29 April 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเริ่มต้นในเรื่องของ Talent Management ไว้ทั้งในด้านของหลักการ และแนวคิดเบื้องต้นของ Talent Management โดยจบไว้ที่แนวทางเบื้องต้นในการแสวงหาหรือระบุผู้ที่เป็น Talent ขององค์กรขึ้นมา สัปดาห์นี้เรามาต่อกันนะครับว่าหลังจากที่เราสามารถเสาะแสวงหาผู้ที่เป็น Talent ที่สำคัญขององค์กรแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราจะมาดูว่าเราจะบริหารกลุ่มคนที่เป็น Talent เหล่านั้นได้อย่างไร ขออนุญาตทบทวนความจำท่านผู้อ่านนะครับในเรื่องของ Talent Management ที่ในปัจจุบันเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากขึ้น จริงๆ แล้วหลักการของ Talent Management ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่หรอกนะครับ แนวคิดก็เป็นในเรื่องของการแสวงหา ดูแล และรักษา ทรัพยากรบุคคลที่มีค่าขององค์กร เพียงแต่ทรัพยากรบุคคลที่มีค่าเหล่านั้นเราเรียกว่าเป็น Talent แทน และในขณะเดียวกันนั้นบุคคลที่เป็น Talent อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นก็ได้ แต่อาจจะเป็นผู้ที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ภายในก็เป็นได้ ความสำคัญของ Talent Management มีแนวโน้มและความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การแย่งชิงตัวบุคลากรที่มีค่าระหว่างองค์กรมีเพิ่มมากขึ้นนะครับ
สัปดาห์ที่แล้วเราเริ่มต้นจากการแสวงหาผู้ที่เป็น Talent โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งผมอยากจะขอฝากเพิ่มเติมไว้ว่าจะต้องระวังและให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือในการคัดเลือกผู้ที่เป็น Talent เหมือนกัน เนื่องจากปัญหาอีกประการหนึ่งที่มักพบในเรื่องของ Talent Management คือการใช้เครื่องมือหรือวิธีการเพียงแค่อย่างเดียวในการแสวงหาและระบุผู้ที่เป็นTalent ขององค์กร ซึ่งในหลายๆ ครั้งจะทำให้ไม่ได้ผู้ที่เป็น Talent อย่างแท้จริง อาจจะได้เป็น Talent ปลอมก็ได้ เช่นถ้าท่านยึดมั่นแต่ผลการประเมินการทำงานของพนักงานก็อาจจะทำให้ได้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของพนักงาน วิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแสวงหา Talent นั้นจะต้องใช้วิธีการที่หลากหลายในการทดสอบและประเมินผู้ที่จะเป็น Talent ขององค์กรท่าน และในขณะเดียวกันท่านจะต้องมีการทบทวนและประเมินวิธีการในการคัดเลือก Talent อย่างสม่ำเสมอ ไม่อาจจะที่จะยึดมั่นอยู่ในวิธีการที่ใช้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน
เรามาดูต่อนะครับว่าหลังจากแสวงหาและระบุผู้ที่เป็น Talent ได้แล้ว จะต้องมีการบริหารบุคคลเหล่านี้ต่อ การที่จะสามารถบริหารคนเหล่านี้ให้ได้ผลจะต้องอาศัยทรัพยากร ความมุ่งมั่น และต่อเนื่อง แรกสุดเราจะต้องแบ่งกลุ่มผู้ที่เป็น Talent ออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่จะมีการแบ่งกลุ่มผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น Talent เป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
- กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่มีศักยภาพที่จะก้าวไปเป็นกรรมการบริษัทต่อไปในอนาคต
- กลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็น Top 10% ของผู้บริหารในทุกกลุ่ม
- กลุ่มที่เรียกว่าเป็น High Fliers ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ชอบ อยากและต้องการที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็นผู้บริหารระดับสูงอย่างรวดเร็ว
- กลุ่มวิชาชีพที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ๆ เช่น พวกที่เพิ่งจบ MBAs หรือนักกฎหมาย หรือนักบัญชี
- กลุ่มผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น Top Performers ในแต่ละด้าน เช่น จากฝ่ายขาย หรือ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
เมื่อแบ่งพนักงานที่จะเป็น Talent ออกเป็นกลุ่มๆ ได้แล้ว ก็จะต้องมีการพัฒนาบุคคลเหล่านั้น โดยการที่จะพัฒนา กลุ่มที่เป็น Talent ในแต่ละกลุ่มได้นั้น จะต้องมีการให้ความสำคัญและพิจารณาในประเด็นต่างๆ หลายประการด้วยกัน ได้แก่
- การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าผู้บริหารระดับสูงให้การสนับสนุนแล้ว ย่อมที่จะมั่นใจได้ว่าความต้องการของกลุ่มที่เป็น Talent จะได้รับการตอบสนองจากองค์กร และในขณะเดียวกันทรัพยากรต่างๆ ขององค์กรก็จะมีอย่างพร้อมเพรียงในการสนับสนุนและพัฒนา Talent ขององค์กร
- มีโครงการหรือหลักสูตรในการพัฒนาผู้ที่เป็น Talent สามารถที่จะเลือกได้ โดยควรจะต้องเป็นหลักสูตรทั้งภายในและภายนอกองค์กร ความหลากหลายของหลักสูตรก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ และหลักสูตรเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นหลักสูตรทางด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว หลักสูตรการพัฒนาตนเอง หรือหลักสูตรการพัฒนาผู้นำก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน
