28 January 2004
ท่านผู้อ่านเคยเจอภาวะที่ลูกน้องเป็นพิษบ้างไหมครับ หรือตัวท่านเองเป็นลูกน้องที่เป็นพิษต่อเจ้านายหรือไม่? เมื่อเรานึกถึงลูกน้องที่เป็นพิษ เรามักจะนึกถึงแต่ลูกน้องที่ประสงค์ร้ายหรือเจตนาร้ายต่อผู้ที่เป็นเจ้านาย แต่จริงๆ แล้วลูกน้องที่มีเจตนา ความมุ่งหวังที่ดี มีความสามารถ รวมทั้งยังมีความภักดีต่อเจ้านาย ก็สามารถเป็นลูกน้องที่เป็นพิษได้เช่นกัน รวมทั้งลูกน้องที่ชอบเอาใจ แสดงความปราถนาดีต่อเจ้านายก็สามารถเป็นพิษได้เช่นกัน แนวคิดเกี่ยวกับภาวะที่ลูกน้องเป็นพิษนั้น ผมนำมาจากบทความของ Lynn R. Offermann ชื่อWhen Followers Become Toxic ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้เขียนบทความดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาให้กับ CEO ในหลายๆ บริษัทแล้วก็นำประสบการณ์จากที่เห็นผู้บริหารสูงสุดจำนวนมากที่ต้องประสบกับปัญหาหรือความล้มเหลว เนื่องจากบรรดาเหล่าลูกน้องที่เป็นพิษทั้งหลาย มานำเสนอผ่านทางบทความดังกล่าว
ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับในหลายๆ สถานการณ์ที่ผู้นำจำนวนมากที่สุดท้ายแล้วจะต้องตัดสินใจที่ไม่เข้าท่า เนื่องจากคำแนะนำและแรงสนับสนุนจากเหล่าลูกน้อง และลูกน้องเหล่านี้ก็ไม่ใช่ลูกน้องที่ไม่มีความสามารถนะครับ แต่เป็นลูกน้องที่มีความรู้ ความสามารถ มีความตั้งใจที่ดี และปราถนาดีต่อผู้ที่เป็นเจ้านาย เหตุการณ์ดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับผู้นำที่มีลูกน้องที่มีความสามารถ และเป็นผู้นำที่ชอบที่มอบอำนาจหรือให้ความไว้วางใจให้กับลูกน้อง อ่านดูแล้วก็เกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าทำไมตามหลักการบริหารที่ดีแล้วเราจะต้องหาลูกน้องที่มีความสามารถมาไว้รอบๆ ตัว และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการมอบหมายอำนาจและไว้วางใจต่อลูกน้องเหล่านั้น แต่ทำไมการกระทำดังกล่าวกลับทำให้ผู้บริหารมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด? สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากโดยธรรมชาติของคนเราแล้ว (รวมทั้งตัวผู้นำด้วย) ชอบหรืออยากที่จะลงรอยกับผู้ที่อยู่รอบๆ ข้างมากกว่าการแสดงความขัดแย้ง และถ้าบุคคลรอบๆ ข้างเราทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันหรือร่วมกันแล้ว ย่อมทำให้ความต้องการที่จะลงรอยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรบางแห่งที่การเสียหน้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เราก็มักจะต้องแสดงความเห็นเหมือนกับเสียงส่วนใหญ่อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้หลักของ Social Proof ซึ่งเป็นการคิดหรือทำตามสิ่งที่ผู้อื่นได้คิดหรือทำไว้แล้ว โอกาสถูกมีมากกว่าผิด ทำให้การตัดสินใจส่วนมากของเรามักจะโอนเอียงไปตามเสียงส่วนใหญ่
จากธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ข้างต้น เมื่อผู้นำจะต้องตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญ และเผชิญกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจากลูกน้องที่อยู่รอบๆ ทุกคน ผู้ที่เป็นผู้นำก็คงจะต้องเริ่มตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ตัวเองจะตัดสินใจไป ผู้นำจะเริ่มคิดแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองจะตัดสินใจไปนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่เห็นไปคนละทาง