11 March 2004
ผมได้มีโอกาสเจอผู้นำในหลายๆ องค์กรและก็พบว่าผู้นำในแต่ละองค์กรมีลักษณะที่แตกต่างกันพอสมควร ผู้นำประเภทหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือผู้นำที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงตัวผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้นำเหล่านี้จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับผู้นำแบบเดิมที่มุ่งเน้นแต่การบังคับบัญชาและสั่งการ พอดีได้ไปอ่านเจอบทความเกี่ยวกับผู้นำลักษณะหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า Servant Leadership ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้วก็พบว่าน่าสนใจและตรงกับคุณลักษณะของผู้นำที่ผมชื่นชมพอดี
ตอนแรกที่เห็นคำว่า Servant Leadership ก็จะนึกถึงผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ (Servant ในภาษาอังกฤษพอแปลเป็นไทยก็ผู้รับใช้ ลูกจ้าง) แต่พออ่านละเอียดลึกๆ ลงไปพบว่า Servant Leadership ไม่ได้หมายถึงผู้นำที่เป็นผู้รับใช้เท่านั้น แต่เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทุกคนในองค์กร จริงๆ แล้วคำว่า Servant Leadership ไม่ได้เป็นคำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แนวคิดนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Robert Greenleaf ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ AT&T โดย Robert Greenleaf ได้เขียนหนังสือชื่อ Servant as Leader ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ซึ่งดูเหมือนว่าแนวคิดเกี่ยวกับ Servant Leadership จะยังคงอยู่และท้าทายกาลเวลามาพอสมควรนะครับ
หลักการสำคัญของ Servant Leadership จะต้องเริ่มต้นจากตัวผู้นำก่อน โดยผู้นำที่จะมีลักษณะเป็น Servant Leader ได้จะต้องเป็นคนที่มีความรู้สึก หรือความอยากที่จะสนับสนุน พัฒนา ตอบสนอง บริการ หรือช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ก่อนแล้ว (ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Serve ครับ ไม่รู้จะแปลตรงๆ ได้อย่างไร) แล้วจากความรู้สึกหรือต้องการที่มีอยู่ภายในดังกล่าวก็จะเป็นตัวผลักดันให้บุคคลผู้นำก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กร เพื่อที่จะได้นำความรู้สึกหรือต้องการดังกล่าวไปปฏิบัติให้เห็นผลจริง ท่านผู้อ่านอาจจะคิดนะครับว่าจะหาผู้นำแบบนี้ได้จากไหน ซึ่งๆ จริงๆ แล้วผมเชื่อว่ายังพอจะหาอยู่ได้ ผมได้เจอผู้นำหลายท่านที่มีเจตนารมณ์ที่จะรับใช้องค์กรหรือสถาบันของตนเอง ถึงได้ยอมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กร บางคนอยู่ดีๆ ก็สบายอยู่แล้วไม่เห็นต้องเหนื่อยยากแต่ยอมที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำเนื่องจากมีเจตนาต้องการที่จะรับใช้องค์กรของตนเอง ท่านผู้อ่านอย่านำแนวคิดเรื่อง Servant Leadership ไปปนกับนักการเมืองบางท่านนะครับที่เวลาหาเสียงมักจะเอาความต้องการที่จะรับใช้ประชาชนขึ้นมาบังหน้า แต่พอได้รับเลือกแล้วกลับไปทำตามที่พูด ผู้ที่เป็น Servant Leader เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแล้วก็ยังคงมีความต้องการที่จะรับใช้หรือตอบสนองต่อบุคคลอื่นในองค์กรอยู่เช่นเดิม แล้วก็มักจะปฏิบัติตามความตั้งใจเดิมอยู่แล้วด้วย