- องค์กรควรที่จะจัดทั้งเวลาและสถานที่เพื่อให้กลุ่มที่เป็น Talent เหล่านี้ได้มีโอกาสในการพัฒนาพบปะ เจอ และแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันในกันในเรื่องต่างๆ ซึ่งควรที่จะเป็นการพบปะกันระหว่างบุคลากรในแต่ละสายงานมากกว่าภายใต้สายงานเดียวกัน
- สุดท้ายแผนการในการพัฒนาผู้ที่เป็น Talent จะต้องมีอย่างละเอียด และชัดเจน ทั้งในด้านของวัตถุประสงค์ ระยะเวลาของความสำเร็จ ซึ่งแผนตัวนี้จะอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของ Talent Management ก็คือเพื่อให้การพัฒนา Talent มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการขององค์กร ทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร ควรจะต้องได้รับการทบทวนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และถ้าผลจากการทบทวนพบว่ากลยุทธ์ขององค์กรมีการเปลี่ยนแปลง ผลที่ได้รับก็ควรที่จะนำเข้ามาใช้ในการปรับปรุงการพัฒนา Talent ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้พวกที่เป็น Talent ได้รับการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่อาจจะไม่ตรงกับความต้องการและทิศทางขององค์กร นอกจากนี้ปัญหาที่พบประการหนึ่งของโครงการ Talent Management ในหลายๆ องค์กร ก็คือการขาดการมองไปในอนาคตด้วยสายตาที่กว้างไกลพอ ผู้บริหารในหลายๆ องค์กรพอเริ่มนำหลักของ Talent Management มาใช้ได้ซักระยะหนึ่งก็มักจะละเลยต่อภาพระยะยาวขององค์กร และหันมาให้ความสนใจต่อความต้องการในระยะสั้นมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากงานหรือปัญหาที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้าก็มีอยู่เยอะพอสมควร ดังนั้นแทนที่จะให้โอกาสผู้ที่เป็น Talent ได้พัฒนาตนเองตามที่สมควร ก็จะต้องนำบุคคลที่เป็น Talent เหล่านั้นมาทำงานเฉพาะหน้าให้เสร็จสิ้นเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรับผิดชอบเฉพาะหน้าต่อลูกค้ามีเข้ามา ก็จะทำให้เกิดความละเลยหรือไม่สนใจที่จะพัฒนากลุ่มบุคคลที่เป็น Talent อย่างต่อเนื่อง ผลเสียขั้นต่ำก็คือขาดการพัฒนา แต่ผลเสียที่ร้ายแรงก็คือ Talent เหล่านั้นจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าหรือความสำคัญต่อองค์กร และจะไม่ทนอยู่ในองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับตนเอง ท่านผู้บริหารจะต้องระลึกว่าเสมอนะครับว่าถ้าท่านคิดจะนำหลักของ Talent Management มาใช้อย่างจริงจังแล้ว จะต้องมองภาพไปในอนาคตพอสมควร เนื่องจากถ้ามุ่งเน้นแต่ปัญหาระยะสั้น ก็จะทำให้อนาคตขององค์กรมีปัญหาถ้าไม่ได้มีการบริหารบรรดา Talent ที่ดีเพียงพอ วิธีการที่คิดว่าดีและเหมาะสมที่สุดก็คือสร้างความเชื่อมโยงและสอดคล้องระหว่างโครงการทางด้าน Talent Management กับกลยุทธ์ระยะยาวขององค์กร
คิดว่าน่าจะสรุปได้ถึงความสำคัญและความจำเป็นของ Talent Management ซึ่งถึงตรงนี้เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นตรงกันว่า Talent Management ไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของผู้บริหารทางด้านทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่ควรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูงทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารจะต้องมีทัศนคติและมุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญกับ Talent ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก จะพบว่าในองค์กรเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างกลุ่มบุคคลที่เป็น Talent ขึ้นมาในองค์กร ผู้บริหารเหล่านี้จะมีความเชื่ออย่างมุ่งมั่นว่าการมี Talent ภายในองค์กร จะช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุทิศทางที่ต้องการได้
นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและทัศนคติที่ดีในเรื่องของ Talent แล้ว องค์กรยังจะต้องนำเสนอคุณค่าที่พนักงานที่เป็น Talent ต้องการ โดยปกติองค์กรจะพัฒนาและนำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้าขององค์กรอยู่แล้ว แต่ใน Talent Management นั้น องค์กรก็ต้องแสวงหาและพัฒนาคุณค่า (Value Proposition) ที่จะนำเสนอให้กับบุคคลที่เป็น Talent ว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรนำเสนอให้ เพื่อที่จะสามารถดึงดูดให้บุคคลที่เป็น Talent จะเข้ามาและอยู่กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารจะต้องหาให้พบว่าอะไรคือสิ่งที่บุคคลที่เป็น Talent ต้องการ และนำเสนอคุณค่าเหล่านั้นให้กับบุคคลเหล่านี้ ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าถ้าเรานำหลักของ Talent มาใช้แล้วจะเป็นการโอ๋บุคลากรของเราเกินไปหรือเปล่า ผมเองคิดว่ามันควรที่จะมีระดับที่เหมาะสมนะครับไม่มากไป แต่ก็ไม่น้อยไป เนื่องจากท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่าทรัพยากรบุคคลที่มีค่าถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร