8 May 2004
สัปดาห์นี้เรายังต่อจากสัปดาห์ที่แล้วในเรื่องของคุณค่าและความสำคัญของพนักงาน(Employee Recognition) นะครับ ผมได้ย้ำมาตลอดถึงความสำคัญที่ผู้บริหารจะแสดงออกถึงคุณค่าและความสำคัญของพนักงานและสัปดาห์ที่แล้วเราก็ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกถึงคุณค่าของพนักงาน (Employee Recognition) กับการจูงใจพนักงาน ในสัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อนะครับว่าเราจะสามารถแฝงการแสดงออกถึงคุณค่าและความสำคัญของพนักงานไว้ในการทำงานประจำได้อย่างไร เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้มีแนวทางในการนำกลับไปใช้ในองค์กรของท่านเอง เพื่อสุดท้ายแล้วย่อมจะนำไปสู่ขวัญ กำลังใจ และความทุ่มเทในการทำงานของพนักงานในองค์กรท่าน
แนวทางหนึ่งในการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและความสำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทราบถึงทิศทางและเป้าหมายหลักขององค์กร และแสดงให้พนักงานเห็นว่าสิ่งที่พนักงานทำนั้นช่วยนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายหลักขององค์กรได้อย่างไร จริงๆ แล้วตรงนี้ดูเหมือนจะทำได้ง่ายนะครับ แต่เท่าที่เจอในหลายๆ องค์กรกลับไม่ได้มีการปฏิบัติเท่าไร ท่านผู้อ่านลองนึกถึงองค์กรของท่านดูนะครับ ผมจะขอถามคำถามง่ายๆ สองข้อ ข้อแรกท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าเป้าหมายสูงสุดหรือทิศทางหลักขององค์กรท่านคืออะไร? ถ้าท่านตอบว่าทราบ ข้อที่สอง ท่านผู้อ่านทราบต่อไปไหมครับว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่ทุกวันนี้จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างไร? ถ้าท่านผู้อ่านไม่สามารถตอบคำถามทั้งสองข้อได้ก็แสดงว่างานที่ท่านผู้อ่านทำอยู่ทุกวันนี้เป็นงานที่ทำไปเรื่อยๆ หรือทำไปวันๆ โดยไม่รู้เลยว่าผลของงานที่ท่านทำอยู่ จะช่วยองค์กรของท่านได้อย่างไร เราทราบกันมานานแล้วนะครับว่าการทำงานที่มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจูงใจพนักงานในองค์กร และยิ่งถ้าพนักงานทราบว่าสิ่งที่เราทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้อย่างไรก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้พนักงานเกิดความรู้สึกภูมิใจ มีคุณค่าและความสำคัญต่อองค์กรมากขึ้นไปด้วย พนักงานจะเกิดความรู้สึกทันทีว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และจะยิ่งทุ่มเทและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำมากขึ้น เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารทุกท่านลองกลับไปถามพนักงานของท่านดูนะครับว่าพวกเขาทราบคำตอบสำหรับทั้งสองคำถามข้างต้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารแล้วครับ ที่จะสื่อและทำให้พนักงานสามารถตอบคำถามทั้งสองคำถามได้
นอกจากนั้นถ้าพนักงานรู้และเชื่อว่าสิ่งที่องค์กรทำอยู่นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือบุคคลอื่นๆ ก็ยิ่งจะทำให้พวกเขารู้สึกมีค่ามากขึ้นเท่านั้น อ่านดูตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นเชิงอุดมคติชอบกลนะครับ แต่ถ้าท่านผู้อ่านมองไปรอบๆ ตัวท่าน เราจะพบความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ผมได้มีโอกาสเจอข้าราชการบางท่านที่มีความรู้ ความสามารถ แต่แทนที่จะออกไปทำงานเอกชนกลับมารับราชการและได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเอกชนจนเทียบไม่ติด หรือครูหลายท่านที่ยอมที่จะรับเงินเดือนที่น้อยและเป็นหนี้เป็นสินมาก แต่ชอบที่จะสอนหนังสือและถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ ถามว่าทำไมบุคคลเหล่านี้ถึงยอมสละโอกาสและรายได้จำนวนมาก เพื่อมาทำงานเหล่านี้ครับ? ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบุคคลเหล่านี้เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน และเด็กนักเรียน บุคคลเหล่านี้เขาจะมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำมาก จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ พอถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเถียงผมในใจก็ได้นะครับว่านั้นเป็นตัวอย่างของข้าราชการ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับบริษัทเอกชน เนื่องจากบริษัทเอกชนทุกแห่งก็ต้องการกำไรเป็นสิ่งสุดท้าย
จริงๆ แล้วตอนนี้ผมเริ่มเห็นตัวอย่างของบริษัทจำนวนมากแล้วครับที่พยายามปลูกฝังและสื่อสารให้พนักงานของพวกเขาเห็นว่าสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่นั้นไม่ได้มุ่งไปที่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลอื่นด้วย บริษัทชั้นนำของโลกที่ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับด้านการรักษาพยาบาลอย่าง Metronics ได้ตอกย้ำให้พนักงานของบริษัทเห็นอยู่ตลอดเวลาว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นสามารถทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นได้เพียงใด ที่บริษัทนี้จะมีการเชิญผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาพูดให้พนักงานฟังเป็นประจำว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร เรียกได้ว่าเป็นการพูดปลุกใจและตอกย้ำให้พนักงานเห็นว่าบริษัทไม่ได้มุ่งเอากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชีวิตของคนอื่น พนักงานเองก็มีความภูมิใจที่จะทำงานให้กับบริษัท เนื่องจากมองเห็นว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นจะทำให้ชีวิตของคนอื่นทั่วโลกดีขึ้นเพียงใด และพนักงานเองมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและความสำคัญ ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็อาจจะเถียงผมได้ต่อนะครับว่าบริษัทที่ยกตัวอย่างเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิตคนอยู่แล้วก็สามารถแสดงได้ง่าย แต่จริงๆ ผมเชื่อว่าถ้าท่านผู้อ่านมองดูดีๆ ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะหาตัวอย่างได้จากทุกอุตสาหกรรมครับ แค่คิดง่ายๆ ว่าสินค้าและบริการของบริษัทท่านจะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ และมีความสุขเพียงใด แค่นั้นผมก็เชื่อว่าจะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานแล้วครับ
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น นายหน้าขายบ้าน ถ้าเรามองในแง่ร้ายก็อาจจะมองได้ว่านายหน้าขายบ้านจ้องแต่ที่จะเอากำไรให้ได้ แต่จริงๆ แล้วเราสามารถที่จะมองได้ว่านายหน้าขายบ้านเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ฝันของหลายๆ คน หลายๆ ครอบครัวเป็นจริง แค่คิดว่างานที่ทำอยู่เป็นงานที่ช่วยทำให้ฝันของคนเป็นจริง ผมก็เชื่อว่าจะทำให้ท่านเกิดความรู้สึกภูมิใจและเห็นว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นมีคุณค่าเพียงใดแล้วครับ ดังนั้นผมเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารในทุกองค์กรเลยครับที่จะทำให้พนักงานของตนเองเกิดความรู้สึกภูมิใจและมีค่า โดยพยายามที่จะสื่อและตอกย้ำให้ทุกคนเห็นตลอดเวลาเลยว่าสินค้าและบริการของบริษัทนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลอื่นอย่างไร ถ้าพนักงานเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาเมื่อใด พวกเขาก็จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและพร้อมที่จะทุ่มเททำงานมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้บริษัทมีกำไรนะครับ แต่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลอื่น จริงๆ แล้วมีคำถามง่ายหนึ่งคำถามที่จะใช้ตรวจสอบได้ว่าพนักงานท่านเกิดความรู้สึกที่ว่าหรือยัง ท่านลองถามลูกน้องหรือตัวท่านเองซิครับว่า “ท่านภูมิใจที่จะบอกต่อผู้อื่นว่า ท่านทำงานที่บริษัท…… หรือไม่?” ถ้าคำตอบที่ได้รับคือยังไม่เกิดความรู้สึกภูมิใจขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารจะต้องลงมาดูอย่างใกล้ชิดแล้วครับ
นอกเหนือจากประเด็นข้างต้นแล้ว อีกแนวทางง่ายๆ ในการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและความสำคัญก็คือการได้รับความไว้วางใจครับ จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเลยครับ โดยปกติคนทุกคนต้องการที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่นอยู่แล้ว ถ้าเราได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารในการทำงาน หรือในการเข้าถึงข้อมูล หรือในการตัดสินใจ เราก็ย่อมที่จะเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีค่าและความสำคัญ อย่างไรก็ดีท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่าความไว้วางใจก็ย่อมจะต้องคู่กับมาตรฐานในการทำงานที่สูง และระบบในการประเมินผลที่เชื่อถือได้เช่นกัน
อีกสองเรื่องที่เรามักจะละเลยแต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของพนักงานเพียงไรก็คือเรื่องของผลตอบแทน (รวมเงินเดือน โบนัส สวัสดิการต่างๆ ด้วยครับ) และเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน จริงๆ แล้วการมีทั้งสองปัจจัยข้างต้นไม่ได้ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีค่าและความสำคัญหรอกนะครับ แต่การขาดทั้งสองอย่างจะเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าและความสำคัญสำหรับบริษัท ลองนึกดูนะครับว่าถ้าผลตอบแทนที่ท่านได้รับน้อยกว่าบุคคลอื่นในระดับเดียวกัน ที่มีความสามารถเท่ากัน ท่านก็จะรู้สึกมาเองโดยอัตโนมัติว่าบริษัทไม่เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของท่าน หรือในเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงานก็เช่นเดียวกัน พนักงานจะไม่รู้สึกหรอกครับ จนกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานต่ำกว่ามาตรฐานหรือที่ควรจะเป็น ตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นพวกอุปกรณ์สำนักงาน ถ้าท่านเป็นอาจารย์หรือครูสอนหนังสือ และท่านจะต้องออกเงินเองเพื่อซื้อแผ่นใสและปากกาเขียนแผ่นใส ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงจะรู้สึกแล้วนะครับว่าองค์กรไม่ได้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการสอนหนังสือของท่านแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นในเรื่องของผลตอบแทนและสภาพแวดล้อมในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่อาจจะละเลยได้นะครับ
ก่อนจบผมขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