อย่างไรก็ดีผู้นำเองก็ต้องคำนึงไว้ด้วยนะครับว่าในการตัดสินใจจริงๆ นั้นไม่ได้หมายความว่าเสียงส่วนใหญ่จะถูกต้องเสมอไป ผู้นำเองถูกจ้างให้มาเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะฉะนั้นผู้นำเองอาจจะต้องปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่และตัดสินใจตามสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง อย่างไรก็ดีถ้าจะเลือกที่จะขัดกับเสียงส่วนใหญ่ ผู้นำเองก็ต้องระวังไว้ด้วยนะครับว่าอาจจะทำให้ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของลูกน้องลดลง และถ้าขัดกับเสียงส่วนใหญ่บ่อยๆ อาจจะทำให้ลูกน้องหมดกำลังใจในการทำงานและเสนอความคิดเห็นก็ได้ บางครั้งผู้นำอาจจะต้องเลือกที่จะจูงใจหรือสร้างแนวร่วมในหมู่ลูกน้อง และยอมที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ผิดก็ได้
ลักษณะของลูกน้องที่เป็นพิษข้างต้นคือกลุ่มลูกน้องที่มีความสามารถ ทุ่มเทและมุ่งมั่น เพียงแต่อาจจะเป็นพิษต่อผู้นำได้ถ้าผู้นำมัวแต่ยึดหลักเสียงส่วนใหญ่ แต่จะมีลูกน้องที่เป็นพิษอีกกลุ่ม คือพวกลูกน้องที่ชอบประจบประแจง จริงๆ แล้วคำว่าประจบประแจงอาจจะรุนแรงไปหน่อยนะครับ ตามธรรมชาติของคนเราแล้ว เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กมาเลยว่าการที่จะทำให้คนอื่นชอบหรือรักเรานั้น จะต้องเริ่มจากการแสดงออกมาก่อนว่าเราเองก็ชอบหรือรักอีกฝ่ายหนึ่ง และการเยินยอ คำชม การแสดงความหวังดี ปราถนาดี ก็เป็นวิธีการพื้นฐานที่เราใช้แสดงออกมาเพื่อให้ผู้อื่นรักและชอบเรา คนที่เป็นผู้นำก็เหมือนกัน ที่ชอบหรือหวังดี ต่อผู้ที่ชอบหรือหวังดีกับตนเองก่อน มีงานวิจัยที่แสดงออกมาด้วยซ้ำไปว่าการแสดงประจบประแจง หรือการนำตัวเองไปสู่ความโปรดปรานของผู้ที่เป็นผู้นำจะทำให้พนักงานได้รับการประเมินผลที่ดีกว่าปกติถึงร้อยละ 5 อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงไม่แปลกนะครับว่าทำไม การยกยอ ประจบ ปากหวาน ชอบมีของมาฝากเจ้านาย พยายามทำให้ตนเองเป็นคนโปรดของเจ้านาย ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่มักจะพบเจอในสังคมทั่วๆ ไป
ผู้นำที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการประจบประแจง การยกยอ ได้ง่ายมักจะเป็นผู้นำที่คิดถึงแต่ตนเองเป็นหลัก ผู้นำเหล่านี้อาจจะมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด แทนที่จะทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกค้าหรือองค์กรเป็นหลัก กลับทำในสิ่งที่นำไปสู่ประโยชน์ส่วนตนหรือของพรรคพวกที่ชอบแสดงความปราถนาดีต่อผู้นำ ปัญหาที่สำคัญของผู้นำประเภทนี้ก็คือ ผู้นำเหล่านี้มักจะชอบฟังในสิ่งที่ดีๆ และมักจะปิดกั้นตนเองจากข่าวร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดีกับตนเอง ผู้ที่เป็นลูกน้องเองก็ไม่อยากจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่ส่งข่าวร้ายให้กับเจ้านาย เนื่องจากกลัวเจ้านายจะไม่รักหรือชอบ ถ้าเป็นข่าวหรือสิ่งดีๆ ก็มักจะแย่งกันรายงานเจ้านาย แต่พอถึงข่าวร้ายทีไรก็มักจะเกี่ยงกันตลอด ดังนั้นยิ่งเหล่าลูกน้องยกยอและประจบประแจงผู้ที่เป็นผู้นำมากเท่าใด ลูกน้องเหล่านี้จะเป็นลูกน้องที่เป็นพิษ และในระยะยาวแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร อย่างไรก็ดีจะโทษคนที่เป็นลูกน้องก็คงลำบากนะครับ เนื่องจากถ้าใครไม่แสดงความปราถนาดีต่อเจ้านายหรือไม่ทำตัวให้กลมกลืนกับผู้อื่นแล้ว บุคคลผู้นั้นก็มักจะถูกมองทั้งจากเจ้านายและเหล่าเพื่อนร่วมงานว่าเป็นแกะดำ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงเจ้านายบางท่านที่ชอบของกำนัลนะครับ ไม่ว่าใครไปเที่ยวไหนหรือไปทำอะไรต้องมีของติดไม้ติดมือมาฝากเจ้านายเสมอ ทำให้ติดเป็นนิสัยทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าใครไม่ทำตามก็จะเป็นเหมือนแกะดำในกลุ่ม ไม่เป็นที่เอ็นดูหรือโปรดปรานของเจ้านาย
อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นนะครับภาวะที่ลูกน้องเป็นพิษนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวลูกน้องฝ่ายเดียว ตัวผู้นำเองก็จะต้องเป็นผู้ที่เริ่มทำตัวให้เหมาะสมก่อน เพื่อนผมที่เป็นทั้งจิตแพทย์และนักบริหาร แนะนำผมว่าเวลาเราตัดสินใจอะไรไป และผู้ที่อยู่รอบตัวเราแสดงความเห็นด้วยในทันที ให้ถามบุคคลผู้นั้นกลับไปทันทีเลยครับว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาเห็นด้วย ถ้าเขาไม่สามารถตอบได้ทันทีหรือยกเหตุผลที่เหมาะสมมาชี้แจง ก็มั่นใจได้เลยครับว่าการแสดงความเห็นด้วยของลูกน้องท่านนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการที่จะแสดงความปราถนาดีต่อตัวท่านมากกว่าเห็นด้วยอย่างแท้จริงกับสิ่งที่ท่านตัดสินใจลงไป หรือตัววัดอย่างง่ายๆ ว่าผู้นำได้รับความคิดเห็นที่แท้จริงจากลูกน้องมากน้อยเพียงใด ก็คือในการประชุมครั้งต่อไปท่านผู้อ่านที่เป็นผู้นำลองนับจำนวนของบุคลากรที่ท้าทายหรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับท่านในการประชุมดูซิครับ ถ้าออกมาแล้วทุกคนเห็นด้วยหมดในลักษณะของ “ลูกขุนพลอยพยัก” ท่านก็แน่ใจได้นะครับว่าท่านอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะของลูกน้องเป็นพิษ แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าวัฒนธรรมหรือค่านิยมในการทำงานที่ไม่ส่งเสริมแล้วคงยากนะครับที่จะหาลูกน้องที่กล้าแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้านายกลางที่ประชุม
มีการแนะนำอีกนะครับว่าผู้นำอาจจะต้องหันกลับมาพึ่งเพื่อนร่วมงานที่สนิทสนมกันมาก หรือสมาชิกของครอบครัวที่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นที่เป็นจริงกับตัวผู้นำ ผู้นำหลายท่านมักจะมาขอคำปรึกษาหรือความคิดเห็นจากภรรยาที่บ้าน ซึ่งค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่เป็นจริง เนื่องจากไม่มีค่อยมีเหตุการณ์ที่ภรรยาเราอยากจะประจบหรือเอาใจผู้ที่เป็นสามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นผู้นำแล้ว ก็มักจะผ่านการแต่งงานมาแล้วหลายปีจนเลยช่วงที่ภรรยาจะต้องประจบเอาใจสามีอีก (ส่วนใหญ่มักจะเป็นในทางกลับกันนะครับ) ผมเองเห็นมาหลายครั้งแล้วเหมือนกันครับว่าภรรยาจะทำหน้าที่เป็นผู้คอยดึงสามีให้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงและติดดินมากขึ้น
ท่านผู้อ่านลองกลับไปสำรวจองค์กรของท่านดูนะครับว่ามีภาวะที่ลูกน้องเป็นพิษเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ก็ต้องอย่าลืมนะครับว่าลูกน้องที่เป็นพิษนั้นอาจจะเกิดจากกลุ่มลูกน้องที่มีคุณภาพแต่เป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือเกิดจากลูกน้องพวกที่ชอบประจบประแจงเจ้านายก็เป็นได้ และที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าภาวะลูกน้องเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็มักจะเริ่มต้นจากตัวเจ้านายก่อนเสมอ