Servant Leader จะแตกต่างจากผู้ประเภทอื่นๆ ในลักษณะที่ว่าผู้นำโดยทั่วไปก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเพราะเกิดขึ้นจากความต้องการภายใน ไม่ว่าความต้องการอำนาจ ตำแหน่ง เกียรติ หรือทรัพย์สินเงินทอง ผู้นำเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไม่ใช่เพราะต้องการรับใช้หรือตอบสนองต่อบุคลากรอื่นๆ ในองค์กร แต่ผู้นำเหล่านี้อาจจะมีความต้องการที่จะรับใช้ผู้อื่นเกิดขึ้นภายหลังจากที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแล้ว ผู้นำในลักษณะนี้เราจะไม่เรียกเป็น Servant Leader หรอกนะครับ เพราะผู้ที่เป็น Servant Leader จะต้องเกิดความต้องการในการที่จะรับใช้ก่อนเป็นสิ่งแรก หลักการของ Servant Leadership เป็นการเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ยึดติดกันมาในอดีตเหมือนกันนะครับ เนื่องจากในอดีตเรามักจะมองผู้นำขององค์กรในลักษณะ “ข้ามาคนเดียว” แต่ผู้นำที่เป็น Servant Leadership จะเป็นผู้นำที่มุ่งเน้นในเรื่องของการทำความเข้าใจในวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งองค์กร ความสามารถในการบริหารตนเองของบุคลากร การพึ่งพาและทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ การเรียนรู้จากความผิดพลาด
ถึงแม้แนวคิดของ Servant Leadership จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าความตื่นตัวในแนวคิดของ Servant Leadership จะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากหนังสือ บทความต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิดของ Servant Leadership กันมากขึ้น องค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดของอเมริกา (จากการจัดลำดับของวารสาร Fortune)ได้มีการนำเอาแนวคิดของ Servant Leadership ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือแม้กระทั่งการนำแนวคิดดังกล่าวไปผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร จริงๆ แล้วเราอาจจะพบว่าคุณลักษณะของความเป็น Servant Leadership ได้ถูกแฝงอยู่ในคุณลักษณะและบุคลิกภาพของแต่ละคนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีคุณลักษณะของ Servant Leadership ก็สามารถที่จะได้รับการเรียนรู้และฝึกหัดได้ แนวคิดของ Servant Leadership ให้ความหวังให้กับองค์กรต่างๆ ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าและคิดคำนึงถึงผู้อ่านมากขึ้น
ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่าคุณลักษณะของ Servant Leadership ควรจะมีอย่างไรบ้าง? เรามาลองดูกันนะครับ ได้มีคนสรุปคุณลักษณะที่สำคัญแปดประการของ Servant Leadership ไว้ดังนี้
- Listening หรือการฟัง เนื่องจากในอดีตเวลาเราพูดถึงทักษะที่ผู้นำควรจะต้องมีเรามักจะให้ความสำคัญกับทักษะในการสื่อสาร ส่งข้อความ และการตัดสินใจ แต่สำหรับผู้ที่เป็น Servant Leadership นั้นนอกเหนือจากทักษะดังกล่าวข้างต้น ผู้นำเหล่านี้ยังจะต้องมีความสามารถในการฟังอย่างดีและตั้งใจต่อผู้อื่น ผู้ที่เป็น Servant Leader จะต้องสามารถรับรู้ต่อความต้องการของแต่ละบุคคลหรือของกลุ่ม เพื่อที่จะได้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างแท้จริง
- Empathy หรือการมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น ผู้ที่เป็น Servant Leader จะต้องสามารถทำความเข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากบุคลากรแต่ละคนในองค์กรต้องการที่จะได้รับการยอมรับต่อความรู้ ความสามารถของตนเอง ผู้นำเหล่านี้จะต้องทำความเข้าใจต่อความตั้งใจจริงของผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน และยอมรับทั้งในความเป็นคน ความรู้ ความสามารถของบุคลากรแต่ละคน
- Healing คำนี้ผมไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่าจะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร แต่ก็คงจะแปลได้ว่าเป็นการรักษาให้หายจากสิ่งที่เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะพบในองค์กรทั่วๆ ไปว่ามีบุคลากรจำนวนมากที่อาจจะมีความรู้สึกที่เสียกำลังใจ ท้อแท้ จากปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ Servant Leader มักจะเป็นผู้ที่เข้าไปช่วยรักษาบาดแผลทางจิตใจหรือกำลังใจของบุคลากรต่างๆ
