั่นใจนั้นไม่ใช่เพียงแค่มีความมั่นใจในตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีความมั่นใจในผู้อื่น โดยเฉพาะทีมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เนื่องจากองค์กรไม่สามารถพึ่งผู้นำได้เพียงคนเดียวในทุกสถานการณ์ ผู้นำจะต้องมีความเชื่อมั่นในผู้อื่น และจากความเชื่อมั่นในผู้อื่นรอบๆ ตัวผู้นำนี่เองที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันถ้าผู้นำมั่นใจอยู่เพียงผู้เดียวและมัวแต่คิดว่าคนอื่นรอบๆ ตัวนั้นไม่มีความสามารถและไม่ให้ความเชื่อถือในผู้ที่อยู่รอบตัวแล้ว ก็ย่อมจะพาองค์กรสู่ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ศึกษาในองค์กรชนิดต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์กรธุรกิจและทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จและชัยชนะบ่อยๆ สิ่งที่ผู้เขียนเขาพบก็คือ ในองค์กรหรือทีมที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องนั้นจำนวนผู้นำจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการประสบความสำเร็จเรื่อยๆ ย่อมจะทำให้บุคลากรในระดับต่างๆ เกิดลักษณะของความเป็นผู้นำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แล้วท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าการมีผู้นำในทุกระดับย่อมดีกว่าจะต้องพึ่งพิงผู้นำสูงสุดอยู่เพียงคนเดียว อาจจะสรุปได้ว่าในองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องนั้นผู้นำเป็นพหูพจน์ (มีหลายคน)
หรือแม้ในระดับสูงสุด สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พบในองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องก็คือ ผู้นำมักจะไม่มาเดี่ยว นั่นคืออาจจะมาเป็นคู่ เป็นสาม หรือเป็นสี่ ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะมีเพียงคนเดียวที่มีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่ง แต่การทำงานนั้นก็จะไม่ใช่ลักษณะของความเป็นหัวเดียวกระเทียมลีบ อาจจะกล่าวได้เลยครับว่ายิ่งผู้นำสูงสุดสามารถที่จะโคลนหรือสร้างตัวตายตัวแทนของตนเองมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากขึ้นเท่านั้น การโคลนผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้บุคลิกภาพ ท่าทาง หรือการแต่งตัวออกมาคล้ายกันนะครับ แต่เป็นกระบวนการในการสร้างผู้นำขึ้นมาให้เกิดขึ้นภายในองค์กรในทุกระดับ ซึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องนั้นผู้นำไม่จำเป็นจะต้องมีอำนาจ หน้าที่ ในสายงานที่ชัดเจนก็ได้ ผู้นำในองค์กรเหล่านี้อาจจะโผล่มาจากระดับไหนก็ได้ ในขณะเดียวกันผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังพบว่าในองค์กรที่ประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง (เขาใช้คำว่า Losing Streaks ครับ) มักจะเป็นองค์กรที่ผู้นำมีลักษณะกึ่งๆ เผด็จการ และหวงอำนาจไว้กับตัวเองสรุปได้ว่ายิ่งผู้นำสูงสุด (คือผู้นำที่แท้จริง มีอำนาจหน้าที่สูงสุดขององค์กร) สามารถโคลนตัวเองออกมาได้มากเท่าได้ ตัวผู้นำสูงสุดเองนั่นแหละครับที่จะโดดเด่นออกมาและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญในการสร้างผู้นำให้เกิดขึ้นในทุกระดับชั้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขามีคำตอบที่ชัดเจนเลยครับว่า คือความมั่นใจในผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเรามีความมั่นใจซึ่งกันและกันแล้ว เราก็จะมีความเชื่อใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ตามที่ดี แต่ถ้าขาดความมั่นใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะเกิดการสงสัยหรือไม่ไว้ใจต่องานที่ทำ จะต้องมีการตรวจสอบหรือเช็คอีกครั้ง หรือในหลายๆ กรณีทำงานซ้ำอีกรอบหนึ่ง (ท่านผู้อ่านลองนึกถึงตัวเองซิครับ ว่าเวลาไม่มั่นใจในงานที่ผู้อื่นทำให้แล้ว เราจะต้องมีการตรวจสอบอีกรอบเสมอ) การที่มีความมั่นใจกันนั้นทำให้ ทุกคนพร้อมที่จะทำงานและแก้ไขในปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ต้องกลัวความอับอายหรือการลงโทษที่จะเกิดขึ้นถ้าผิดพลาด เนื่องจากได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่ และยิ่งในทีมงานเดียวกันมีความมั่นใจซึ่งกันและกันแล้ว ก็ย่อมทำให้ทุกคนพร้อมที่จะพึ่งพาเพื่อนร่วมทีมได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเมื่อเรามีความมั่นใจให้แก่กันแล้ว งานต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้มากขึ้น นวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ก็จะเกิด และงานก็จะสำเร็จ
