18 November 2004

ช่วงนี้เราจะได้ยินในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกันมากนะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมก็เขียนเรื่องที่ทางภาคราชการเขากำลังพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหน่วยราชการต่างๆ โดยการให้หน่วยราชการจัดทำ Blueprint for Change ขึ้นมา ผมมักจะได้ยินผู้บริหารระดับสูงหลายๆ ท่านเมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ต่างมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กรของตนเองให้ดียิ่งขึ้น บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกจำนวนมากก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) รวมทั้งมีหนังสือและผลงานวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับผู้นำและการเปลี่ยนแปลงออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาเหมือนเดิมที่เจออยู่ตลอดก็คือความตั้งใจและความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนที่ตั้งใจไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความพยายามในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กรไม่ประสบความสำเร็จ

ถ้าเราย้อนกลับไปดูคุณลักษณะหรือสมรรถนะที่องค์กรส่วนใหญ่กำหนดในตัวผู้บริหารของเขา เราจะพบว่าความสามารถในการชี้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำยุคใหม่ แต่ปัญหาที่พบในเชิงลึกก็คือเจ้าคุณลักษณะในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนั้นกลับไม่ค่อยได้พบเจอในผู้บริหารระดับสูงเท่าที่ต้องการเท่าใด เราคงจะต้องยอมรับกันนะครับว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ปราชญ์ทางด้านการจัดการในยุคโบราณ (Niccolo Machiavelli) เคยเขียนไว้ครับว่า “ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ยากที่จะประสบความสำเร็จเท่ากับความพยายามที่จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงใหม่ และคนเรามักจะไม่ยอมรับต่อสิ่งใหม่ๆ จนกว่าเราจะมีประสบการณ์หรือสัมผัสกับสิ่งนั้น”

ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงในองค์กรหลายแห่ง ตัวเองก็พยายามที่จะพัฒนาระบบต่างๆ ที่เหมาะสม หรือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ กระบวนการในการทำงานในองค์กร เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแบบที่ผู้บริหารรสูงสุดต้องการ นอกจากนี้ก็เปิดตำราทางด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ต่อหลายเล่ม รวมทั้งขอคำปรึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทางการจัดการหลายแห่ง แต่ก็พบว่าการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและไม่ง่ายเหมือนกับที่อ่านที่เคยฟังมา จนกระทั่งไปอ่านบทความวิจัยหนึ่งที่เขาระบุเลยครับว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการสร้างระบบ หรือเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรประกอบต่างๆ ภายในองค์กรแบบที่เคยเข้าใจครับ แต่จะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของคนในองค์กรก่อนครับ ถ้าบุคลากรในองค์กรยังยึดมั่นและถือมั่นในกรอบความคิดเดิมๆ ต่อให้เราเอาระบบที่ดีที่สุดในโลก หรือ จ้างที่ปรึกษาที่ดีที่สุดในโลกก็จะไม่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามที่เราต้องการได้ ท่านผู้อ่านอาจจะต้องคิดไปเลยครับว่าโดยธรรมชาติแล้วคนเราถูกสร้างมาให้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเพื่อความอยู่รอดของเรา เรามักจะยึดติดกับสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต

ท่านผู้อ่านลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้ครับว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างเริ่มต้นจากความคิดต่างๆ ภายในหัวของคนเราทั้งนั้นครับ ในการทำงานของเรา เจ้ากรอบความคิดที่อยู่ในหัวเราจะเป็นตัวที่กำหนดแนวทางในการประพฤติและปฎิบัติของบุคคลในองค์กร ในบางองค์กรถ้าในองค์กรของท่านพนักงานและผู้บริหารทุกระดับไม่กล้าและไม่อยากจะแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่ขัดแย้งกับผู้บริหารสูงสุด ก็เกิดขึ้นเนื่องจากทุกคนในองค์กรนั้นมีกรอบความคิดอยู่ในใจมาตลอดว่าถ้าเสนอความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับเจ้านายเมื่อใดจะถูกดุเมื่อนั้น แต่ในบางองค์กรที่ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับเจ้านาย ก็เกิดขึ้นเนื่องจากกรอบแนวคิดที่อยู่ในใจของทุกคนว่าเจ้านายเปิดโอกาสและชอบที่จะให้ผู้อื่นท้าทายความคิดตนเอง

ดังนั้นเมื่อกรอบความคิดในหัวคนเรามีความสำคัญมากขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่จะประสบความสำเร็จได้ก็จะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดที่อยู่ในหัวของบุคลากรในองค์กรก่อน ถ้ากรอบความคิดของคนเรายังเป็นเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อให้ผู้บริหารพยายามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นในองค์กร ก็ยากที่จะสำเร็จได้ครับ เราจะต้องระลึกไว้เสมอนะครับว่าเจ้ากรอบความคิดที่อยู่ในหัวเรานั้นเป็นสิ่งที่กำหนดวิธีการหรือความคิดที่เรามองสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของเรา และเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั่นผู้ที่ต้องการที่จะนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรคงจะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงกรอบแนวคิดของคนในองค์กรก่อนนะครับ (พูดง่ายแต่ทำยากครับ) ซึ่งการที่จะเปลี่ยนกรอบแนวคิดในหัวของคนเราได้ เรามาดูคำถามง่ายๆ สามคำถามนี้ก่อนนะครับ แล้วคิดว่าน่าจะทำให้เราเข้าใจสาเหตุและแนวทางในการเปลี่ยนกรอบแนวคิดในหัวเราได้ชัดเจนขึ้น

1) ทำไมในหลายๆ สถานการณ์ที่เรามองเห็นโอกาสและอุปสรรคต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างชัดเจน แต่เรายังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง? ประเด็นนี้เราเจอบ่อยกันมากครับ นั้นคือทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าปัจจัยภายนอกจะส่งผลกระทบต่อองค์กรเราอย่างไรในอนาคต แต่เราก็มักจะมองไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

2) ในหลายๆ ครั้งถึงแม้เราจะมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ทำไมเรายังอยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไร หรือไม่เปลี่ยนแปลงเสียที? เหตุการณ์นี้ก็เจอบ่อยครับ รู้ทั้งรู้อยู่ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ยอมขยับหรือทำอะไรซักกะที

3) ในหลายๆ สถานการณ์ที่มีการขยับหรือการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ทำไมเมื่อองค์กรพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว กลับไม่ทำให้จบหรือทำให้ตลอดรอดฝั่ง? อาจจะมองได้ว่าทำครึ่งๆ กลางๆ หรือทำแบบไม่เห็นผล

ฝากท่านผู้อ่านไปลองคิดดูนะครับในสามคำถามข้างต้น แล้วท่านผู้อ่านจะเจอตัวอย่างในชีวิตประจำวันของเราอย่างมากมายเลยครับว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ต้องการ ก็มักจะมาจากกรอบความคิดที่อยู่ในหัวของคนเรา และเป็นกรอบความคิดที่นำไปสู่คำถามสามคำถามข้างต้นด้วยครับ