- Awareness หรือความตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เราเรียกว่า Self-Awareness หรือการตระหนักถึงตนเอง ทั้งในด้านเกี่ยวกับค่านิยม อำนาจ หลักศีลธรรม การตระหนักถึงตนเองนั้น ทำให้ผู้นำสามารถที่จะมองสถานการณ์ต่างๆ ได้ในภาพรวมและอย่างชัดเจนขึ้น
- Persuasion หรือคงจะแปลได้ง่ายๆ ว่าการชักชวนหรือโน้มน้าว โดยผู้ที่เป็น Servant Leader จะต้องมีความสามารถในการโน้มน้าวบุคคลต่างๆ มากกว่าการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการสั่งการโดยตรง ผู้นำเหล่านี้จะทำให้ผู้อื่นเชื่อและพร้อมที่จะปฏิบัติตามได้มากกว่าการบังคับให้ผู้อื่นทำตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ ความแตกต่างระหว่างความสามารถในการโน้มน้าวกับการสั่งการเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างผู้นำที่ชอบสั่งการแบบดั้งเดิมกับผู้นำที่เป็น Servant Leadership ผู้นำประเภทหลังจะสร้างความเห็นร่วมกันในกลุ่ม
- Conceptualization หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสามารถในการมองในภาพรวม ซึ่งผู้นำที่เป็น Servant Leader จะต้องไม่ได้แค่คิดในงานประจำวันเท่านั้น แต่จะต้องสามารถคิดได้ไกลกว่าและกว้างกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำเหล่านี้จะต้องทิ้งงานประจำและมุ่งที่งานในภาพกว้างเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ที่เป็น Servant Leader จะต้องมีความสามารถในการสร้างความสมดุลระหว่างทั้งการมองในภาพรวมและงานประจำในแต่ละวัน
- Foresight หรือการมองไปในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับ Conceptualization แต่เป็นการมองเห็นในผลลัพธ์หรือในสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จริงๆ แล้ว Foresight อาจจะคล้ายๆ กับการมองไปในอนาคต แต่ Foresight เป็นลักษณะสำคัญของ Servant Leader ที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แนวคิดของ Foresight ค่อนข้างขึ้นอยู่กับสัญชาติญาณของผู้นำพอสมควร
- Commitment to the growth of people หรือความมุ่งมั่นและทุ่มเทต่อการเติบโตของผู้อื่น โดยผู้นำที่เป็น Servant Leaders มีความเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนมีคุณค่าภายในที่สำคัญอื่นๆ อยู่อีกมากนอกเหนือจากสิ่งที่เรามองเห็นจากภายนอก ดังนั้น Servant Leader เองถึงได้มีความทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงานทุกอย่างเพื่อการพัฒนาบุคลากรทุกคน การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรนั้นครอบคลุมตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณสำหรับการอบรมและพัฒนา การให้ความสนใจและใส่ใจต่อความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ละคน การให้บุคลากรได้มีโอกาสและส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เป็นอย่างไรบ้างครับหลักการของ Servant Leadership ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะคิดว่าคุณลักษณะข้างต้นเป็นสิ่งทั่วๆ ไปที่ผู้นำทุกคนควรที่จะมีอยู่แล้ว แต่อย่าลืมนะครับหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของ Servant Leadership ก็คือบุคคลผู้นั้นจะต้องมีความรู้สึกหรือต้องการที่จะตอบสนองและรับใช้ต่อบุคคลอื่นก่อน ประเด็นนี้แหละครับที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ Servant Leadership ท่านผู้อ่านอย่าลืมกลับไปสำรวจผู้นำในองค์กรท่านนะครับว่าเป็น Servant Leader หรือไม่?