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่า ในการสร้างผู้นำให้เกิดขึ้นในองค์กรในทุกระดับ ผู้นำสูงสุดเองจะต้องมีความไว้วางใจในตัวผู้อื่น ความมั่นใจ การสนับสนุนผู้อื่น ถือเป็นแก่นที่สำคัญในการสร้างผู้นำใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร แต่ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็อาจจะเถียงในใจนะครับว่าการพูด การเขียนเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ที่การทำให้เกิดขึ้นจริงต่างหาก ผู้นำหลายๆ ท่านที่ผมเจอเขาก็อยากที่จะไว้ใจคนรอบข้าง แต่พอลองให้ความมั่นใจกับคนรอบข้างไปแล้ว กลับทำให้งานล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ดังนั้นในการที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีระบบที่เกื้อหนุนพอสมควรครับ
เริ่มจากประการแรกก่อนเลยคือ Individual and systems accountability ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะแปลว่าอย่างไร เลยขอไม่แปลแล้วกันครับ แต่ถ้าให้ง่ายๆ ก็คือ สัญญาต้องเป็นสัญญา ทั้งนี้เนื่องจากความมั่นใจระหว่างกันจะถูกสร้างขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง รวมทั้งจะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานให้สำเร็จตามที่ได้ตกลงหรือสัญญากันไว้
ประการที่สอง ผู้นำสูงสุดจะต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดอก (ภาษาอังกฤษเขาเพราะกว่านี้ครับ นั่นคือ Fostering straight talk) โดยการพูดคุยนี้จะต้องไม่มีความพยายามที่จะปิดบังข้อมูล หรือการพูดบิดเบือนเพื่อรักษาหน้าของตนเอง ผู้นำสูงสุดจะต้องสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ไม่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเสียหน้า หรือหน้าแตก (Humiliation-free zones) เพราะถ้าไม่สร้างบรรยากาศในลักษณะดังกล่าวให้เกิดขึ้นมา ทุกคนก็ต้องพูดหรือนำเสนอสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่รักษาหน้าของตนเองไว้ การพูดในลักษณะนี้จะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและชัดเจน มีข้อมูลมาสนับสนุนที่เพียงพอ
ประการที่สาม ก็คือผู้นำสูงสุดจะต้องสื่อสารหรือแจ้งให้ผู้อื่นทราบถึงความคาดหวังอย่างชัดเจน และในหลายๆ องค์กรจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและซ้ำไปซ้ำมาด้วย เนื่องจากบางครั้งพูดไปครั้งเดียวแล้วก็ไม่ค่อยซึมซับกันเท่าใด สิ่งที่จะต้องสื่อสารนั้นครอบคลุมตั้งแต่มาตรฐานการทำงาน เป้าหมายที่อยากที่จะบรรลุ งานที่จำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะต้องทำ ในขณะที่สมาชิกในทีมจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ผู้นำสูงสุดเองก็จะต้องรับผิดชอบในอันที่จะเตรียมพร้อมสมาชิกอื่นๆ ให้อยู่ในสถานะที่จะสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ นั่นคือผู้นำจะต้องเตรียมพร้อมในทุกๆ อย่างเพื่อให้สมาชิกผู้อื่นประสบความสำเร็จ สมาชิกจะต้องมั่นใจว่าผู้นำไม่ได้ส่งตัวเองไปถูกฆ่า
ประการสุดท้ายก็คือเรื่องของข้อมูลที่จะต้องโปร่งใสและเข้าถึงได้อย่าง่ายดาย ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะทำให้สามารถติดตามการทำงานของทั้งตนเองและผู้อื่นในอยู่ในระดับมาตรฐานที่สูง
สัปดาห์นี้ก็นำเนื้อหาอย่างคร่าวๆ จากหนังสือเรื่อง Confidence มาเสนอท่านผู้อ่านนะครับ เท่าที่อ่านดู หลายๆ ส่วนก็เข้าท่าและสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ ถ้าสนใจฉบับเต็มที่เอเซียบุคส์เขามีขายครับ